คำวินิจฉัยที่ 14/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่ทายาทคนหนึ่งฟ้องขอให้หน่วยงานทางปกครองเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทอีกคนหนึ่ง เพราะบันทึกการยกที่ดินให้มิใช่พินัยกรรม จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่า การทำบันทึกและการทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้นาง ย. และผู้ร้องสอดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเนื่องมาจากการทำบันทึกกับการทำพินัยกรรมและสิทธิในทรัพย์มรดกตามที่มีการกล่าวอ้าง จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลในทางแพ่ง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๔/๒๕๕๗

วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑)

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดนนทบุรี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๕ พันเอกหญิง นวรัตน์ สุวรรณทัต ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง กรมที่ดิน ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี (ต่อมาศาลปกครองกลางมีคำสั่งเรียกนายกัมปนาท จันโอทาน เข้ามาเป็นผู้ร้องสอดฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดี) ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๓๗๐/๒๕๕๕ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกของนายผัน จันโอทาน บิดา ซึ่งมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินมีโฉนดที่ดินรวม ๑๑ แปลง แต่นางยุพา มารดาของผู้ฟ้องคดี นำบันทึกของนายผันซึ่งมิใช่พินัยกรรมตามกฎหมายเป็นหลักฐานในการขอรับมรดกที่ดินดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี และเมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๘ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จดทะเบียนโอนมรดกที่ดินตามคำขอให้แก่ นางยุพา และในวันเดียวกันนางยุพาโอนที่ดินดังกล่าวบางแปลงให้แก่ผู้ร้องสอด น้องชายของผู้ฟ้องคดี ทั้งที่ศาลจังหวัดนนทบุรียังไม่มีคำสั่งตั้งนางยุพาเป็นผู้จัดการมรดกของนายผันและไม่มีการเรียกผู้ฟ้องคดีและทายาทอื่นของนายผันไปทำการสอบสวนแต่อย่างใด การจดทะเบียนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาเมื่อนางยุพาถึงแก่กรรม ผู้ร้องสอดยื่นขอรับโอนมรดกที่ดินแปลงที่มีชื่อนางยุพาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ โดยอ้างว่า เป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมของนางยุพา และเมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๔ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จดทะเบียนโอนมรดกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องสอด ทั้งที่ศาลยังไม่มีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกของนางยุพา ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำร้องคัดค้านการตั้งผู้ร้องสอดเป็นผู้จัดการมรดกของนางยุพาไว้แล้ว และไม่ได้เรียกผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นทายาทของนางยุพาไปทำการไต่สวนแต่อย่างใด อีกทั้งประกาศเกี่ยวกับที่ดินมรดกแปลงดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยังมีข้อความอันเป็นเท็จ การจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนมรดกลงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๘ และลงวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๔ และระงับการทำนิติกรรมใดๆ ที่เกี่ยวกับโฉนดที่ดินพิพาท
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ร้องสอดให้การว่า นายผัน บิดาของผู้ฟ้องคดีและผู้ร้องสอดได้ทำพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับยกที่ดินพิพาทในคดีนี้ให้แก่นางยุพาแต่เพียงผู้เดียว ส่วนนางยุพาได้ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องสอดแต่เพียงผู้เดียวและตั้งให้ผู้ร้องสอดเป็นผู้จัดการมรดก ไม่มีผู้ใดคัดค้าน พินัยกรรมชอบด้วยกฎหมาย การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ดำเนินการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทตามข้อกำหนดในพินัยกรรม จึงชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแล้ว คดีขาดอายุความ ผู้ฟ้องคดีถูกตัดมิให้รับมรดกที่ดินพิพาทโดยพินัยกรรมจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้จะสืบเนื่องมาจากคำสั่งทางปกครองที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้จดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทและมีคำสั่งไม่รับอายัดที่ดินพิพาท แต่เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีที่ได้ใช้สิทธิยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองก็เพื่อให้ศาลปกครองมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิได้รับโดยทางมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกเป็นสำคัญ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่า ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิจะได้ที่ดินพิพาทโดยทางมรดกหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไปได้ จึงเป็นข้อพิพาทอันเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลในทางแพ่งซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อคดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในการจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มาโดยทางมรดกตามมาตรา ๘๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ดำเนินการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายผัน บิดาของผู้ฟ้องคดี ให้แก่นางยุพา มารดาของผู้ฟ้องคดี และดำเนินการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนางยุพาให้แก่ผู้ร้องสอด น้องชายของผู้ฟ้องคดี โดยไม่ได้มีหนังสือเรียกให้ผู้ฟ้องคดีและนางพัชรีพร ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนายผันและนางยุพาเช่นเดียวกับผู้ร้องสอด ไปทำการไต่สวนหรือสอบสวนข้อเท็จจริง อีกทั้ง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ดำเนินการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทให้แก่นางยุพาก่อนที่ศาลจังหวัดนนทบุรีจะมีคำสั่งตั้งนางยุพาเป็นผู้จัดการของนายผัน และดำเนินการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดก่อนที่ศาลจังหวัดนนทบุรีจะมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกของนางยุพา เนื่องจาก ผู้ฟ้องคดีและนางพัชรีพรได้ยื่นคำร้องคัดค้านการแต่งตั้งผู้ร้องสอดเป็นผู้จัดการมรดกของนางยุพา นอกจากนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จัดทำประกาศเกี่ยวกับมรดกที่ดินพิพาทเป็นเท็จ เนื่องจากระบุว่ามรดกที่ดินพิพาทไม่มีสิ่งก่อสร้างและดำเนินการจดทะเบียนโอนมรดกให้แก่ผู้ร้องสอดโดยที่ยังมิได้มีการจดทะเบียนโอนมรดกเป็นชื่อของนางยุพาก่อน การดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทและให้ระงับการทำนิติกรรมใดๆ ในที่ดินพิพาท กรณีจึงเป็นการฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กระทำการโดยไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์หรือวิธีการตามที่ประมวลกฎหมายที่ดิน กฎกระทรวงและระเบียบที่เกี่ยวข้องกำหนด คำฟ้องดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีมุ่งประสงค์ให้ศาล ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา ๘๑ และมาตรา ๘๒ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อให้ศาลเพิกถอนคำสั่งจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น แม้คดีจะมีประเด็นที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน แต่ถ้าผู้ฟ้องคดีมุ่งประสงค์ให้ศาลตรวจสอบการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นหลัก คดีย่อมอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับ การที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดนนทบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ราษฎรเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานทางปกครอง ให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามพินัยกรรม ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเรียกเอกชนเข้าเป็นผู้ร้องสอดฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดี คงมีปัญหาตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมายและระเบียบคำสั่งโดยครบถ้วนถูกต้องด้วยความสุจริต แต่กลับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้นางยุพาและผู้ร้องสอด ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ให้การว่า ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามขั้นตอนประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๘๑ , ๘๒ กฎกระทรวงฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๑๖) ประกอบระเบียบกรมที่ดินว่าด้วยการจดทะเบียนสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มาโดยทางมรดก พ.ศ. ๒๕๑๖ , ๒๕๔๘ , ๒๕๒๓ โดยครบถ้วนถูกต้อง คดีจึงต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้นางยุพาและผู้ร้องสอดว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๘ และ ๑๒๙๙ ทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์จะก่อตั้งขึ้นได้ เฉพาะแต่ด้วยผลทางกฎหมายและต้องทำการจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ โดยกฎหมายกำหนดวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ไว้ในประมวลกฎหมายที่ดินและในกฎกระทรวง เพื่อรับรองสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลและขจัดข้อพิพาทให้เกิดน้อยที่สุด โดยมีเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดำเนินการให้จดทะเบียน การกระทำต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ ก็จำต้องพิจารณาถึงสิทธิในทางแพ่งของบุคคลผู้มาขอจดทะเบียนเป็นสำคัญ สำหรับคดีนี้ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามพินัยกรรมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่า นางยุพาและผู้ร้องสอดได้ทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์โดยผลทางกฎหมายหรือไม่ โดยต้องพิจารณาว่าการทำพินัยกรรมยกที่ดินให้นางยุพาและผู้ร้องสอดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งหากได้ความว่าการทำพินัยกรรมถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้นางยุพาและผู้ร้องสอดก็ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน ย่อมมีผลให้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โอนไปเป็นของนางยุพาและผู้ร้องสอด ผู้ฟ้องคดีมิใช่ทายาทผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินพิพาทที่จะมีสิทธิร้องคัดค้านหรือฟ้องคดี แต่หากการทำพินัยกรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้นางยุพาและผู้ร้องสอด ตามพินัยกรรมก็ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีผลให้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ไม่ตกเป็นของนางยุพาและผู้ร้องสอด แต่เป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมต่อไป อีกทั้งผู้ร้องสอดเคยร้องขอจัดการมรดก ของนางยุพา และผู้ฟ้องคดีกับทายาทอื่นได้ร้องคัดค้านกลายเป็นคดีพิพาทกัน ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ. ๑๑๔๒/๒๕๕๔ ของศาลจังหวัดนนทบุรีมาแล้ว ข้อพิพาทในคดีนี้เกิดขึ้นเนื่องมาจากพินัยกรรมและสิทธิในทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมเป็นหลัก หาใช่มุ่งประสงค์ให้ศาลตรวจสอบการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นหลักไม่ จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลในทางแพ่ง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะเป็นหน่วยงานทางปกครองและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ตาม แต่ตามคำฟ้องผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นทายาทโดยธรรม ผู้มีสิทธิรับมรดกของนายผัน บิดา ซึ่งมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินมีโฉนด แต่นางยุพามารดาของผู้ฟ้องคดีนำบันทึกของนายผันซึ่งมิใช่พินัยกรรมตามกฎหมายเป็นหลักฐานในการขอรับมรดกที่ดินดังกล่าว และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จดทะเบียนโอนมรดกที่ดินตามคำขอให้แก่นางยุพา และในวันเดียวกันนางยุพาโอนที่ดินดังกล่าวบางแปลงให้แก่นายกัมปนาท จันโอทาน ผู้ร้องสอด (ซึ่งเป็นน้องชายของผู้ฟ้องคดีและศาลปกครองกลางมีคำสั่งเรียกเข้ามาในคดี) ทั้งที่ศาลจังหวัดนนทบุรียังไม่มีคำสั่งตั้งนางยุพาเป็นผู้จัดการมรดกของนายผัน และไม่มีการเรียกผู้ฟ้องคดี หรือทายาทอื่นของนายผันไปทำการสอบสวนแต่อย่างใด การจดทะเบียนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาเมื่อนางยุพาถึงแก่กรรม ผู้ร้องสอดยื่นขอรับโอนมรดกที่ดินของนางยุพาต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ โดยอ้างว่าเป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมของนางยุพา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จดทะเบียนโอนมรดกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องสอด ทั้งที่ศาลยังไม่มีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกของนางยุพา ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำร้องคัดค้านการตั้งผู้ร้องสอดเป็นผู้จัดการมรดกของนางยุพาไว้แล้ว และไม่ได้เรียกผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนางยุพาไปทำการไต่สวนแต่อย่างใด อีกทั้งประกาศเกี่ยวกับที่ดินมรดกพิพาทยังมีข้อความอันเป็นเท็จ การจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนมรดกและระงับการทำนิติกรรมใดๆ เกี่ยวกับโฉนดที่ดินพิพาท ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ให้การว่า ได้ดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการของกฎหมายและระเบียบแล้ว ส่วนผู้ร้องสอดให้การว่า พินัยกรรมชอบด้วยกฎหมาย การจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทตามพินัยกรรมจึงชอบด้วยกฎหมายและระเบียบ ผู้ฟ้องคดีถูกตัดมิให้รับมรดกที่ดินพิพาท โดยพินัยกรรมจึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า คดีนี้มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมรดกตามบันทึกและตามพินัยกรรมดังกล่าวว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งหากพิจารณาได้ความว่า ถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้นางยุพาและผู้ร้องสอดตามบันทึกและตามพินัยกรรมพิพาทก็ย่อมจะชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่า การทำบันทึกและการทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้นางยุพาและผู้ร้องสอดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเนื่องมาจากการทำบันทึกกับการทำพินัยกรรมและสิทธิในทรัพย์มรดกตามที่มีการกล่าวอ้าง จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลในทางแพ่ง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง พันเอกหญิง นวรัตน์ สุวรรณทัต ผู้ฟ้องคดี กรมที่ดิน ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี นายกัมปนาท จันโอทาน ผู้ร้องสอด อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share