คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1275/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันยอมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ต่อโจทก์ โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2540ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2540 หนี้ที่จำเลยที่ 1 ซื้อสินค้าจากโจทก์ตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2540 ถึงวันที่ 26 มิถุนายน 2540ย่อมอยู่ภายในอายุสัญญาค้ำประกัน แต่สัญญาค้ำประกันได้ระบุเงื่อนไขว่า โจทก์จะต้องยื่นคำเรียกร้องตามหนังสือสัญญาค้ำประกันภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2540 อันเป็นกรณีที่หากมีการผิดสัญญาซึ่งผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดแล้ว โจทก์จะต้องแจ้งข้อเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ทราบภายในกำหนดนั้น ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาค้ำประกัน โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาค้ำประกันได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ปฏิบัติตามเงื่อนไขแล้วเสียก่อนการที่โจทก์มีหนังสือทวงถามจำเลยที่ 2 ให้รับผิดในหนี้ดังกล่าวไปถึงจำเลยที่ 2 เกินกำหนดเวลาในเงื่อนไขนั้น จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าสัญญาค้ำประกัน คือ สัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ค้ำประกันผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น และมาตรา 680 วรรคสอง บัญญัติว่าสัญญาค้ำประกันถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ซึ่งมีความหมายว่า สัญญาค้ำประกันต้องการเพียงหลักฐานเป็นหนังสือที่ผู้ค้ำประกันลงชื่อฝ่ายเดียวก็ใช้บังคับได้แล้ว ไม่จำต้องลงลายมือชื่อโจทก์ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม 2540 ถึงวันที่ 26 มิถุนายน2540 จำเลยที่ 1 ได้สั่งซื้อสินค้าประเภทวัสดุก่อสร้างไปจากโจทก์หลายครั้งรวมค่าสินค้าและค่าขนส่งเป็นเงิน 1,126,267.99 บาท เมื่อถึงกำหนดชำระเงิน จำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ครบกำหนดจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 187,682.59 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,313,950.58 บาท จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมเป็นเงิน 800,000 บาท ของหนี้ค่าสินค้าที่จำเลยที่ 1สั่งซื้อจากโจทก์ในระหว่างวันที่ 9 พฤษภาคม 2540 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม2540 ด้วย เมื่อถึงกำหนดชำระเงินจำเลยที่ 2 เพิกเฉย โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2540 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน62,301.37 บาท รวมเป็นเงิน 862,301.37 บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ 1ชำระเงินจำนวน 1,313,950.58 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 1,126,267.99 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระเงินจำนวน 862,301.37 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 800,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยซื้อหรือสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์โจทก์สามารถเรียกหลักประกันจากจำเลยที่ 2 ได้จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1จนกว่าจะไม่ได้รับชำระหนี้ตามหนังสือค้ำประกันจากจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันแบบมีกำหนดเวลา โจทก์ได้มีหนังสือขอให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันเมื่อพ้นกำหนดเวลาแล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน1,220,109.28 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน1,126,267.99 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 14 กันยายน 2541)จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1กันยายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ พร้อมยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีในระหว่างอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับและสั่งยกคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีในระหว่างอุทธรณ์

โจทก์ยื่นคำขอให้ออกหมายบังคับคดี ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีให้จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนหมายบังคับคดี ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ

จำเลยที่ 2 ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นเกี่ยวกับคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันรับฟังเป็นยุติโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งว่า จำเลยที่ 1 ได้สั่งซื้อสินค้าประเภทวัสดุก่อสร้างจากโจทก์หลายครั้ง ค่าขนส่งเป็นเงิน 41,000 บาท ค่าสินค้าเป็นเงิน1,085,267.99 บาท ตามเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.17 โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของค่าขนส่งและค่าสินค้าที่ครบกำหนดชำระในแต่ละงวดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 187,682.59 บาท ตามเอกสารหมาย จ.19จำเลยที่ 2 ทำหนังสือค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมวงเงิน 800,000 บาทของหนี้ค่าสินค้าที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อจากโจทก์ในระหว่างวันที่ 9 พฤษภาคม2540 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2540 ตามเอกสารหมาย จ.20 และ จ.21 เมื่อครบกำหนดชำระเงิน โจทก์ทวงถาม จำเลยทั้งสองเพิกเฉย

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน เอกสารหมาย จ.20 และ จ.21 เพราะโจทก์มิได้ยื่นคำเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันสิ้นสุดสัญญาหรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของนายนิพนธ์ พนมธรรม ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 สั่งซื้อวัสดุก่อสร้างจากโจทก์ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2540ถึงวันที่ 26 มิถุนายน 2540 รวม 14 ครั้ง โจทก์วางใบเสร็จเรียกเก็บเงินแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินค่าสินค้าและค่าขนส่ง จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.20 และ จ.21 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2540 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2540 ดังนั้น หนี้ที่เกิดจากจำเลยที่ 1 สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2540 ถึงวันที่ 26มิถุนายน 2540 หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ยอมชำระแก่โจทก์ย่อมอยู่ภายในอายุสัญญาค้ำประกัน โดยสัญญาค้ำประกันทั้งสองฉบับได้ระบุเงื่อนไขว่าโจทก์จะต้องยื่นคำเรียกร้องตามหนังสือสัญญาค้ำประกันภายในกำหนด15 วัน นับแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2540 อันเป็นวันสิ้นสุดสัญญา เห็นว่าคำเรียกร้องตามเงื่อนไขในสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นกรณีที่หากเป็นการผิดสัญญาซึ่งผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันแล้วโจทก์จะต้องแจ้งข้อเรียกร้องที่จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันต้องรับผิด ให้จำเลยที่ 2ทราบภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2540 ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาค้ำประกัน โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาค้ำประกันได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาค้ำประกันดังกล่าวแล้วเสียก่อน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏจากคำเบิกความตอบคำถามค้านของผู้รับมอบอำนาจโจทก์ว่าโจทก์ทวงถามจำเลยที่ 2 ให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน ในวันที่ 18 มิถุนายน 2541 และจำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือในวันที่ 19 มิถุนายน 2541 จึงเกินกำหนดเวลาในเงื่อนไขที่ระบุไว้ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.20 และ จ.21 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าหนังสือค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.20และ จ.21 เป็นนิติกรรมฝ่ายเดียวไม่ผูกพันโจทก์ในข้อยกเว้นตามเอกสารดังกล่าว ข้อ 3 นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าสัญญาค้ำประกัน คือ สัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ค้ำประกันผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น และมาตรา 680 วรรคสอง บัญญัติว่า สัญญาค้ำประกันถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ซึ่งมีความหมายว่า สัญญาค้ำประกันต้องการเพียงหลักฐานเป็นหนังสือที่ผู้ค้ำประกันลงชื่อฝ่ายเดียวก็ใช้บังคับได้แล้ว ไม่จำต้องลงลายมือชื่อโจทก์ด้วย จึงจะถือว่าผูกพันโจทก์ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น เมื่อจำเลยที่ 2ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นโดยตรงต่อศาลฎีกา เพื่อให้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นการขัดต่อบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 272 วรรคหนึ่ง และมาตรา 276 วรรคหนึ่งหรือไม่ ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ

Share