คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1282/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์อ้างว่า จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินให้โจทก์ในราคาไร่ละ 600 บาท ตามเอกสาร จ.1 จำเลยต่อสู้ว่าก่อนที่จะทำเอกสาร จ.1โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อขายกันไว้ฉบับหนึ่งมีความว่าจะซื้อขายกันในราคาไร่ละ 600 บาท โดยผู้ซื้อจะต้องออกเงินไถ่จำนองที่ดินรายนี้ด้วยโจทก์เป็นผู้รักษาสัญญาฉบับนั้นไว้และบอกว่าหายไปเสียแล้วเมื่อฟังได้ดังที่จำเลยต่อสู้และฟังว่าเอกสาร จ.1 เป็นเพียงใบรับเงินมัดจำแล้วข้อนำสืบของจำเลยถึงข้อความในสัญญาเดิมย่อมไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 เพราะใบรับเงินมัดจำมิได้เป็นเอกสารที่กฎหมายบังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาซื้อขายที่นาโฉนดที่ 18 เนื้อที่ 13 ไร่เศษ ในราคาไร่ละ 600 บาท ในวันทำสัญญาโจทก์ชำระเงินให้จำเลยที่ 1 ไป 5,200 บาท เงินที่เหลือโจทก์จะชำระให้เสร็จภายใน พ.ศ. 2500 พร้อมกันนั้นจำเลยที่ 1 จะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ ราวเดือนตุลาคม 2500 โจทก์นำเงินที่ค้างงวดสุดท้ายไปชำระให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 บอกว่าโฉนดอยู่ที่สหกรณ์ นำมาจดทะเบียนโอนให้โจทก์ไม่ได้ ต่อมาทราบว่าจำเลยที่ 1 เอาโฉนดไปจดทะเบียนยกให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาและโดยสมรู้กัน ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยที่ 1 รับเงินที่เหลือ2,900 บาทจากโจทก์แล้วโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่าไม่ได้ทำหนังสือซื้อขายที่นาให้โจทก์ตามสำเนาสัญญาท้ายฟ้อง ความจริงเคยมีหนังสือสัญญารับเงินมัดจำว่าจะขายที่นารายนี้ 19 ไร่เศษ และราคาที่นาก็ตกลงกันว่าโจทก์ต้องซื้อเกินจำนวนเงินจำนองสหกรณ์โคกตูมอีกเป็นเงินไร่ละ 600 บาท ข้อตกลงดังกล่าวได้ให้นายผล กำนันเป็นคนเขียนให้ ต่อมาโจทก์เห็นว่าราคานาแพงมาก โจทก์ไม่มีเงินซื้อจึงขอเลิกสัญญามัดจำและได้ให้นายลอองมารับเงินมัดจำคืนไปและได้ทำใบรับเงินให้จำเลยยึดถือ 1 ฉบับ เมื่อเลิกสัญญาแล้วจำเลยก็กลับเอานามาทำเอง 2 ปีมาแล้ว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนยกที่พิพาทให้กันระหว่างจำเลยทั้งสองให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้โจทก์กับให้จำเลยรับเงิน 2,900 บาทจากโจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาฟังว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่พิพาทให้โจทก์นั้นที่แปลงนี้ติดจำนองอยู่ 12,000 บาท โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 ตกลงขายที่พิพาทให้โจทก์ในราคาไร่ละ 600 บาท โดยจำเลยที่ 1 จะต้องไปไถ่ถอนจำนองมาก่อน ซึ่งหมายความว่าจำเลยที่ 1 จะได้เงินค่าที่ดินจากโจทก์เพียง8,100 บาท แต่จำเลยที่ 1 จะต้องออกเงินค่าไถ่จำนองก่อนมากกว่า 12,000บาท รวมทั้งดอกเบี้ยด้วย จึงไม่น่าเชื่อและไร้เหตุผล

จำเลยที่ 1 นำสืบว่าการตกลงจะขายที่พิพาทนี้ โจทก์จะต้องเป็นฝ่ายออกเงินไถ่จำนองมาแล้วจึงจะขายให้ในราคาไร่ละ 600 บาท ข้อนี้โจทก์อ้างเอกสารหมาย จ.1 มายันว่า จำเลยตกลงจะขายไร่ละ 600 บาท เท่านั้น เอกสารมีข้อความดังโจทก์อ้างจริง แต่จำเลยที่ 1 เถียงว่าก่อนทำเอกสาร จ.1 โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อขายกันไว้ฉบับหนึ่ง โดยนายผลกำนันเป็นผู้เขียนนายผลนี้โจทก์จำเลยอ้างเป็นพยานร่วมกัน เบิกความสมคำจำเลยที่ 1 ว่าสัญญาฉบับแรกนั้นมีข้อความว่าจะซื้อขายกันในราคาไร่ละ 600 บาท โดยผู้ซื้อจะต้องเป็นฝ่ายออกเงินไถ่จำนอง สัญญานี้ทำขึ้นฉบับเดียวมอบให้โจทก์ไว้ต่อมาโจทก์บอกว่าสัญญาหายเสียแล้ว น่าเชื่อคำนายผลว่าเป็นความจริง เมื่อเชื่อคำนายผลแล้ว ก็ต้องฟังว่าสัญญาจะซื้อขายคือฉบับแรกที่นายผลเขียนขึ้น ส่วนเอกสาร จ.1 เป็นเพียงใบรับเงินมัดจำเท่านั้น เอกสารฉบับนี้โจทก์เป็นผู้เขียนขึ้นโดยมิได้เขียนข้อความให้ครบถ้วนตามสัญญาเดิม จำเลยนำสืบข้อความในสัญญาเดิมได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 เพราะในรับเงินมัดจำมิได้เป็นเอกสารที่กฎหมายบังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือ

จำเลยนำสืบว่าโจทก์กับนายลออง เป็นผู้ซื้อร่วมกัน และในวันชำระเงินมัดจำ 5,200 บาทนั้น นายลอองเป็นผู้ชำระโดยบอกว่าเป็นเงินของนายลออง ครั้นการซื้อขายไม่อาจทำสำเร็จได้เพราะโจทก์ไม่มีเงินไปไถ่จำนอง จึงได้มีการเลิกสัญญากันและจำเลยที่ 1 ได้คืนเงินมัดจำให้นายลอองไปตามใบรับหมาย ล.1 ความข้อนี้น่าเชื่อว่าเป็นความจริงเช่นกัน

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share