แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ในวันนัดชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นสอบถามข้อเท็จจริงจากคู่ความเกี่ยวกับคำร้องของจำเลยทั้งหกที่ขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ คู่ความแถลงรับว่าได้มีการทำสัญญาพิพาท และโจทก์รับด้วยว่าฝ่ายจำเลยได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการแล้ว ศาลชั้นต้นได้บันทึกข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา อันถือได้ว่าเป็นการไต่สวนตามพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 แล้ว ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีได้
ข้อตกลงระงับข้อพิพาทในสัญญาพิพาทระบุว่า ถ้ามีข้อพิพาทไม่ว่าชนิดใดก็ตามเกิดขึ้นระหว่างคู่กรณีที่เกี่ยวกับหรือสืบเนื่องจากสัญญาหรือทำงานตามสัญญา ไม่ว่าระหว่างการทำงานหรือภายหลังจากที่ทำงานแล้วเสร็จและไม่ว่าก่อนหรือหลังการบอกเลิกสัญญาหรือยุติสัญญาด้วยวิธีอื่นซึ่งรวมถึงข้อพกพาทอื่นๆ ข้อพิพาทนั้นจะต้องเสนอไปยังวิศวกรที่ปรึกษาโดยคำตัดสินดังกล่าวสามารถถูกทบทวนโดยการยุติปัญหาด้วยการประนีประนอมหรือโดยอนุญาโตตุลาการ เมื่อคำฟ้องของโจทก์อ้างว่าสัญญาพิพาทเป็นโมฆะเนื่องจากโจทก์แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในตัวคู่สัญญาซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมและต้องการให้จำเลยทั้งหกร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยที่ได้ไปจากโจทก์คืน จึงเป็นกรณีที่มีข้อพิพาทระหว่างคู่กรณีเกี่ยวข้องกับสัญญาพิพาทดังกล่าวซึ่งต้องมีการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 24 บัญญัติว่า คณะอนุญาโตตุลการมีอำนาจวินิจฉัยความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการ และเพื่อวัตถุประสงค์นี้ให้ถือว่าข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาหลักเป็นข้อสัญญาแยกต่างหากจากสัญญาหลัก เมื่อโจทก์อ้างว่าสัญญาพิพาทตกเป็นโมฆะและส่งผลต่อความเป็นโมฆะถึงข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการที่ใช้ในอนุญาโตตุลาการจึงอยู่ในอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการที่จะทำการวินิจฉัย คู่สัญญาจึงต้องไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการตามพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2540 โจทก์ทำสัญญาจ้างเหมาจำเลยทั้งหก และบริษัทนอร์ธเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ออกแบบรวมก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียโครงการบำบัดน้ำเสีย จังหวัดสมุทรปราการ ในการเข้าทำสัญญาดังกล่าวโจทก์พิจารณาถึงความสำคัญของบริษัทนอร์ธเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่จะเป็นผู้ปฏิบัติการและบำรุงรักษาระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย เนื่องจากมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว โจทก์เข้าใจว่าบริษัทนอร์ธเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้ร่วมเป็นกิจการร่วมค้ากับจำเลยทั้งหกและร่วมทำสัญญาดังกล่าวกับโจทก์ด้วย ต่อมาคณะกรรมการตรวจสอบและเสนอแนะการบริหารสัญญาโครงการจัดการน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรปราการ ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าบริษัทนอร์ธเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ไม่ได้รู้เห็นหรือเห็นชอบในการที่เข้าทำสัญญากับโจทก์ จำเลยทั้งหกรู้อยู่แล้ว แต่กลับไม่ได้แจ้งถึงเรื่องดังกล่าวจึงเป็นการปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกให้แจ้งแก่โจทก์ซึ่งสาระสำคัญในตัวบุคคลและเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้แทน จำเลยทั้งหกขอกล่าวอ้างว่า สัญญาเลขที่ 75/2540 ระหว่างโจทก์กับกิจการร่วมค้าระหว่างจำเลยทั้งหก และบริษัทนอร์ธเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นโมฆะแล้ว เมื่อโจทก์ได้จ่ายเงินให้แก่จำเลยทั้งหกและค่าควบคุมงานช่วงการขยายเวลาก่อสร้างให้แก่ที่ปรึกษาไปเป็นเงิน 17,045,889,431.40 บาท และ 121,343,887.19 ดอลลาร์สหรัฐ จำเลยทั้งหกต้องร่วมกันและแทนกันคืนเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งหกให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์มิได้สำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรมอันเป็นสาระสำคัญแห่งสัญญา แต่สำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลนั้นซึ่งมิใช่สาระสำคัญที่โจทก์จะอ้างว่าสัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะ และความสำคัญผิดดังกล่าวเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ ประกอบกับเมื่อโจทก์ทราบว่าบริษัทนอร์ธเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ถอนตัวจากกิจการร่วมค้าไปแล้ว โจทก์ยังให้จำเลยทั้งหกดำเนินงานตามโครงการต่อไป และอนุมัติให้บริษัทสมุทรปราการ โอเปอเรทติ้ง จำกัด เข้าเป็นคู่สัญญาแทน ถือว่าโจทก์และจำเลยทั้งหกตกลงกันใหม่ให้จำเลยทั้งหกและบริษัทสมุทรปราการ โอเปอเรทติ้ง จำกัด ดำเนินงานตามโครงการต่อไป ซึ่งโจทก์ตรวจรับงานและชำระเงินค่าจ้างตลอดมา โจทก์จึงไม่มีสิทธิกล่าวอ้างความเป็นโมฆะในข้อตกลงใหม่นี้ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งหกยื่นคำร้องขอให้จำหน่ายคดีตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีโจทก์ออกจากสารบบความ เพื่อให้โจทก์และจำเลยทั้งหกไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการตามความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 คืนค่าขึ้นศาลให้โจทก์ทั้งหมด
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า คำสั่งงดการไต่สวนและจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้นชอบหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยทั้งหกขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการนั้น ศาลต้องไต่สวนก่อนมีคำสั่งจำหน่ายคดีตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 ซึ่งในวันนัดชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นสอบถามข้อเท็จจริงจากคู่ความเกี่ยวกับคำร้องของจำเลยทั้งหกที่ขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ คู่ความแถลงรับว่าได้มีการทำสัญญาพิพาท และโจทก์รับด้วยว่าฝ่ายจำเลยได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการแล้ว และศาลชั้นต้นบันทึกข้อเท็จจริงดังกล่าวในรายงานกระบวนพิจารณา อันถือได้ว่าเป็นการไต่สวนแล้ว ศาลจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีได้ คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานและมีคำสั่งจำหน่ายคดีจึงชอบแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรมหรือต้องดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ โจทก์ฎีกาว่า สัญญาพิพาทตกเป็นโมฆะและเสียเปล่ามาแต่ต้น และย่อมส่งผลต่อความเป็นโมฆะเสียเปล่าไปยังข้อสัญญาอื่นรวมทั้งข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการที่ใช้ในการระงับข้อพิพาททางแพ่งด้วย คดีจึงไม่ต้องดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ เห็นว่า สำหรับการระงับข้อพิพาท ในสัญญาพิพาทข้อ 67.1 ถึง 67.3 ระบุว่า ถ้ามีข้อพิพาทไม่ว่าชนิดใดก็ตามเกิดขึ้นระหว่างคู่กรณีที่เกี่ยวข้องกับหรือสืบเนื่องจากสัญญา หรือทำงานตามสัญญา ไม่ว่าระหว่างการทำงานหรือภายหลังจากที่ทำงานแล้วเสร็จ และไม่ว่าก่อนหรือหลังการบอกเลิกสัญญาหรือยุติสัญญาด้วยวิธีอื่น ซึ่งรวมถึงข้อพิพาทอื่นๆ ข้อพิพาทนั้นจะต้องเสนอไปยังวิศวกรที่ปรึกษา โดยคำตัดสินดังกล่าวสามารถถูกทบทวน โดยการยุติปัญหาด้วยการประนีประนอมหรือโดยอนุญาโตตุลาการ เมื่อโจทก์อ้างมาในคำฟ้องว่าสัญญาพิพาทเป็นโมฆะเนื่องจากโจทก์แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในตัวคู่สัญญาซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม และต้องการให้จำเลยทั้งหกร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยที่ได้ไปจากโจทก์คืน จึงเป็นกรณีที่มีข้อพิพาทระหว่างคู่กรณีเกี่ยวข้องกับสัญญาพิพาทดังกล่าว ซึ่งต้องมีการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการตามที่ระบุไว้ในสัญญาพิพาท ส่วนที่โจทก์อ้างว่าสัญญาพิพาทตกเป็นโมฆะ และย่อมส่งผลต่อความเป็นโมฆะถึงข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการที่ใช้ในการระงับข้อพิพาททางแพ่งด้วยนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 24 บัญญัติว่า คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจวินิจฉัยความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการ และเพื่อวัตถุประสงค์นี้ให้ถือว่าข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาหลักเป็นข้อสัญญาแยกต่างหากจากสัญญาหลัก ดังนั้น เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าสัญญาพิพาทตกเป็นโมฆะ และส่งผลต่อความเป็นโมฆะถึงข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการที่ใช้ในการระงับข้อพิพาทซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการจึงอยู่ในอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการที่จะทำการวินิจฉัย การที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาให้จำหน่ายคดีตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 14 เพื่อให้คู่สัญญาไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ