คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9317/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่งอ้างเหตุเพียงประการเดียวว่า ผู้ร้องไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายในเวลาอันสมควร ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1732 บัญญัติว่า “ผู้จัดการมรดกต้องจัดการตามหน้าที่และทำรายงานแสดงบัญชีและแบ่งปันมรดกให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ระบุไว้ในมาตรา 1728” แสดงว่า ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่จัดการแบ่งปันมรดกให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี หากไม่ดำเนินการในเวลาดังกล่าวอาจถูกศาลถอดถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ ผู้ร้องจึงมีหน้าที่ต้องแบ่งปันมรดกให้แก่ทายาทให้เสร็จภายในหนึ่งปี การที่ผู้คัดค้านมายื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกก่อนที่จะครบกำหนดเวลาหนึ่งปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1732 ซึ่งยังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องกระทำผิดหน้าที่ไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดอันจะเป็นเหตุให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 และจะถือว่าผู้ร้องไม่มีความสามารถตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 (2) อันจะตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้เช่นกัน ดังนั้น ในวันที่ผู้คัดค้านยื่นร้องขอ จึงยังไม่มีเหตุตามคำร้องขอ ที่จะถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิหรือจำต้องใช้สิทธิทางศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แม้ต่อมาระหว่างการพิจารณาผู้ร้องยังไม่แบ่งทรัพย์มรดกก็เป็นเหตุการณ์ภายหลังอันจะถือว่าเป็นเหตุตามคำร้องขอหาได้ไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากวันที่ 26 ธันวาคม 2549 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางสาวปนิษฎี ผู้ร้อง เป็นผู้จัดการมรดกของนางคีรยาหรือวันดี ผู้ตายกับให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางคีรยาหรือวันดี ผู้ตาย และตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกแทน
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องขอของผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งถอนนางสาวปนิษฎี ผู้ร้อง ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและมีคำสั่งให้นายมานะ ผู้คัดค้าน เป็นผู้จัดการมรดกของนางคีรยาหรือวันดี โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ถอนนางสาวปนิษฎี ผู้ร้อง จากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางคีรยาหรือวันดี ผู้ตาย ให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับนายมานะ ผู้คัดค้าน โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
ผู้ร้องและผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่ได้โต้แย้งคัดค้านว่า ผู้ร้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายประสพ และนางคีรยาหรือวันดี ผู้ตาย ตามสำเนาทะเบียนบ้าน มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน คือ ผู้ร้อง นายประธาน และนางสาวปณิตอร ตามบัญชีเครือญาติ ผู้คัดค้านเป็นบุตรของนายสง่า และนางทรงศรี ตามสำเนารายการเกี่ยวกับบ้านมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 6 คน คือ ผู้ตาย ผู้คัดค้านนางทรงจำ นายวิริยะ นางจันทร์แรม และนายทรงธรรม ตามบัญชีเครือญาติ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2549 ผู้ตายถึงแก่ความตายตามสำเนามรณบัตรโดยไม่ได้ทำพินัยกรรม ผู้ตายมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน ห้องชุดริมหาดจอมเทียนและเงินฝากในสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยมหิดล สำเนาหนังสือสัญญาขายห้องชุดและหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด กับสำเนาบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ โดยที่ดินดังกล่าวเดิมเป็นสินส่วนตัวของนายประสพ ต่อมาให้ผู้ตายและนายประธานถือกรรมสิทธิ์รวมภายหลังนายประธานและนายประสพจดทะเบียนยกให้แก่ผู้ตาย ขณะถึงแก่ความตายมีทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกคือ ผู้ร้อง นายประธาน นางสาวปณิตอร และนางทรงศรี รวม 4 คน เนื่องจากนายประสพได้จดทะเบียนหย่ากับผู้ตายไปแล้วตามสำเนาใบสำคัญการหย่า ส่วนนายสง่าซึ่งเป็นบิดาของผู้ตายถึงแก่ความตายไปก่อนวันที่ 15 สิงหาคม 2550 นางทรงศรีถึงแก่ความตายตามสำเนามรณบัตร วันที่ 28 ตุลาคม 2551 ศาลจังหวัดชัยนาทมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนางทรงศรีตามสำเนาคำสั่งคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1322/2551หมายเลขแดงที่ 1434/2551 ผู้ร้องเคยไปร้องคัดค้านเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ผู้ร้องยังจัดการมรดกของผู้ตายไม่เสร็จแต่ผู้ร้องได้ชี้แจงรายการทรัพย์สินที่จะแบ่งให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิรับ 4 คน คิดเป็นเงินคนละ 947,786.19 บาท ตามคำแถลงที่ยื่นต่อศาลชั้นต้นลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 ซึ่งผู้คัดค้านไม่คัดค้าน ผู้ร้องและผู้คัดค้านมีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ศาลชั้นต้นสืบพยานผู้คัดค้านไปฝ่ายเดียวโดยงดสืบพยานผู้ร้องเพราะไม่อนุญาตให้ผู้ร้องเลื่อนคดีไปสืบพยานผู้ร้อง
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้คัดค้านมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางคีรยาหรือวันดี ผู้ตาย และตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่านางทรงศรี เป็นมารดาของผู้ตายจึงเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 (2) มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้อง นายประธานและนางสาวปณิตอรซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 (1) โดยนางทรงศรีได้รับส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตรตามมาตรา 1630 วรรคสอง แต่นางทรงศรีถึงแก่ความตายก่อน โดยผู้ร้องยังไม่ได้แบ่งปันมรดกให้ทายาท ดังนั้นสิทธิในการรับมรดกของนางทรงศรีจึงเป็นมรดกของนางทรงศรีตามมาตรา 1600 ที่จะตกทอดแก่ทายาทตามมาตรา 1599 วรรคหนึ่ง ซึ่งได้แก่ผู้คัดค้านกับพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่อีก 4 คน ตามมาตรา 1629 (1) กับผู้ร้องและน้อง 2 คน ในฐานะผู้รับมรดกแทนที่ผู้ตายที่ถึงแก่ความตายก่อนนางทรงศรีตามมาตรา 1630 ประกอบมาตรา 1639 ฉะนั้นผู้คัดค้านจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายในฐานะผู้สืบสิทธิของนางทรงศรีตามมาตรา 1727 ที่จะยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกหากมีเหตุตามมาตรา 1727 วรรคหนึ่ง และผู้คัดค้านถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา 1713 ที่จะร้องขอให้ศาลตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก หากมีเหตุตามมาตรา 1713 (1) ถึง (3) คดีนี้ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขออ้างเหตุถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1727วรรคหนึ่ง เพียงประการเดียวว่าผู้ร้องไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายในเวลาอันสมควรส่วนเหตุที่จะขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1713 (1) ถึง (3) นั้น ไม่ได้ระบุเหตุโดยตรง แต่การที่อ้างว่าผู้ร้องไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกในเวลาอันควรพอแปลได้ว่า เป็นเหตุตามมาตรา 1713 (2) คือ ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกไม่สามารถที่จะจัดการมรดกเห็นว่า ตามมาตรา 1732 บัญญัติว่า “ผู้จัดการมรดกต้องจัดการตามหน้าที่และทำรายงานแสดงบัญชีการจัดการและแบ่งปันมรดกให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ระบุไว้ในมาตรา 1728” จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงว่า ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่จัดการแบ่งปันมรดกให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี หากไม่ดำเนินการในเวลาดังกล่าวอาจถูกศาลถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2549 หน้าที่ผู้จัดการมรดกเริ่มแต่วันดังกล่าว ตามมาตรา 1728 (2) ผู้ร้องจึงมีหน้าที่ต้องแบ่งปันมรดกให้แก่ทายาทให้เสร็จภายในหนึ่งปี คือ ภายในวันที่ 26 ธันวาคม 2550 ตามมาตรา 1732 ดังกล่าว การที่ผู้คัดค้านมายื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2550 โดยอ้างว่าผู้ร้องไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกในเวลาอันควรจึงเป็นการด่วนยื่นคำร้องขอก่อนที่จะครบกำหนดเวลาหนึ่งปี ตามมาตรา 1732 ซึ่งยังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องกระทำผิดหน้าที่ไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดอันจะเป็นเหตุให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1727 หาได้ไม่ และจะถือว่าผู้ร้องไม่มีความสามารถตามมาตรา 1713 (2) อันจะตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกได้เช่นกัน ดังนั้นในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2550 จึงยังไม่มีเหตุตามคำร้องขอดังวินิจฉัยข้างต้นอันจะถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิหรือจำต้องใช้สิทธิทางศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แม้ต่อมาระหว่างการพิจารณาผู้ร้องยังไม่แบ่งทรัพย์มรดกก็เป็นเหตุการณ์ภายหลังอันจะถือว่าเป็นเหตุตามคำร้องขอหาได้ไม่ ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องประการอื่นและฎีกาของผู้คัดค้านไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางคีรยาหรือวันดี ผู้ตาย และไม่ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกชอบที่ศาลชั้นต้นจะยกคำร้องคัดค้านได้ทันที การที่ศาลชั้นต้นรับคำร้องคัดค้านไว้พิจารณาและพิพากษาต่อมาเป็นการไม่ชอบ คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาให้แก่ผู้คัดค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากนี้ทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share