แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนชื่อ จ. ออกจากการเป็นมารดาของจำเลยต่อนายทะเบียนท้องถิ่นแล้วให้จำเลยกลับไปใช้ชื่อบิดามารดาเดิมโดยอ้างว่าจำเลยไม่มีความเกี่ยวข้องกับ จ. เป็นเพียงคนที่ จ. อุปการะเลี้ยงดู และให้ใช้ชื่อสกุลเท่านั้น เมื่อตามทะเบียนบ้านระบุว่าจำเลยเกิดวันที่ 15 พฤศจิกายน 2490 ความเป็นบิดามารดากับบุตรระหว่างจำเลยกับ จ. ตาม พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่ง ป.พ.พ. ที่ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 5 กำหนดว่า บทบัญญัติบรรพ 5 แห่ง ป.พ.พ. ได้ตรวจชำระใหม่ไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของการเป็นบิดามารดากับบุตร ดังนั้นความเป็นมารดากับบุตรระหว่างจำเลยกับ จ. ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. บรรพ 5 เดิม ซึ่งมาตรา 1525 บัญญัติรับรองความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงว่าเด็กที่เกิดจากหญิงที่มิได้สมรสกับชายย่อมต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้นเสมอ นอกจากนี้การพิสูจน์ความเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายก็มิได้บัญญัติไว้เหมือนการพิสูจน์ความเป็นบิดา การพิสูจน์ความเป็นมารดาชอบด้วยกฎหมายระหว่างจำเลยกับ จ. จึงไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นที่จะยกมาบังคับได้ จึงต้องอาศัยเทียบเคียงบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง ซึ่งได้แก่บทบัญญัติที่ใช้พิสูจน์ความเป็นบิดาตามมาตรา 1524 วรรคสองและวรรคสามตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 เดิม มาพิสูจน์ความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายระหว่างจำเลยกับ จ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้เงินค่าเสียหาย 2,000,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องไปจนกว่าชำระเสร็จ ให้จำเลยเพิกถอนชื่อนายสุดใจและนางจรูญออกจากการเป็นบิดามารดาของจำเลยต่อนายทะเบียนท้องถิ่น สำนักงานทะเบียนเขตพญาไท กรุงเทพมหานคร แล้วกลับไปใช้ชื่อบิดามารดาเดิมของจำเลย หากไม่ปฏิบัติให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้นายทะเบียนท้องถิ่น สำนักงานทะเบียนเขตพญาไท กรุงเทพมหานคร เพิกถอนชื่อนายสุดใจและนางจรูญออกจากการเป็นบิดามารดาของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสุดใจ ให้นายทะเบียนราษฎรเพิกถอนชื่อนายสุดใจออกจากชื่อบิดาของจำเลย คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ห้ามมิให้จำเลยใช้ชื่อนายสุดใจเป็นชื่อบิดา ให้จำเลยไปดำเนินการแจ้งต่อนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า มีชื่อจำเลยอยู่ในทะเบียนบ้านเลขที่ 70 และ 70/1 ถนนพหลโยธิน ซอยลือชา ตำบลสามเสนใน อำเภอพญาไท จังหวัดกรุงเทพมหานคร จำเลยเกิดวันที่ 15 พฤศจิกายน 2490 ระบุชื่อนายสุดใจและนางจรูญเป็นบิดามารดา สำหรับประเด็นที่ว่าจำเลยไม่เป็นบุตรของนายสุดใจ และโจทก์ซึ่งเป็นบุตรนายสุดใจและเป็นหลานนางจรูญได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยใช้ชื่อสกุลจินายนนั้น ศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้เพิกถอนชื่อนายสุดใจออกจากทะเบียนบ้านและยกคำขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพราะโจทก์มิได้รับความเสียหาย โจทก์และจำเลยไม่ได้ยกขึ้นอุทธรณ์ ประเด็นดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาตามที่โจทก์ฎีกาเพียงว่า นางจรูญเป็นมารดาของจำเลยตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า ตามทะเบียนบ้านเลขที่ 70 และ 70/1 ดังกล่าวระบุว่าจำเลยเกิดวันที่ 15 พฤศจิกายน 2490 ความเป็นบิดามารดากับบุตรระหว่างจำเลยกับนางจรูญตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 5 กำหนดว่าบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ตรวจชำระใหม่ไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของการเป็นบิดามารดากับบุตร ดังนั้น ความเป็นมารดากับบุตรระหว่างจำเลยกับนางจรูญต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 เดิม ซึ่งมาตรา 1525 ได้บัญญัติรับรองความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงว่า เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้สมรสกับชายให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น ดังนั้น เด็กที่เกิดจากหญิงที่มิได้สมรสกับชายย่อมต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้นเสมอ นอกจากนี้การพิสูจน์ความเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายก็มิได้บัญญัติไว้เหมือนการพิสูจน์ความเป็นบิดา การพิสูจน์ความเป็นมารดาชอบด้วยกฎหมายระหว่างจำเลยกับนางจรูญ จึงไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นที่จะยกมาบังคับได้จึงต้องอาศัยเทียบเคียงบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคสอง จึงให้นำบทบัญญัติ มาตรา 1524 วรรคสองและวรรคสามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 เดิมมาพิสูจน์ความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายระหว่างจำเลยกับนางจรูญ ซึ่งการที่จำเลยมีเพียงสำเนาทะเบียนบ้านระบุว่านางจรูญเป็นหัวหน้าครอบครัว จำเลยมีชื่อและอยู่ลำดับที่ 3 ระบุความเกี่ยวพันกับหัวหน้าครอบครัวว่าเป็นบุตรและระบุชื่อนางจรูญว่าเป็นมารดา ก็อาจเป็นการที่นางจรูญได้แจ้งต่อทางราชการว่าจำเลยเป็นบุตรตั้งแต่ปี 2499 หลังจากนั้นก็มีการคัดลอกทะเบียนบ้านต่อ ๆ มาตามทะเบียนบ้านของบ้านเลขที่ 70 และ 70/1 ซึ่งไม่ได้เป็นหลักฐานยืนยันความเป็นมารดากับบุตรแน่ชัด รวมทั้งแม้ได้ความจากโจทก์ตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า จำเลยเรียกนางจรูญว่าแม่ นางจรูญเรียกจำเลยว่าลูกก็ตาม แต่ก็ได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่านางจรูญจะเรียกเด็ก ๆ ในสถานรับเลี้ยงเด็กของนางจรูญว่าลูก ทำนองเดียวกับจำเลยหรือแม้ว่านางจรูญให้การเลี้ยงดูจำเลยมาตลอด ทั้งได้ส่งเสียให้จำเลยได้รับการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อุดมศึกษา นอกจากนี้ยังได้ส่งจำเลยไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ภายหลังจำเลยประกอบอาชีพที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จำเลยได้ติดต่อทางจดหมายและกลับมาเยี่ยมนางจรูญทุกปี รวมทั้งส่งเงินมาอุปการะเลี้ยงดูนางจรูญตลอดมาจวบจนกระทั่งนางจรูญถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2549 ก็ตาม แต่ทั้งนี้กลับปรากฏว่า จำเลยตอบทนายโจทก์ถามค้านในคดีนี้ว่า “หลังจากที่มารดาถึงแก่กรรมแล้ว ข้าฯ จึงเพิ่งทราบว่า ข้าฯ ไม่ใช่บุตรของนายสุดใจและนางจรูญ อย่างที่ข้าฯ เบิกความต่อศาลแพ่ง แต่ไม่ได้รับหนังสือบอกกล่าวกับทนายความให้ไปแก้ไข ข้าฯ เห็นว่าทั้งบิดามารดาได้ถึงแก่กรรมไปแล้วทั้งสองคน ข้าฯ ไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องไปแก้ไข” เห็นว่า คำรับจำเลยเป็นปฎิปักษ์กับตัวเอง ทั้งสอดคล้องกับที่จำเลยเบิกความในศาลแพ่ง ซึ่งจำเลย (คดีนี้) ฟ้องโจทก์ (คดีนี้) ในคดีมรดกว่า ข้าฯ ไม่ใช่บุตรที่แท้จริงของเจ้ามรดกแต่มาทราบเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรมแล้ว ส่วนบิดามารดาที่แท้จริงของข้าฯ จะเป็นใคร ข้าฯ ไม่ทราบ” ประกอบกับจำเลยไม่มีสูติบัตรยืนยันการเกิดว่าผู้ใดเป็นมารดา ไม่มีพยานบุคคลหรือพยานหลักฐานใดยืนยันการตั้งครรภ์จำเลยของนางจรูญ จึงน่าเชื่อว่าจำเลยมิใช่บุตรโดยสายโลหิตและโดยชอบด้วยกฎหมายของนางจรูญ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความเช่นนี้ตราบใดที่ทะเบียนบ้านยังระบุว่านางจรูญเป็นมารดาของจำเลย ย่อมเกิดการกระทบกระเทือนต่อสิทธิหน้าที่ของโจทก์เพราะจำเลยอาจนำเอกสารดังกล่าวไปใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานดำเนินการในกิจการต่าง ๆ อันอาจทำให้สิทธิประโยชน์หรือหน้าที่ของโจทก์เปลี่ยนแปลงไป โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนชื่อนางจรูญออกจากชื่อมารดาของจำเลยในทะเบียนบ้านได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมิใช่บุตรของนางจรูญ ห้ามมิให้จำเลยใช้ชื่อนางจรูญเป็นชื่อมารดา ให้จำเลยไปดำเนินการแจ้งต่อนายทะเบียน หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการเจตนาของจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และให้ยกคำขอตรวจสารพันธุกรรม ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ