แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์และจำเลยที่ 3 ตกลงท้ากันให้ถือเอาผลการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของจำเลยที่ 3 เป็นข้อแพ้ชนะคดีโดยมิได้กำหนดว่าให้หน่วยงานใดเป็นผู้ตรวจพิสูจน์ เมื่อศาลชั้นต้นมีหนังสือให้ส่งเอกสารต่าง ๆ ไปให้กองพิสูจน์หลักฐาน ทำการตรวจพิสูจน์โจทก์และจำเลยที่ 3 มิได้โต้แย้งคัดค้าน เท่ากับโจทก์และจำเลยที่ 3 ตกลงยินยอมให้กองพิสูจน์หลักฐานทำการตรวจพิสูจน์ตามที่โจทก์และจำเลยที่ 3 ท้ากัน อันเป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งของคำท้า ระหว่างรอผลการตรวจพิสูจน์อยู่เป็นเวลานานมาก จำเลยที่ 3 เพียงฝ่ายเดียวยื่นคำแถลงขอให้ศาลชั้นต้นเรียกเอกสารคืนจากกองพิสูจน์หลักฐาน เพื่อส่งไปให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ทำการตรวจพิสูจน์ การที่ศาลชั้นต้นสอบถามผู้รับมอบฉันทะจากทนายโจทก์แล้วไม่คัดค้านและศาลชั้นต้นมีหนังสือเรียกเอกสารคืนจากกองพิสูจน์หลักฐาน เพื่อส่งไปตรวจพิสูจน์ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์นั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากมีการดำเนินกระบวนพิจารณาตามคำท้าแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องนอกเหนือคำท้าและโจทก์มิได้ตกลงยินยอมด้วย จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ตกลงเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของคำท้าเป็นให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์เป็นผู้ตรวจพิสูจน์ เพราะคำท้าของคู่ความนั้นจะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหรือยกเลิกได้ก็โดยคู่ความตกลงกันเท่านั้น จำเลยที่ 3 หาอาจเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหรือยกเลิกคำท้าแต่ฝ่ายเดียวได้ไม่
แม้ผู้รับมอบฉันทะจากทนายโจทก์แถลงไม่คัดค้านคำแถลงของจำเลยที่ 3 ที่จำเลยที่ 3 ขอให้ศาลชั้นต้นเรียกเอกสารคืนจากกองพิสูจน์หลักฐานแล้วส่งไปให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ทำการตรวจพิสูจน์ ก็หามีผลผูกพันถึงโจทก์ไม่ เพราะทนายโจทก์มอบฉันทะให้ผู้รับมอบฉันทะจากทนายโจทก์มารับทราบการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในวันนัดพร้อมเพื่อฟังผลการตรวจพิสูจน์เท่านั้น และกรณีตามคำแถลงของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวเป็นกิจการที่สำคัญเกี่ยวกับคดีซึ่งโดยสภาพเป็นที่เห็นได้ว่าทนายโจทก์จะต้องกระทำด้วยตนเอง ดังนั้น ผู้รับมอบฉันทะจากทนายโจทก์จึงไม่มีอำนาจแถลงต่อศาลว่าจะคัดค้านคำแถลงของจำเลยที่ 3 หรือไม่ คำแถลงของผู้รับมอบฉันทะจากทนายโจทก์จึงไม่มีผลผูกพันใด ๆ ต่อโจทก์
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในจำนวนทุนทรัพย์ 4,828,975.63 บาท ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 3 ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 3 ให้รับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกฎหมายไปเป็นจำนวนมาก เมื่อจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในจำนวนเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 3 จึงควรรับผิดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
การที่โจทก์ใช้สิทธิดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 3 ให้รับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกฎหมายไปเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 ต้องอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในจำนวนทุนทรัพย์ 4,709,472.66 บาท เกินกว่าความรับผิดของจำเลยที่ 3 ซึ่งมีอยู่เพียง 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ดังนั้น จำนวนทุนทรัพย์ 4,209,472.66 บาท ที่จำเลยที่ 3 ต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์จึงเกิดจากการดำเนินคดีของโจทก์เกินกว่าความรับผิดของจำเลยที่ 3 ดังกล่าว จึงเห็นสมควรให้โจทก์รับผิดใช้ค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในส่วนนี้แก่จำเลยที่ 3 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์
จำเลยที่ 3 ฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นเพื่อให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องในส่วนของคำท้าและหากศาลฎีกาเห็นว่า คำท้าของคู่ความเป็นไปโดยถูกต้องตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาในปัญหาเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ โดยมิได้ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยที่ 3 เป็นฝ่ายชนะคดีหรือยกฟ้องโจทก์ ฎีกาของจำเลยที่ 3 จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 200 บาท ตามบัญชีท้าย ป.วิ.พ. ตาราง 1 ข้อ (2)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 4,828,975.63 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ของต้นเงิน 2,629,630.24 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัดยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 เด็ดขาด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 จากสารบบความ
จำเลยที่ 3 แถลงสละประเด็นตามคำให้การ เหลือเพียงประเด็นเรื่องลายมือชื่อของจำเลยที่ 3 ว่า ลายมือชื่อที่ลงไว้ในช่องผู้ค้ำประกันของสัญญาค้ำประกันเป็นลายมือชื่อปลอมหรือไม่เพียงประเด็นเดียว และคู่ความตกลงท้ากันให้ถือเอาผลการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของจำเลยที่ 3 เป็นข้อแพ้ชนะคดี หากผลการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของจำเลยที่ 3 เป็นลายมือชื่อปลอมโจทก์ยอมแพ้คดี แต่ถ้าผลการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของจำเลยที่ 3 ระบุว่าไม่ใช่ลายมือชื่อปลอม จำเลยที่ 3 ยอมแพ้คดี หากผลการตรวจพิสูจน์ระบุเป็นอย่างอื่น เช่น ไม่สามารถตรวจพิสูจน์ได้ คู่ความขอยกเลิกคำท้า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เป็นไปตามที่คู่ความท้ากัน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,709,472.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 2,622,251.23 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 25 พฤษภาคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระ ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมชำระเงินไม่เกิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าว ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 500,000 บาท
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อแรกมีว่า คำท้าของโจทก์และจำเลยที่ 3 ยังคงมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 3 อยู่หรือไม่ เห็นว่า โจทก์และจำเลยที่ 3 ตกลงท้ากันให้ถือเอาผลการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของจำเลยที่ 3 เป็นข้อแพ้ชนะคดีโดยมิได้กำหนดว่าให้หน่วยงานใดเป็นผู้ตรวจพิสูจน์ เมื่อศาลชั้นต้นมีหนังสือให้ส่งเอกสารต่าง ๆ ไปให้กองพิสูจน์หลักฐาน ทำการตรวจพิสูจน์โจทก์และจำเลยที่ 3 มิได้โต้แย้งคัดค้าน เท่ากับโจทก์และจำเลยที่ 3 ตกลงยินยอมให้กองพิสูจน์หลักฐานทำการตรวจพิสูจน์ตามที่โจทก์และจำเลยที่ 3 ท้ากัน อันเป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งของคำท้า ระหว่างรอผลการตรวจพิสูจน์อยู่เป็นเวลานานมาก จำเลยที่ 3 เพียงฝ่ายเดียวยื่นคำแถลงขอให้ศาลชั้นต้นเรียกเอกสารคืนจากกองพิสูจน์หลักฐาน เพื่อส่งไปให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ทำการตรวจพิสูจน์ การที่ศาลชั้นต้นสอบถามผู้รับมอบฉันทะจากทนายโจทก์แล้วไม่คัดค้านและศาลชั้นต้นมีหนังสือเรียกเอกสารคืนจากกองพิสูจน์หลักฐาน เพื่อส่งไปตรวจพิสูจน์ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์นั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากมีการดำเนินกระบวนพิจารณาตามคำท้าแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องนอกเหนือคำท้าและโจทก์มิได้ตกลงยินยอมด้วย จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ตกลงเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของคำท้าเป็นให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์เป็นผู้ตรวจพิสูจน์ดังที่จำเลยที่ 3 ฎีกา เพราะคำท้าของคู่ความนั้นจะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหรือยกเลิกได้ก็โดยคู่ความตกลงกันเท่านั้น จำเลยที่ 3 หาอาจเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหรือยกเลิกคำท้าแต่ฝ่ายเดียวได้ไม่
แม้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้รับมอบฉันทะจากทนายโจทก์แถลงไม่คัดค้านคำแถลงของจำเลยที่ 3 ที่จำเลยที่ 3 ขอให้ศาลชั้นต้นเรียกเอกสารคืนจากกองพิสูจน์หลักฐานแล้วส่งไปให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ทำการตรวจพิสูจน์ ก็หามีผลผูกพันถึงโจทก์ไม่ เพราะทนายโจทก์มอบฉันทะให้ผู้รับมอบฉันทะจากทนายโจทก์มารับทราบการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในวันนัดพร้อมเพื่อฟังผลการตรวจพิสูจน์เท่านั้น และกรณีตามคำแถลงของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวเป็นกิจการที่สำคัญเกี่ยวกับคดีซึ่งโดยสภาพเป็นที่เห็นได้ว่าทนายโจทก์จะต้องกระทำด้วยตนเอง ดังนั้น ผู้รับมอบฉันทะจากทนายโจทก์จึงไม่มีอำนาจแถลงต่อศาลว่าจะคัดค้านคำแถลงของจำเลยที่ 3 หรือไม่ คำแถลงของผู้รับมอบฉันทะจากทนายโจทก์จึงไม่มีผลผูกพันใด ๆ ต่อโจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ตกลงตามคำแถลงของจำเลยที่ 3 ด้วยคำท้าของโจทก์และจำเลยที่ 3 ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงยังคงมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 3 อยู่ ที่ศาลล่างทั้งสองนำผลการตรวจพิสูจน์ของกองพิสูจน์หลักฐาน มาวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีให้จำเลยที่ 3 ต้องแพ้คดีตามคำท้า ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 3 ควรรับผิดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นเฉพาะทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีและโจทก์ควรรับผิดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้นได้บัญญัติให้ความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีย่อมตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดี แต่อย่างไรก็ดี ไม่ว่าคู่ความฝ่ายใดจะชนะคดีเต็มตามข้อหาหรือแต่บางส่วน ศาลมีอำนาจที่จะพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่ชนะคดีนั้นเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง หรือให้คู่ความแต่ละฝ่ายเสียค่าฤชาธรรมเนียมส่วนของตน หรือตามส่วนแห่งค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงซึ่งคู่ความทั้งสองฝ่ายได้เสียไปก็ได้ตามที่ศาลจะใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในจำนวนทุนทรัพย์ 4,828,975.63 บาท ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 3 ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 3 ให้รับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกฎหมายไปเป็นจำนวนมาก เมื่อจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในจำนวนเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 3 จึงควรรับผิดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ในจำนวนทุนทรัพย์ตามฟ้องและศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยพิพากษาแก้ในส่วนนี้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระหนี้จำนวนเดียวกันและให้ร่วมกันรับผิดในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมด้วย ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระหนี้ที่ลดลงจากคำพิพากษาศาลชั้นต้นเช่นนี้ คำวินิจฉัยของศาลฎีกาที่ให้จำเลยที่ 3 รับผิดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีย่อมมีผลถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาด้วย
ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์นั้น เห็นว่า การที่โจทก์ใช้สิทธิดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 3 ให้รับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกฎหมายไปเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 ต้องอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในจำนวนทุนทรัพย์ 4,709,472.66 บาท เกินกว่าความรับผิดของจำเลยที่ 3 ซึ่งมีอยู่เพียง 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย จึงเห็นสมควรให้โจทก์รับผิดใช้ค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในส่วนนี้แก่จำเลยที่ 3 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 3 ฟังขึ้น และที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่า หากศาลอุทธรณ์เห็นว่ากระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นชอบแล้ว ขอให้แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นให้จำเลยที่ 3 รับผิดชำระเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ดังนั้น จำนวนเงิน 500,000 บาท ที่จำเลยที่ 3 ยอมรับผิดย่อมไม่ได้พิพาทกันจึงไม่ใช่ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ แต่จำเลยที่ 3 เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในส่วนนี้มาด้วย จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในจำนวนทุนทรัพย์ 500,000 บาท แก่จำเลยที่ 3
จำเลยที่ 3 ฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นเพื่อให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องในส่วนของคำท้าและหากศาลฎีกาเห็นว่า คำท้าของคู่ความเป็นไปโดยถูกต้องตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาในปัญหาเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ โดยมิได้ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยที่ 3 เป็นฝ่ายชนะคดีหรือยกฟ้องโจทก์ ฎีกาของจำเลยที่ 3 จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 200 บาท ตามบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตาราง 1 ข้อ (2) แต่จำเลยที่ 3 เสียค่าขึ้นศาลในชั้นนี้มาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลในส่วนที่เสียเกินมาแก่จำเลยที่ 3
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดชำระเงินไม่เกินคนละ500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 500,000 บาทนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 25 พฤษภาคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นแทนโจทก์เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา ให้โจทก์ใช้ค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยที่ 3 จำนวน 105,237.50 บาท และให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จำนวน 12,500 บาท กับให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท แก่จำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ