คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1269/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระเบียบของจำเลยที่กำหนดให้พนักงานพ้นจากหน้าที่เมื่ออายุ 60 ปี แต่ก็อาจต่ออายุการทำงานให้ได้ มิใช่เป็นการกำหนดระยะเวลาการจ้าง แต่เป็นเรื่องคุณสมบัติของลูกจ้าง เมื่อจำเลยให้พนักงานออกจากงานตามระเบียบนั้น จึงอยู่ในความหมายของการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46
สิทธิเรียกร้องค่าชดเชยเป็นทรัพย์สิน มิใช่สิทธิเฉพาะตัวหากลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยแล้วตาย จึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท และทายาททุกคนเป็นเจ้าของรวมในกองมรดกที่ยังมิได้แบ่ง ทายาทแต่ละคนจึงอาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์รวมครอบไปถึงกองมรดกทั้งหมดได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ภ. ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำของจำเลย จำเลยเลิกจ้าง ภ. เพราะเกษียณอายุโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ภ. ตาย ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย

จำเลยให้การว่า ระเบียบข้อบังคับของจำเลยกำหนดว่าลูกจ้างต้องออกจากงานเมื่ออายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ เป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน เมื่อ ภ. มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ มีวัตถุประสงค์คุ้มครองแรงงานลูกจ้างเท่านั้นจึงเป็นสิทธิเฉพาะตัว เมื่อลูกจ้างตายสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองแรงงานก็เป็นอันสิ้นสุดไม่เป็นสิทธิที่จะรับมรดกกันได้

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ระเบียบของจำเลยให้พนักงานซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์เป็นอันพ้นจากหน้าที่การงาน แต่จำเลยก็อาจจะพิจารณาต่ออายุการทำงานให้แก่พนักงานได้ ระเบียบนี้จึงมิใช่เป็นการกำหนดระยะเวลาการจ้าง เพราะมิใช่เป็นการตกลงกันว่าจะจ้างกันจนกว่าลูกจ้างจะมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ แต่เป็นเรื่องคุณสมบัติของลูกจ้างเป็นการทั่วไป เมื่อพนักงานซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์เป็นเหตุหนึ่งที่จำเลยจะต้องให้ออกจากงาน จึงอยู่ในความหมายของการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้

สิทธิเรียกร้องค่าชดเชยเป็นทรัพย์สิน หากลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายแล้วตาย ค่าชดเชยย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท มิใช่สิทธิเฉพาะตัว แม้ลูกจ้างผู้ตายจะมีทายาทหลายคนและโจทก์ไม่ได้ฟ้องคดีในฐานะผู้จัดการมรดกหรือในฐานะเป็นผู้รับมอบอำนาจจากบรรดาทายาททั้งหลาย แต่ทายาททุกคนเป็นเจ้าของรวมในกองมรดกที่ยังมิได้แบ่งของผู้ตาย ฉะนั้น ทายาทแต่ละคนจึงอาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์รวมครอบไปถึงกองมรดกทั้งหมดได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359 โจทก์เป็นทายาทคนหนึ่งของ ภ. ผู้ตาย จึงย่อมมีสิทธิฟ้องจำเลยให้ชำระค่าชดเชยทั้งหมดได้

พิพากษายืน

Share