คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 947/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรม ซึ่งตามบทบัญญัติมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521ได้ให้คำนิยามไว้ว่าหมายความรวมถึงหนังสือเพลงและโน้ตเพลงด้วยเมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือเพลงและโน้ตเพลงและโจทก์ได้บรรยายชื่อหนังสือเพลงที่โจทก์จัดพิมพ์พร้อมทั้งปีที่จัดพิมพ์ แล้วได้ระบุชื่อหนังสือเพลงที่จำเลยจัดพิมพ์ขึ้นอันเป็นการละเมิดสิทธิ์ของโจทก์โดยกล่าวอ้างด้วยว่าในหนังสือเพลงของจำเลยได้ลอกเลียนเพลงที่โจทก์เรียบเรียงประมาณ 10 เพลง ย่อมเป็นการบรรยายฟ้องที่แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับและข้ออ้างซึ่งเป็นหลักแห่งข้อหาชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 172 วรรคสองแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แล้ว หาจำต้องระบุชื่อเพลงที่อ้างว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ เพราะเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของและผู้เรียบเรียงโน้ตเพลงไทยสากล โดยทำเป็นหนังสือประเภทความรู้เกี่ยวกับการเล่นดนตรี ใช้นามปากกาว่า “สิงขร สอนขัน” จัดพิมพ์จำหน่ายเมื่อปี 2528 และ 2529 ใช้ชื่อว่า “เล่นดนตรีวิธีง่าย” ต่อมาปี2530 โจทก์ได้จัดพิมพ์ใหม่ใช้ชื่อว่า “เพลงง่าย ๆ” และปี 2531 ได้จัดพิมพ์หนังสือเพลงใช้ชื่อว่า “เพลงอมตะ” ออกจำหน่ายเมื่อประมาณปลายปี 2531 โจทก์ได้ตรวจสอบตลาดหนังสือแนวเดียวกันกับของโจทก์พบว่าจำเลยได้จัดพิมพ์หนังสือเพลงเกี่ยวกับการเล่นดนตรีของสำนักพิมพ์ชุณหสาส์น ชุด “ซุปเปอร์ฮิตอีเลคโทน” โดยลอกเลียนเพลงของโจทก์ประมาณ 10 เพลง ออกจำหน่าย โจทก์แจ้งให้จำเลยงดจำหน่ายจำเลยสัญญาว่าจะไม่ละเมิดสิทธิของโจทก์อีก ต่อมาประมาณ 3-4 เดือนจำเลยได้พิมพ์หนังสือเพลงออกจำหน่ายอีกใช้ชื่อว่า “ฮัลโหลมิวสิค””เพลงรักคลายเหงา” “เพลงรักวัยหวาน” “สีสันเสียงเพลง””เพลงฮิตอีเลคโทน” และ “เบทส์ฮิตอีเลคโทน” แต่ละเล่มมีโน้ตเพลงของโจทก์รวมอยู่ด้วย เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 100,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปกับให้จำเลยงดการผลิตและจำหน่ายหนังสือที่ละเมิดต่อโจทก์
จำเลยให้การว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม เพราะมิได้บรรยายให้จำเลยทราบว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เพลงอะไร รูปแบบไหนหรือโน้ตเพลงใดทั้งมิได้แนบเอกสารเกี่ยวกับเพลงที่โจทก์คิดค้นหรือเพลงใดที่จำเลยลอกเลียนเพลงโจทก์มาด้วย ทำให้จำเลยไม่สามารถเข้าใจข้อหาหรือสภาพแห่งข้อหาได้การเรียบเรียงโน้ตเพลงตามที่โจทก์อ้างมิใช่เป็นลิขสิทธิ์ โจทก์มิได้เป็นเจ้าของผู้ริเริ่มสร้างสรรค์และออกแบบเรียบเรียงโน้ตเพลง โจทก์ไม่เคยทำหนังสือประเภทความรู้เกี่ยวกับการเล่นดนตรี หรือใช้นามปากกาว่า”สิงขร สอนขัน” โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง หนังสือเพลงใช้ชื่อว่า”ฮัลโหลมิวสิค” “เพลงรักคลายเหงา” “เพลงรักวัยหวาน” มิใช่หนังสือเพลงของจำเลยผลิตออกจำหน่าย จำเลยไม่เคยลอกเลียนแบบหนังสือเพลงโจทก์ หากจะฟังว่าโจทก์เสียหาย โจทก์เสียหายไม่เกิน 1,000 บาทและฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้เพียงว่าคำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าฟ้องโจทก์เป็นการฟ้องข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมซึ่งตามบทบัญญัติมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521ได้ให้คำนิยามไว้ว่า หมายความรวมถึงหนังสือเพลงและโน้ตเพลงด้วยฉะนั้นเมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือเพลงและโน้ตเพลงและโจทก์ได้บรรยายชื่อหนังสือเพลงที่โจทก์ได้จัดพิมพ์ทั้งปีที่ได้จัดพิมพ์แล้วได้ระบุชื่อหนังสือเพลงที่จำเลยจัดพิมพ์ขึ้นอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยได้กล่าวอ้างด้วยว่าในหนังสือเพลงของจำเลยได้ลอกเลียนเพลงที่โจทก์เรียบเรียงประมาณ10 เพลง ย่อมเป็นการบรรยายฟ้องที่แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาคำขอบังคับ และข้ออ้างซึ่งเป็นหลักแห่งข้อหา ชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 172 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแล้วหาจำต้องระบุชื่อเพลงที่อ้างว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ไม่เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ คำฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share