คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3659/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ ป.วิ.อ. มาตรา 188 จะบัญญัติว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ได้อ่านในศาลโดยเปิดเผยเป็นต้นไป แต่คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ 3 คืนหรือชดใช้เงินแก่โจทก์ร่วมทั้งสาม ก็ยังไม่มีผลให้โจทก์ร่วมทั้งสามซึ่งเป็นผู้เสียหายสามารถบังคับคดีได้ทันที เพราะคำพิพากษาในส่วนเรียกทรัพย์สินหรือราคาที่ยังไม่ได้คืนเนื่องจากการกระทำความผิดเป็นส่วนหนึ่งแห่งคำพิพากษาในคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44 วรรคสอง ซึ่งการบังคับคดีต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. ว่าด้วยเรื่องการบังคับตามคำพิพากษา เมื่อ ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคหนึ่ง กำหนดให้การบังคับตามคำพิพากษาในคดีอาญาจะกระทำได้ต่อเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ดังนั้นในระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุด โจทก์ร่วมทั้งสามจึงยังไม่อาจบังคับตามคำพิพากษาในส่วนเรียกทรัพย์สินหรือราคาที่ยังไม่ได้คืนเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ได้ การออกหมายบังคับคดีจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4, 5, 12 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 83 ให้จำคุก 7 ปี กับให้ร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินแก่โจทก์ร่วมที่ 1 จำนวน 707,720 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 2 จำนวน 275,000 บาท และแก่โจทก์ร่วมที่ 3 จำนวน 550,000 บาท ระหว่างอุทธรณ์ โจทก์ร่วมที่ 1 ขอออกหมายบังคับคดี ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีที่ 659/2549 ต่อมาภายหลังศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษา โจทก์ร่วมที่ 1 แถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีต่อไป และนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 74861 เลขที่ดิน 732 ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างไม่ติดเลขทะเบียนจำนวน 2 หลัง เพื่อนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้
จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องว่า ภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จำเลยที่ 3 ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 และภายหลังศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษา จำเลยที่ 3 ยื่นฎีกา คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา คดีจึงยังไม่ถึงที่สุด โจทก์ร่วมที่ 1 บังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ในชั้นนี้ยังไม่ได้ ทั้งจำเลยที่ 3 ได้ยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีไว้ ขอให้ศาลเพิกถอนหมายบังคับคดีที่ 659/2549 และเพิกถอนการยึดทรัพย์ที่ดินดังกล่าว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า การบังคับคดีให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์สิน ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 249 ไม่จำต้องรอให้คดีถึงที่สุดเสียก่อน และไม่ปรากฏว่าหมายบังคับคดีออกโดยมิชอบอย่างไร ทั้งคดีล่วงเลยการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 แล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการบังคับคดี ยกคำร้อง
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับเป็นว่า ให้เพิกถอนหมายบังคับคดีของศาลชั้นต้นและเพิกถอนการยึดทรัพย์ที่ดินโฉนดเลขที่ 74861 เลขที่ดิน 732 ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างไม่ติดเลขทะเบียนจำนวน 2 หลัง ของจำเลยที่ 3 และแจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ
โจทก์ร่วมทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งสามว่า การออกหมายบังคับคดีชอบหรือไม่ โดยโจทก์ร่วมทั้งสามฎีกาว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นย่อมมีผลทั้งทางแพ่งและอาญานับแต่วันที่ได้อ่านอย่างเปิดเผย โจทก์ร่วมที่ 1 ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาได้นับแต่วันดังกล่าว หากจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาส่วนแพ่งไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาและไม่ได้ขอทุเลาการบังคับคดี โจทก์ร่วมทั้งสามดำเนินการบังคับคดีชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแล้วและไม่จำต้องรอให้คดีถึงที่สุดนั้น เห็นว่า แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 188 จะบัญญัติว่า “คำพิพากษาหรือคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ได้อ่านในศาลโดยเปิดเผยเป็นต้นไป” แต่คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ 3 คืนหรือชดใช้เงินแก่โจทก์ร่วมทั้งสาม ก็ยังไม่มีผลให้โจทก์ร่วมทั้งสามซึ่งเป็นผู้เสียหายสามารถบังคับคดีได้ทันที เพราะคำพิพากษาในส่วนเรียกทรัพย์สินหรือราคาที่ยังไม่ได้คืนเนื่องจากการกระทำผิดเป็นส่วนหนึ่งแห่งคำพิพากษาในคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44 วรรคสอง ซึ่งการบังคับคดีต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยเรื่องการบังคับตามคำพิพากษา เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคหนึ่ง กำหนดให้การบังคับตามคำพิพากษาในคดีอาญาจะกระทำได้ต่อเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ดังนั้นในระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุด โจทก์ร่วมทั้งสามจึงยังไม่อาจบังคับตามคำพิพากษาในส่วนเรียกทรัพย์สินหรือราคาที่ยังไม่ได้คืนเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ได้ การออกหมายบังคับคดีจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่โจทก์ร่วมทั้งสามฎีกาว่า จำเลยที่ 3 มีพฤติการณ์ยักย้ายถ่ายโอนทรัพย์ทำให้โจทก์ร่วมทั้งสามเสียเปรียบนั้น เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมทั้งสามต้องไปว่ากล่าวเอากับจำเลยที่ 3 เอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share