แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จ. จะได้รับใบอนุญาตขนแร่ของกลาง 100 กระสอบ แต่ยังมีแร่ที่ขนปริมาณเกินกว่าที่ได้รับอนุญาตอีก 20 กระสอบ ซึ่งเป็นปริมาณเกินกว่าร้อยละห้าของแร่ที่ได้รับใบอนุญาตให้ขน ตามพระราชบัญญัติแร่ มาตรา 110 ให้ถือว่าแร่ที่ขนทั้งสิ้นเป็นแร่ที่ขนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และต้องริบตามมาตรา 154
พระราชบัญญัติแร่ มาตรา 10 ระบุว่า ในกรณีความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ ได้กระทำโดยตัวแทนหรือลูกจ้าง ให้ถือว่าผู้รับใบอนุญาตเป็นตัวการในการกระทำผิดนั้น จึงเป็นบทบัญญัติว่าด้วยความรับผิดในการกระทำของผู้อื่นที่กฎหมายประสงค์จะให้ผู้รับใบอนุญาต รับผิดชอบในการกระทำของตัวแทนหรือลูกจ้างของตน โดยมิต้องอาศัยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 ดังนั้น แม้ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จ. เจ้าของแร่ ผู้รับใบอนุญาตจะมิได้ร่วมรู้เห็นกับลูกจ้างในการขนแร่เกินกว่าที่ได้รับใบอนุญาต ก็ต้องถือว่าเป็นตัวการในการกระทำผิดฐานขนแร่โดยไม่ได้รับใบอนุญาต หาใช่เป็นผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นในในการกระทำความผิดตามความหมายของมาตรา 154 ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกมีแร่ดีบุกปนทรายจำนวน ๑๒๐ กระสอบ หนัก ๖,๑๐๐.๓ กิโลกรัม อันเป็นการมีไว้ในความครอบครองเกินกว่าสองกิโลกรัมโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันขนแร่ดีบุกดังกล่าวโดยมิได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติแร่ และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า แร่ของกลางส่วนหนึ่งจำนวน ๑๐๐ กระสอบ เป็นของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จ. มีใบอนุญาตขนและเสียค่าภาคหลวงถูกต้องตามกฎหมาย ได้ให้ บ.ลูกจ้างควบคุมขนแร่จำนวนดังกล่าวไปขาย ระหว่างทาง บ. ได้รับแร่ของกลางส่วนที่เหลืออีก ๒๐ กระสอบ ซึ่งเป็นของผู้มีชื่อขึ้นบรรทุกไปในรถด้วย จำเลยขับรถมาขนถ่ายแร่ เพราะรถคันแรกเสีย จำเลยไม่ใช่เจ้าของแร่และไม่มีเจตนาร่วมในการกระทำผิด กรณีไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.๒๕๑๐ มาตรา ๑๑๐ พิพากษายกฟ้อง ริบแร่ของกลาง ๒๐ กระสอบ คืนแร่ของกลางอีก ๑๐๐ กระสอบให้แก่เจ้าของ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงที่ว่า แร่ของกลางเป็นของจำเลยหรือไม่ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๓ ทวิ ส่วนปัญหาข้อกฎหมายวินิจฉัยว่า บ.เป็นผู้แทนและลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จ.ยินยอมให้ขนแร่ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปกับแร่ที่ได้รับอนุญาตจนปริมาณเกินกว่าร้อยละห้า ต้องถือว่าแร่ที่ขนทั้งสิ้นเป็นแร่ที่ขนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.๒๕๑๐ มาตรา ๑๑๐ และห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จ. เป็นตัวการตามมาตรา ๑๐ แร่ของกลางต้องริบตามมาตรา ๑๕๔ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบแร่ของกลางที่เหลือจำนวน ๑๐๐ กระสอบด้วย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาว่าแร่ของกลางจำนวน ๑๐๐ กระสอบ เป็นทรัพย์ที่จะต้องริบตามพระราชบัญญัติแร่ มาตรา ๑๕๔ หรือไม่ เห็นว่าพระราชบัญญัติแร่ มาตรา ๑๐๘ ห้ามมิให้ผู้ใดขนแร่ในที่ใด เว้นแต่เป็นแร่ที่ได้รับใบอนุญาตขนแร่ ฯลฯ แม้ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จ. จะได้รับใบอนุญาตขนแร่ของกลาง ๑๐๐ กระสอบ แต่ยังมีแร่ที่ขนปริมาณเกินกว่ากำหนดอีก ๒๐ กระสอบ ซึ่งเป็นปริมาณเกินกว่าร้อยละห้าของแร่ที่ได้รับใบอนุญาตให้ขน ตามพระราชบัญญัติแร่ มาตรา ๑๑๐ ให้ถือว่าแร่ที่ขนทั้งสิ้นเป็นแร่ที่ขนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และต้องริบตามมาตรา ๑๕๔
ที่จำเลยฎีกาว่า มาตรา ๑๕๔ ยกเว้นไม่ให้ริบทรัพย์ของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดนั้น มาตรา ๑๐ ระบุว่า ในกรณีความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ได้กระทำโดยตัวแทนหรือลูกจ้าง ให้ถือว่าผู้รับใบอนุญาตเป็นตัวการในการกระทำความผิดนั้น เป็นบทบัญญัติว่าด้วยความรับผิดในการกระทำของผู้อื่นที่กฎหมายประสงค์จะให้ผู้รับใบอนุญาตรับผิดชอบในการกระทำของตัวแทนหรือลูกจ้าง กฎหมายได้บัญญัติไว้ชัดแจ้ง จึงไม่ต้องอาศัยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๙ ดังที่จำเลยฎีกา ดังนั้น แม้ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จ. เจ้าของแร่ผู้รับใบอนุญาตจะมิได้ร่วมรู้เห็นกับลูกจ้าง ในการขนแร่เกินกว่าที่ได้รับใบอนุญาต ก็ต้องถือว่าเป็นตัวการในการกระทำผิดฐานขนแร่โดยไม่ได้รับใบอนุญาต หาใช่ผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นในในการกระทำความผิดตามความหมายของมาตรา ๑๕๔ ไม่ ศาลอุทธรณ์อ้างเหตุตามมาตรา ๑๐ มาวินิจฉัยเพื่อแสดงว่าแร่ดีบุกของกลาง ๑๐๐ กระสอบ เป็นของต้องริบตามกฎหมายซึ่งโจทก์มีคำขอให้ริบ แม้โจทก์จะไม่ได้อ้างมาตรา ๑๐ ก็ไม่เป็นการนอกฟ้อง
พิพากษายืน