แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์แสดงคุณวุฒิขณะสมัครเข้าทำงานอันเป็นเท็จ ย่อมเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลอันสมควร กรณีมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙ เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๒๑ โจทก์และพนักงานของจำเลยได้ร่วมกันลงชื่อเรียกร้องไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติงานในหน้าที่บริหารงานของสถาบัน ซึ่งบริหารงานไม่ชอบและไม่ถูกต้อง เป็นเหตุให้โจทก์ถูกจำเลยตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นผู้ยุยงพนักงานให้มีการร้องเรียนดังกล่าว ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ จำเลยได้สั่งย้ายโจทก์จากตำแหน่งหัวหน้าแผนกคลังพัสดุไปเป็นประจำกองคลัง เป็นการลดตำแหน่งโจทก์ ต่อมาเมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๒๓ (น่าจะเป็น พ.ศ. ๒๕๒๔) จำเลยได้มีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานโดยอ้างเหตุว่า ในขณะสมัครงานโจทก์แสดงหรือแจ้งวุฒิและคุณสมบัติอันเป็นเท็จ ซึ่งไม่เป็นความจริง จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานโดยการให้สัมภาษณ์ จำเลยไม่เคยตรวจสอบหรือขอดูใบแสดงคุณสมบัติหรือคุณวุฒิของโจทก์การกระทำของจำเลยเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายในเงินเดือนค้างจ่าย ค่าชดเชย เงินกองทุนสงเคราะห์ สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม รวมเป็นเงิน ๒๑๕,๒๒๗.๗๑ บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินจำนวน ๒๑๕,๒๒๗.๗๑ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๐๘ จำเลยประกาศรับสมัครพนักงานที่มีคุณวุฒิ ม.๘ แผนกวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ทำงานประจำห้องปฏิบัติการ ๑ ตำแหน่ง โจทก์เขียนใบสมัครงานเป็นภาษาอังกฤษถึงจำเลยอ้างว่าโจทก์สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ ๘ และจบการศึกษาชั้นปีที่ ๒ วิทยาศาสตร์การแพทย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต่อมาในเดือนกันยายน ๒๕๐๙ ตำแหน่งผู้ช่วยคลังพัสดุว่าง จำเลยได้มีจดหมายถึงโจทก์ให้นำหลักฐานการทำงานและวุฒิบัตรมาแสดงและทำการสัมภาษณ์ โจทก์ได้ให้สัมภาษณ์กับเจ้าหน้าที่ของจำเลยเป็นภาษาอังกฤษว่า โจทก์สำเร็จมัธยมศึกษาปีที่ ๘ โรงเรียนเทพศิรินทร์ เมื่อ ค.ศ. ๑๙๕๖ สำเร็จปีที่ ๒ แผนกเตรียมแพทย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ ค.ศ. ๑๙๕๘ และหยุดการศึกษาเนื่องจากบิดาเสียชีวิต คณะกรรมการสัมภาษณ์เข้าใจว่าโจทก์มีความรู้ตามที่ให้สัมภาษณ์ จึงรับโจทก์เข้าทำงานให้ค่าจ้างเดือนละ ๑,๒๐๐ บาท ที่รับเข้าทำงานเพราะเห็นว่าโจทก์มีความรู้ตามใบสมัครงานและตามที่ให้สัมภาษณ์ที่กำหนดเงินเดือน ๑,๒๐๐ บาท เพราะเป็นขั้นเงินเดือนสำหรับบรรจุผู้สำเร็จมหาวิทยาลัยปีที่ ๒ และมีประสบการณ์ ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๒๓ จำเลยได้ประกาศใช้แผนภูมิใหม่ได้สอบประวัติการศึกษาของพนักงานเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดระดับพนักงาน จำเลยได้สอบถามไปยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับแจ้งว่าโจทก์ไม่เคยศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์ การที่โจทก์แจ้งว่าสำเร็จการศึกษาดังกล่าวจึงเป็นการทำผิดระเบียบข้อบังคับของจำเลยและเป็นการกระทำความผิดอาญา ถ้าโจทก์แจ้งว่ามิได้สำเร็จการศึกษาดังกล่าว จำเลยจะไม่รับโจทก์เป็นพนักงาน การกระทำของโจทก์ทำให้จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานและกำหนดเงินเดือนสูงกว่าปกติ และที่โจทก์เคยให้ปากคำไว้กับผู้รับสมัครงานของจำเลยว่าสำเร็จ ม.๘ (ม.ศ.๕) แต่ข้อเท็จจริงโจทก์ไม่สำเร็จ ม.๘ ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับจำเลย จำเลยได้ลงโทษให้โจทก์ออกจากงานเมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๒๔ และดำเนินคดีอาญากับโจทก์ ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะเหตุที่โจทก์ร่วมกันลงชื่อร้องเรียนนั้นไม่เป็นความจริงและมิใช่กรณีเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องรับผิดในจำนวนเงินที่โจทก์ฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์แจ้งคุณสมบัติอันเป็นเท็จขณะสมัครงาน ทำให้จำเลยหลงเชื่อรับโจทก์เข้าทำงานในอัตราเงินเดือนที่สูงเกินกว่าคุณวุฒิที่โจทก์จะพึงได้รับและขณะเป็นพนักงานของจำเลย โจทก์ยังยืนยันในคุณสมบัติเท็จนั้นอีก ทำให้ผู้บังคับบัญชาเข้าใจผิดเป็นเหตุให้เลื่อนตำแหน่งโจทก์สูงขึ้น การที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานจึงเป็นกรณีมีเหตุสมควร มิใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการกำหนดอัตราตำแหน่งของเงินเดือนตามตำแหน่งคุณวุฒิเอกสารหมาย ล.๔ ซึ่งทางสถาบันได้รวบรวมระเบียบต่าง ๆ ที่ทางสถาบันได้สั่งไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.๒๕ เป็นระเบียบข้อบังคับที่กำหนดไว้ก่อนที่โจทก์จะได้เข้ามาเป็นพนักงานสถาบันจำเลย ตามระเบียบดังกล่าวผู้ที่จะได้รับเงินเดือนขั้นที่ ๑ อัตราเงินเดือนระหว่าง ๑,๐๐๐ ถึง ๑,๓๐๐ บาท จะต้องจบการศึกษา ม.ศ.๕ และผ่านการศึกษาอบรมอีก ๒ ปี ในชั้นประกาศนียบัตร (ตัวอย่างเช่นได้ประกาศนียบัตรจากมหาวิทยาลัยหรือประกาศนียบัตรทางเคมีปฏิบัติจากกรมวิทยาศาสตร์) หรือเทียบเท่า ซึ่งเป็นตำแหน่งเจ้าหน้าที่รองหรือช่างเทคนิคตามเอกสารหมาย ล.๒๕ โจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยคลังพัสดุเป็นตำแหน่งประเภทช่างเทคนิค ได้รับอัตราเงินเดือนครั้งแรก ๑,๒๐๐ บาท โดยจบการศึกษาเพียงมัธยมปีที่ ๓ และไม่เคยศึกษาที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การเข้ามาเป็นพนักงานในตำแหน่งดังกล่าวจึงไม่ถูกต้องตามอัตราตำแหน่งที่บรรจุ เหตุที่โจทก์เข้ามาได้ก็เนื่องมาจากโจทก์แจ้งหรือกล่าวเท็จเกี่ยวกับคุณวุฒิของโจทก์ ทำให้กรรมการสัมภาษณ์ของสถาบันจำเลยหลงเชื่อ หากจำเลยทราบว่าโจทก์จบการศึกษาเพียงชั้นมัธยมปีที่ ๓ จำเลยจะไม่รับโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยคลังพัสดุดังกล่าว คุณวุฒิระดับชั้นมัธยมปีที่ ๓ นั้น ถ้ารับโจทก์เข้าทำงานตามระเบียบจะให้เงินเดือนเพียงเดือนละ ๗๐๐ ถึง ๗๗๕ บาท และถ้าสำเร็จ ม.ศ.๕ จะให้เดือนละ ๘๒๕ ถึง ๙๗๕ บาท เท่านั้น แสดงว่าการรับสมัครงานถือคุณวุฒิเป็นสำคัญ ต้องมีคุณวุฒิตามที่กำหนดไว้ในอัตราตำแหน่งที่จะบรรจุ นอกจากนั้นเมื่อโจทก์เข้าทำงานแล้ว โจทก์ยังอ้างต่อจำเลยยืนยันว่า โจทก์จบชั้นมัธยมปีที่ ๘ (ม.ศ.๕) และจบการศึกษาชั้นปีที่ ๒ วิทยาศาสตร์การแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนทำให้ผู้บังคับบัญชาของโจทก์เข้าใจผิดในคุณสมบัติ เปลี่ยนประเภทพนักงานของโจทก์ให้สูงขึ้นจากผู้ช่วยคลังพัสดุซึ่งเป็นตำแหน่งเจ้าหน้าที่รอง มาเป็นหัวหน้าแผนกคลังพัสดุ มีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่บริหารทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ฉะนั้นการที่จำเลยทราบข้อเท็จจริงถึงคุณสมบัติของโจทก์และมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานไป จึงเป็นกรณีที่มีเหตุผลอันสมควร มิใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒
พิพากษายืน