แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การประดิษฐ์ที่จะขอรับสิทธิบัตรได้ต้องประกอบด้วยลักษณะการประดิษฐ์ 3 ข้อ คือ เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น และสามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม ทั้งนี้ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 จะขาดข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การประดิษฐ์วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มตามสิทธิบัตรของจำเลยไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ การประดิษฐ์ของจำเลยจึงไม่อาจขอรับสิทธิบัตรได้ สิทธิบัตรของจำเลยย่อมไม่ชอบด้วยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นสิทธิบัตรไม่สมบูรณ์และเพิกถอนได้ตามมาตรา 54
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรการประดิษฐ์วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มของจำเลยตามคำขอรับสิทธิบัตรเลขที่ ๐๔๔๗๐๔ สิทธิบัตรเลขที่ ๙๔๓๓ มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา และบังคับให้จำเลยหยุดถือสิทธิหรือห้ามมิให้จำเลยใช้หรือแอบอ้างสิทธิบัตรดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการประกาศโฆษณา เผยแพร่หรือกระทำการใด ๆ เพื่อให้สาธารณชนหลงผิดว่าจำเลยพึงได้รับสิทธิบัตรดังกล่าว
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรของจำเลยไม่ใช่การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ตามมาตรา ๖ วรรคสอง (๑) และไม่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น ตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒ การกระทำของจำเลยเป็นไปโดยสุจริตเพื่อป้องกันความเสียหายตามกฎหมายซึ่งเป็นสิทธิอันพึงกระทำได้ โจทก์จะเรียกค่าเสียหายจากจำเลยไม่ได้ พิพากษาให้เพิกถอนสิทธิบัตรการประดิษฐ์วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มตามคำขอรับสิทธิบัตรเลขที่ ๐๔๔๗๐๔ สิทธิบัตรเลขที่ ๙๔๓๓ ของจำเลย คำขออื่นให้ยก ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ ๓,๐๐๐ บาท
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า การประดิษฐ์ของจำเลยเป็นการประดิษฐ์ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตรหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มตามสิทธิบัตรของจำเลยไม่ได้มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตร เพราะจำเลยได้แก้ไขปรับปรุง วิจัย และพัฒนาเรื่อยมาจนได้รูปแบบตามสิทธิบัตร และก่อนยื่นคำขอรับสิทธิบัตร จำเลยก็ไม่เคยนำไปทดสอบอีกเลย เห็นว่า ในประเทศไทยมีการตอกเสาเข็มในงานก่อสร้างมาประมาณ ๔๐ ปีแล้ว ในการตอกเสาเข็ม จะต้องมีวัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มเพื่อป้องกันมิได้เสาเข็มเสียหาย เรียกวัสดุชนิดนี้กันว่า “ไม้หมวก” โจทก์เป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีทุนจดทะเบียนจำนวนมากถึง ๑,๐๐๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท และประกอบธุรกิจรับจ้างตอกเสาเข็มในโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ จนกระทั่งปัจจุบัน น่าเชื่อว่าโจทก์จะเป็นผู้กำหนดการทำไม้หมวกให้จำเลยรับไปผลิตขายให้โจทก์ตลอดมานับหมื่นชิ้นรวมเป็นเงินค่าไม้หมวกนับล้านบาท นอกจากจะขายไม้หมวกให้โจทก์แล้ว จำเลยยังผลิตไม้หมวกขายให้บริษัทอื่น ๆ อีกหลายบริษัทในลักษณะนำไปใช้งานจริงเกินกว่าที่จะอยู่ในขั้นทดสอบดังที่จำเลยกล่าวอ้าง ส่วนลักษณะของไม้หมวกที่จำเลยขายให้โจทก์และบริษัทอื่น ๆ นั้น นอกจากโจทก์จะมีพยานบุคคลเบิกความว่ามีลักษณะเหมือนกับการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรของจำเลยแล้ว ก็ยังปรากฏภาพของไม้หมวกที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรของจำเลยขายให้บริษัท บ. ในใบเสร็จรับค่าไม้หมวกและใบส่งของ ซึ่งลงวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๔๑ , ๓ มีนาคม ๒๕๔๑ และ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๔๑ กับเอกสารซึ่งลงวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๑ อันเป็นวันก่อนที่จำเลยจะยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์เพียงเล็กน้อยในวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๑ เหมือนกับภาพการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรของจำเลยตามคำขอรับสิทธิบัตร ทั้งได้ความจากเอกสารดังกล่าวในหัวข้อภูมิหลังของศิลปะหรือวิทยาการที่เกี่ยวข้องว่า มีการสั่งซื้อเพื่อนำไปใช้งานจากบริษัทผู้ผลิตเสาเข็มชั้นนำแล้ว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรของจำเลยมีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตรอันจัดเป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้วตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖ วรรคสอง (๑) การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรของจำเลยจึงไม่มีลักษณะเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ การประดิษฐ์ที่จะขอรับสิทธิบัตรได้ต้องประกอบด้วยลักษณะการประดิษฐ์ดังต่อไปนี้ คือ (๑) เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ (๒) เป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น และ (๓) เป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม ทั้งนี้ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒ การประดิษฐ์ที่จะขอรับสิทธิบัตรได้จึงต้องประกอบด้วยลักษณะการประดิษฐ์ทั้ง ๓ ข้อ จะขาดข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าการประดิษฐ์วัสดุรองรับแรงกระแทกบนหัวเสาเข็มตามสิทธิบัตรของจำเลยไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่แล้ว การประดิษฐ์ของจำเลยจึงไม่อาจขอรับสิทธิบัตรได้ สิทธิบัตรของจำเลยได้ออกไปโดยไม่ชอบด้วยมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นสิทธิบัตรไม่สมบูรณ์ และเพิกถอนได้ตามมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น เพราะไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิบัตรของจำเลยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.