แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยใช้เหล็กทุบทำลายกระจกรถยนต์ถึง 9 คัน ทั้งยังได้ลักทรัพย์และพยายามลักทรัพย์ในรถยนต์ทั้ง 9 คันดังกล่าวด้วย แม้จำเลยอาจจะเมาสุราขาดสติเพียงครั้งเดียวและได้กระทำความผิดในคราวเดียวกัน แต่จำเลยได้กระทำต่อรถยนต์ถึง 9 คัน ซึ่งเป็นของผู้เสียหายคนละคนกัน โดยจำเลยกระทำความผิดทีละคันและคนละเวลา แม้จะเป็นเวลาที่ต่อเนื่องใกล้ชิดกัน แต่การกระทำความผิดในรถยนต์แต่ละคันก็เป็นความผิดสำเร็จเด็ดขาดไปแล้ว และเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามที่ได้กระทำต่อรถยนต์ทุกคัน มิใช่ความผิดกรรมเดียว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือจำเลยใช้เหล็ก 1 ท่อน ทุบทำลายกระจกรถยนต์และประตูรถยนต์จำนวน 9 คัน ขณะอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายที่ 1 ถึงผู้เสียหายที่ 9 ตามลำดับ ซึ่งจอดไว้ที่ลานจอดรถยนต์ชั้นที่ 4 ถึงชั้นที่ 8 อาคารธนาเพลส เป็นเหตุให้กระจกรถยนต์และประตูรถยนต์ดังกล่าวทั้งหมดแตกและบุบเสียหาย อันเป็นการทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลและทรัพย์ภายในรถยนต์ดังกล่าว แล้วจำเลยเปิดประตูรถยนต์เข้าไปลักและพยายามลักทรัพย์ในรถยนต์แต่ละคัน ของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 9 ไปโดยทุจริต ดังกล่าว เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยได้พร้อมด้วยเหล็ก 1 ท่อน ที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิด วิทยุเทปติดรถยนต์ 1 เครื่อง ไฟฉาย 1 กระบอก อัลบัมภาพ 4 เล่ม เงินสด 250 บาท อันเป็นทรัพย์ที่จำเลยลักเอาไป กับถุงผ้าสีขาว 1 ใบ ที่จำเลยใช้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการกระทำความผิด โดยใช้บรรจุทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งหลายเพื่อสะดวกแก่การลักทรัพย์เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 358, 91, 33 ริบเหล็ก1 ท่อน และถุงผ้าสีขาวของกลางกับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ปากกาเชฟเฟอร์ 1 ด้าม เป็นเงิน 750 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายที่ 5
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(3) วรรคแรก, 335(3) วรรคแรก ประกอบมาตรา 80, 358 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 รวม 9 กระทง ความผิดฐานลักทรัพย์และพยายามลักทรัพย์เป็นกรรมเดียวกับฐานทำให้เสียทรัพย์ ลงโทษฐานลักทรัพย์ 5 กระทง ฐานพยายามลักทรัพย์ 4 กระทงซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานลักทรัพย์ จำคุกกระทงละ 3 ปี ฐานพยายามลักทรัพย์ จำคุกกระทงละ 2 ปี รวมโทษจำคุก 23 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 11 ปี 6 เดือน ริบของกลาง ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ปากกาเชฟเฟอร์ 1 ด้าม เป็นเงิน 750 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายที่ 5
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบา
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยฐานลักทรัพย์กระทงละ 2 ปี รวม5 กระทง ฐานพยายามลักทรัพย์กระทงละ 1 ปี 4 เดือน รวม 4 กระทง ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกฐานลักทรัพย์กระทงละ 1 ปี รวม5 กระทง จำคุก 5 ปี ฐานพยายามลักทรัพย์กระทงละ 8 เดือน รวม 4 กระทง จำคุก 2 ปี 8 เดือน รวมโทษจำคุกของจำเลยทั้งสิ้น 7 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำความผิดของจำเลยเป็นกรรมเดียวนั้น ฎีกาของจำเลยข้อนี้จะมิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลล่างทั้งสอง แต่เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย จำเลยจึงยกขึ้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง, 225 เห็นว่าจำเลยใช้เหล็กทุบทำลายกระจกรถยนต์ถึง 9 คัน ทั้งยังได้ลักทรัพย์และพยายามลักทรัพย์ในรถยนต์ทั้ง 9 คันดังกล่าวด้วย แม้จำเลยอาจจะเมาสุราขาดสติเพียงครั้งเดียวและได้กระทำความผิดในคราวเดียวกันตามที่อ้างมาในฎีกา แต่จำเลยได้กระทำต่อรถยนต์ถึง9 คัน ซึ่งเป็นของผู้เสียหายคนละคนกัน โดยจำเลยกระทำความผิดทีละคันและคนละเวลากัน แม้จะเป็นเวลาที่ต่อเนื่องใกล้ชิดกัน แต่การกระทำความผิดในรถยนต์แต่ละคันก็เป็นความผิดสำเร็จเด็ดขาดไปแล้ว และเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามที่ได้กระทำต่อรถยนต์ทุกคัน มิใช่กรรมเดียว
ส่วนจำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น เห็นว่า จำเลยกระทำความผิดในเวลากลางวันและต่อรถยนต์ถึง 9 คัน โดยใช้เหล็กทุบทำลายกระจกรถยนต์ทั้ง 9 คัน พฤติการณ์การกระทำของจำเลยอุกอาจและไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมืองควรลงโทษให้หนักเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคลอื่น ที่จำเลยอ้างว่าได้กระทำความผิดไปเพราะดื่มสุราจนเมาขาดสติและประสาทหลอนนั้น จำเลยเคยเป็นมาก่อน จำเลยจึงย่อมจะต้องทราบดีอยู่แล้วว่าเมื่อจำเลยดื่มสุรามาก จะทำให้ขาดสติและประสาทหลอนจำเลยก็ไม่ควรที่จะดื่มสุราให้มาก แต่จำเลยยังคงดื่มสุรามากทั้งที่รู้ว่าจะทำให้เมาขาดสติและประสาทหลอน ซึ่งจะเป็นโทษแก่จำเลยและเป็นเหตุให้จำเลยกระทำความผิดครั้งนี้ จำเลยจึงไม่อาจอ้างว่าขาดสติและประสาทหลอนมาเป็นข้อแก้ตัวเพื่อขอให้ลงโทษสถานเบาขั้นต่ำสุดของกฎหมายและขอให้รอการลงโทษและที่จำเลยอ้างว่าจำเลยตกงาน ภริยามีรายได้คนเดียว ไม่พอกับค่าใช้จ่ายและหนี้สินครอบครัวกำลังเดือดร้อนทำให้จำเลยกลุ้มใจและเครียด จึงดื่มสุราและกระทำความผิดไปนั้น แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้พร้อมของกลางถุงผ้าใช้บรรจุทรัพย์ของผู้เสียหายที่จำเลยลักไป แสดงว่าจำเลยเตรียมการมาก่อนเพื่อจะกระทำความผิด มิได้กระทำความผิดเพราะความยากจน กำลังกลุ้มใจและเครียดจริง จึงไม่สมควรที่จะลงโทษขั้นต่ำสุดของกฎหมายและรอการลงโทษให้จำเลยที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น จึงชอบและเหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน