คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 415/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกับพวกลักทรัพย์ของโจทก์ไปจำหน่ายและจำนำ และจำเลยที่ 2 นำเงินที่ได้จากการนี้บางส่วนไปฝากธนาคารต่อมาจำเลยที่ 2 ถอนเงินจำนวน 100,000 บาท และ 64,721.25 บาทมาให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 นำไปฝากธนาคารในนามจำเลยที่ 3 ที่ 4ตามลำดับ แล้วจำเลยที่ 4 มอบเงินที่รับมาให้จำเลยที่ 3 ไปอีก50,000 บาท แต่จำเลยที่ 3 ที่ 4 รับเงินจำนวนดังกล่าวไว้โดยไม่รู้ว่า จำเลยที่ 2 ได้มาจากการขายทรัพย์ของโจทก์ที่ถูกลักไปและเงินจำนวนนั้นก็ไม่ใช่ทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดการที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 รับเงินจำนวนดังกล่าวไว้ จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ และแม้เป็นเงินที่ได้มาจากการขายทรัพย์สินของโจทก์ที่ถูกลักไป ก็จะถือว่าเป็นเงินของโจทก์มิได้เพราะมิใช่ตัวทรัพย์ของโจทก์ที่ถูกลักไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากจำเลยที่ 3 ที่ 4

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวกอีก 4 คน ได้ร่วมกันลักเอาทรัพย์ของโจทก์ไป 60 รายการ รวมราคาทั้งสิ้น 958,000 บาทต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้และติดตามยึดทรัพย์บางส่วนของโจทก์ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจรคืนมาได้ 36 รายการ ราคา 190,500 บาท จำเลยที่ 1รับว่าได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ลักทรัพย์ของโจทก์ไปจริง พนักงานสอบสวนจึงคืนทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่โจทก์ ส่วนทรัพย์รายการอื่นซึ่งติดตามยึดคืนมาไม่ได้ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้จำหน่ายและจำนำทรัพย์ดังกล่าวไปแล้ว และจำเลยที่ 2 นำเงินสดที่ได้จากการจำหน่ายและจำนำทรัพย์เหล่านั้นบางส่วนไปฝากไว้ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาบางกะปิ ในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 โดยมียอดเงินคงเหลือในบัญชี 206,000 บาท จำเลยที่ 2 ยินยอมจะถอนเงินจากบัญชีมาคืนให้โจทก์จำนวน 190,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้ถอนเงินจากบัญชี190,000 บาท แต่ไม่นำมาคืนให้โจทก์ กลับมอบเงินบางส่วนจำนวน100,000 บาท ให้จำเลยที่ 3 นำไปฝากไว้ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาอินทามระ ในบัญชีชื่อของจำเลยที่ 3 แล้วจำเลยที่ 3นำสมุดบัญชีฝากเงินนั้นมายื่นเป็นหลักประกันในการประกันตัวจำเลยที่ 2 ต่อพนักงานสอบสวน กับมอบเงินให้จำเลยที่ 4 จำนวน64,121.25 บาท แล้วจำเลยที่ 4 มอบเงิน 50,000 บาท ให้จำเลยที่ 3 นำไปฝากไว้ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาอินทามระในบัญชีชื่อของจำเลยที่ 3 อีกบัญชีหนึ่ง จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ทราบดีว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินที่ได้มาจากการจำหน่ายและจำนำทรัพย์สินของโจทก์ที่ถูกโจรกรรมและโจทก์มีสิทธิเรียกคืนได้แต่ร่วมกันยักย้ายทรัพย์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ติดใจให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้เงินให้โจทก์เพียง 200,000 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้เงิน 200,000 บาท คืนแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ให้การว่า เงินฝากในบัญชีของจำเลยที่ 2ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาบางกะปิ เป็นเงินที่จำเลยที่ 2ทำมาหาได้โดยสุจริต จำเลยที่ 3 ขอประกันจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ขอร้อง หลักประกันที่นำไปยื่นเป็นบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 3 เอง จำเลยที่ 3 ไม่เคยรับเงินจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมชดใช้เงินคืนให้แก่โจทก์ 200,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 3 และที่ 4ร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ต่อโจทก์ ในจำนวนเงิน 150,000บาท และ 14,121.25 บาท ตามลำดับ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 2ที่ 3 ที่ 4 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ที่ 4 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาเฉพาะจำเลยที่ 3 ที่ 4ว่ากระทำละเมิดต่อโจทก์ และต้องชดใช้เงินที่รับไว้จากจำเลยที่ 2คืนโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ลักทรัพย์สินในบ้านของโจทก์แล้วร่วมกันจำหน่ายได้เงินสดนำฝากธนาคาร ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้ถอนเงินบางส่วนมอบให้จำเลยที่ 3 ฝากธนาคาร และบางส่วนมอบให้จำเลยที่ 4แล้วจำเลยที่ 4 มอบเงินบางส่วนให้จำเลยที่ 3 ฝากธนาคาร แล้วนำบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 3 ไปเป็นหลักทรัพย์ในการประกันตัวจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 ที่ 4 ทราบดีว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินที่ได้มาจากการขายทรัพย์สินของโจทก์ ทั้งโจทก์และร้อยตำรวจเอกธีรพงษ์ เรืองสอน พยานโจทก์ ก็ได้เบิกความไว้แล้วว่าจำเลยที่ 3ที่ 4 ต่างทราบว่าเงินซึ่งจำเลยที่ 2 ถอนมาเปิดบัญชีในนามจำเลยที่ 3 ได้มาจากการขายทรัพย์สินของโจทก์ที่ถูกลักไป เนื่องจากมีเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อจับจำเลยที่ 1 ที่ 2ได้แล้ว ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2528 จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้พาโจทก์ สามีโจทก์ กับพวก ไปที่แฟลต พี.เอส.เฮ้าส์ ซึ่งจำเลยที่ 2เช่าพักอาศัยอยู่ พบทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายได้คืนเอกสารหมาย จ.2 ต่อมาจำเลยทั้งสี่เจรจาขอชดใช้ราคาทรัพย์ให้โจทก์โดยจะนำเงินจำนวน 190,000 บาท ในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาบางกะปิ ตามสำเนาภาพถ่ายสมุดคู่ฝากเอกสารหมาย จ.3 ไปไถ่ทรัพย์สินของโจทก์ซึ่งจำนำไว้ โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 รับว่าเงินฝากจำนวน 206,000 บาทในสมุดคู่ฝากดังกล่าวได้มาจากการที่นำทรัพย์สินของโจทก์ซึ่งถูกลักไปจำหน่าย และได้ความจากร้อยตำรวจเอกธีรพงษ์ เรืองสอนพยานโจทก์ว่าต่อมาจำเลยที่ 2 ได้ถอนเงินจำนวน 190,000 บาทจากธนาคารเงินส่วนหนึ่งได้นำไปไถ่ถอนทรัพย์สินของโจทก์ที่จำเลยที่ 2 นำไปจำนำไว้คืนมา เห็นว่า โจทก์มีภาระการพิสูจน์ตามข้อหาในฟ้องว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 กระทำละเมิดต่อโจทก์และต้องชดใช้เงินคืนโจทก์ แต่ทางพิจารณาไม่ปรากฏจากคำเบิกความของโจทก์และพยานโจทก์ว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 ร่วมกันรับเงินจากจำเลยที่ 2 โดยทราบว่าเป็นเงินที่ได้จากการจำหน่ายทรัพย์สินของโจทก์ที่ถูกลักไปดังที่โจทก์อ้างในคำฟ้องแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงคงฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 3 ที่ 4 เคยร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 เจรจาขอชดใช้ราคาทรัพย์สินให้โจทก์โดยจะนำเงินจำนวน 190,000 บาท จากสมุดคู่ฝากเอกสารหมาย จ.3 ของจำเลยที่ 2 ไปไถ่ทรัพย์สินของโจทก์ที่นำไปจำนำและมอบเงินที่เหลือคืนให้โจทก์ แต่จำเลยที่ 2กลับมอบเงินที่ถอนจำนวน 100,000 บาท และ 64,721.25 บาท ให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 นำไปฝากธนาคารในนามของจำเลยที่ 3 ที่ 4 ตามลำดับแล้วจำเลยที่ 4 มอบเงินที่รับมาให้จำเลยที่ 3 ไปอีก 50,000 บาทเท่านั้น จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 รับเงินจำนวนดังกล่าวไว้โดยรู้ว่าจำเลยที่ 2 ได้มาจากการขายทรัพย์สินของโจทก์ที่ถูกลักไปนอกจากนี้เงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินของโจทก์ดังกล่าวก็ไม่ใช่ทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดแต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 3ที่ 4 รับมอบเงินจำนวนดังกล่าวไว้ จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์เป็นเจ้าของเงินที่จำเลยที่ 2 มอบให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 โจทก์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวได้จากจำเลยที่ 3 ที่ 4 นั้น เห็นว่า แม้เงินจำนวนดังกล่าวได้มาจากการขายทรัพย์สินของโจทก์ที่ถูกลักไป ก็จะถือว่าเป็นเงินของโจทก์มิได้เพราะมิใช่ตัวทรัพย์ของโจทก์ที่ถูกลักไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากจำเลยที่ 3 ที่ 4”
พิพากษายืน

Share