แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสองชำระภาษีให้แก่โจทก์แล้ว ต่อมาขอคืนภาษีโดยอ้างว่าชำระไว้เกิน เพราะใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นบริษัท ช. ไม่ถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินที่จำเลยที่ 1 จะต้องเสียภาษี ซึ่งเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองอ้างมูลเหตุตามกฎหมายที่ควรได้รับคืนภาษี และเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์พิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยทั้งสองมีสิทธิได้รับคืนภาษี จึงคืนเงินภาษีให้ เช่นนี้ ย่อมมิใช่การคืนเงินภาษีโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ ที่จะถือว่าเป็นลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 วรรคหนึ่ง ต่อมาโจทก์ตรวจสอบเห็นว่า ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นเป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี จึงแจ้งให้จำเลยทั้งสองคืนเงินภาษีที่ได้รับคืนไปแก่โจทก์ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ยอมคืน จึงเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาเงินค่าภาษีอากรที่มีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 ไม่ใช่การใช้สิทธิเรียกร้องขอคืนลาภมิควรได้ที่มีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 419
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษีให้โจทก์จำนวน 11,657,157.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 10,954,846.71 บาท นับจากวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 2 คืนเงินค่าภาษีให้โจทก์จำนวน 129,389.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 121,594.28 บาท นับจากวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษีอากรให้แก่โจทก์จำนวน 10,954,846.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินค่าภาษีอากรจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 เมษายน 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2552) ต้องไม่เกิน 702,310.73 บาท ให้จำเลยที่ 2 คืนเงินค่าภาษีอากรให้แก่โจทก์จำนวน 121,594.28 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินค่าภาษีอากรจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 เมษายน 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 7,795.37 บาท กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ออกหนังสือชี้ชวนเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทและหุ้นออกใหม่เพื่อรองรับใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น จำนวน 262,400,649 หน่วย โดยเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท จำนวน 209,900,649 หน่วย และเสนอขายให้แก่พนักงานของบริษัทจำนวน 52,500,000 หน่วย และไม่มีการจำหน่ายให้บุคคลทั่วไป โดยใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นนี้บริษัทกำหนดราคาเสนอขายหน่วยละ 0 บาท อัตราการใช้สิทธิ 1 หน่วย มีสิทธิซื้อหุ้นสามัญได้ 1 หุ้น ในราคาการใช้สิทธิซื้อหุ้น 4.50 บาทต่อหน่วย มีอายุ 3 ปี ระยะเวลาการใช้สิทธิ ทุกไตรมาส ภายในเวลาทำการในวันสุดท้ายของเดือน โดยมีการใช้สิทธิครั้งแรกในวันทำการสุดท้ายของเดือนมิถุนายน 2547 และไม่มีข้อจำกัดการโอน จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการและเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทได้รับจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นดังกล่าว 2,500,000 หน่วย บริษัทได้คำนวณภาษี ณ ที่จ่ายและเรียกเก็บจากจำเลยที่ 1 เพื่อนำส่งแก่โจทก์ โดยใช้ราคาเฉลี่ยหุ้นสามัญของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือนเมษายน 2547 เป็นราคา 16.63 บาทต่อหุ้น หักด้วยราคาการที่จะใช้สิทธิซื้อหุ้น 4.50 บาทต่อหุ้น เหลือเป็นราคา 12.13 บาทต่อหุ้น รวมแล้วคิดเป็นเงินได้ 30,325,000 บาท และภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย 9,097,500 บาท ต่อมาบริษัทได้รับการจดทะเบียนใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นนี้เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2547 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ใช้สิทธินำใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด จำเลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90) ประจำปีภาษี 2547 แสดงเงินได้แยกคำนวณกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาโดยระบุว่า จำเลยที่ 1 มีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร ได้แก่ เงินเดือน ค่าจ้าง ตามมาตรา 40 (1) จำนวน 32,860,500 บาท เงินได้จากเบี้ยประชุม ตามมาตรา 40 (2) จำนวน 230,000 บาท รวมเป็นเงินได้ 33,090,500 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 มีเงินได้จากเงินเดือน ค่าจ้าง ตามมาตรา 40 (1) จำนวน 5,013,500 บาท เมื่อคำนวณหักเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตามกฎหมายแล้ว จำเลยที่ 1 มีภาษีต้องชำระ 11,508,965 บาท จำเลยที่ 2 มีภาษีต้องชำระ 1,121,055.71 บาท แต่จำเลยที่ 1 มีภาษีหัก ณ ที่จ่ายหรือเครดิตภาษี 9,571,925 บาท จำเลยที่ 2 มีภาษีหัก ณ ที่จ่ายหรือเครดิตภาษี 1,243,575 บาท จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระภาษี 1,937,040 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 มีภาษีที่ชำระไว้เกิน 122,519.29 บาท เมื่อนำเงินค่าภาษีที่จำเลยที่ 2 ชำระไว้เกินหักกลบลบกับภาษีที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแล้วจึงได้ชำระภาษีเพิ่มเติม 1,814,520.71 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอคืนเงินค่าภาษี (แบบ ค.10) โดยขอคืนเงินภาษีอากรปีภาษี 2547 จำนวน 10,955,595.71 บาท โดยอ้างว่า การหักภาษี ณ ที่จ่ายไม่ถูกต้อง เนื่องจากเงินได้จำนวน 30,325,000 บาท อันเป็นส่วนหนึ่งของเงินได้ตามแบบแสดงรายการดังกล่าวข้างต้นเป็นเงินได้จากใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้ 9,097,500 บาท ซึ่งใบสำคัญแสดงสิทธินี้ขณะที่ยังไม่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงมีมูลค่าเป็น 0 บาท จึงไม่ต้องชำระภาษีและจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอคืนเงินค่าภาษี (แบบ ค.10) ขอคืนเงินภาษีอากร จำนวน 122,519.29 บาท โดยขอคืนภาษีส่วนเกินที่นำไปหักกลบลบภาษีที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระ สรรพากรพื้นที่จังหวัดนนทบุรีพิจารณาแล้ว เห็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นไปซื้อหุ้นสามัญของบริษัท จึงไม่ถือเป็นเงินได้พึงประเมินและเมื่อมีภาษีหัก ณ ที่จ่าย จึงคืนเงินค่าภาษีให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 10,954,846.71 บาท และคืนให้แก่จำเลยที่ 2 จำนวน 121,594.28 บาท แต่ต่อมาโจทก์มีหนังสือแจ้งการยกเลิกหนังสือแจ้งคืนภาษีอากร (ค.37) ถึงจำเลยทั้งสองระบุว่า ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นดังกล่าวสามารถโอนเปลี่ยนมือได้ จึงเป็นทรัพย์ที่มีมูลค่า ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินได้พึงประเมิน โดยใช้ราคาเฉลี่ยของใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นซึ่งเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือนที่ได้รับเป็นราคาหรือค่าอันพึงมีของใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นนั้น เป็นเงินได้ของจำเลยที่ 1 พร้อมกับมีหนังสือแจ้งการสั่งคืนภาษีอากรผิดพลาด แจ้งให้จำเลยทั้งสองคืนเงินค่าภาษีที่ได้รับไปภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2551 แต่ไม่ชำระค่าภาษีคืนให้แก่โจทก์และอุทธรณ์การสั่งคืนเงินภาษีอากรผิดพลาด ครั้นวันที่ 7 พฤษภาคม 2551 โจทก์แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์แก่จำเลยทั้งสองว่า คำสั่งแจ้งการสั่งคืนเงินผิดพลาดและแจ้งการยกเลิกหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีอากรชอบด้วยกฎหมายแล้ว เนื่องจากใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) สามารถโอนเปลี่ยนมือได้ หากบริษัทมีใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญในทำนองเดียวกันจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรณีดังกล่าวถือว่าในวันที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น จำเลยที่ 1 ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยใช้ราคาเฉลี่ยของใบสำคัญแสดงสิทธิที่ที่จะซื้อหุ้นที่เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือนที่ได้รับกรรมสิทธิ์ ซึ่งเป็นราคาหรือค่าอันพึงมีของใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นนั้น เป็นเงินได้ของจำเลยที่ 1 จึงต้องนำไปรวมคำนวณเสียภาษีประจำปีภาษี 2547 และบริษัทมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับจำเลยที่ 2 เป็นภริยาของจำเลยที่ 1 ได้ใช้วิธีหักกลบลบกันทำให้จำเลยที่ 1 ชำระภาษีน้อยลง จึงไม่มีสิทธิได้รับคืน ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์มีหนังสือแจ้งเตือนให้จำเลยทั้งสองชำระค่าภาษีคืนแล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินจากจำเลยทั้งสองนี้เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องให้คืนทรัพย์ฐานลาภมิควรได้ซึ่งขาดอายุความหรือไม่ ปัญหานี้เห็นว่า เมื่อจำเลยทั้งสองชำระภาษีให้แก่โจทก์แล้ว ต่อมาจำเลยทั้งสองขอคืนภาษีโดยอ้างว่าชำระไว้เกินกว่าจำนวนเงินภาษีที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระแก่โจทก์ เพราะการที่จำเลยที่ 1 ได้รับใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ไม่ถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินที่จำเลยที่ 1 จะต้องเสียภาษี ซึ่งเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองอ้างมูลเหตุตามกฎหมายที่จำเลยทั้งสองควรได้รับคืนภาษีและเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์พิจารณาชั้นแรกแล้วเห็นว่าจำเลยทั้งสองมีสิทธิได้รับคืนภาษีดังมูลเหตุซึ่งจำเลยทั้งสองอ้างไว้ในการขอคืนภาษี จึงคืนเงินภาษีให้จำเลยทั้งสอง เช่นนี้ ย่อมมิใช่การคืนเงินภาษีอันเป็นเหตุให้จำเลยทั้งสองได้รับเงินภาษีนั้นคืนโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ ที่จะถือว่าเป็นลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 วรรคหนึ่ง และเมื่อต่อมาโจทก์ตรวจสอบเห็นว่า ข้ออ้างในการขอคืนภาษีของจำเลยทั้งสองดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้องและที่ถูกต้องถือว่าใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นที่จำเลยที่ 1 ได้รับนั้นเป็นเงินได้พึงประเมินที่จำเลยที่ 1 ต้องเสียภาษีเงินได้ จึงแจ้งให้จำเลยทั้งสองคืนเงินภาษีที่ได้รับคืนไปแก่โจทก์ จนในที่สุดเมื่อจำเลยทั้งสองโต้แย้งไม่ยอมคืนเงินภาษีแก่โจทก์ โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ตามมูลเหตุดังกล่าวมานี้ ซึ่งจำเลยทั้งสองก็ให้การปฏิเสธความรับผิดว่าจำเลยทั้งสองไม่ต้องเสียภาษีดังกล่าว จนเป็นคดีมีข้อพิพาทตามข้ออ้างและข้อเถียงของคู่ความในปัญหาเกี่ยวกับการเสียภาษีและการขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อันเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองคืนเงินเพราะเหตุเป็นเงินภาษีที่จำเลยทั้งสองต้องชำระแก่โจทก์ โดยอ้างถึงความเป็นเงินได้พึงประเมินอันต้องเสียภาษีแก่โจทก์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาเงินค่าภาษีอากรจากจำเลยทั้งสองนั่นเอง ย่อมเป็นสิทธิเรียกร้องที่มีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/31 ไม่ใช่การใช้สิทธิเรียกร้องขอคืนลาภมิควรได้ที่มีอายุความ 1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 ตามที่จำเลยทั้งสองยกเป็นอายุความขึ้นให้การต่อสู้แต่อย่างใด ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องตามฟ้องไม่ใช่สิทธิเรียกร้องในมูลลาภมิควรได้และไม่ขาดอายุความจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นและเมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้ว ย่อมไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองที่อุทธรณ์คำสั่งศาลภาษีที่ไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองนำสืบพยานเอกสารเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าโจทก์รู้ว่ามีสิทธิเรียกคืนเมื่อใดและอุทธรณ์ที่อ้างว่า จำเลยทั้งสองสุจริตต้องคืนเงินเฉพาะเท่าที่ยังเหลืออยู่อีกต่อไป เพราะถึงวินิจฉัยให้ก็ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ