คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2122/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หมายเรียกและหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลของกรมสรรพากรโจทก์ที่แจ้งไปยังบริษัท อ.ซึ่งอยู่ต่างประเทศโดยพ. ในฐานะผู้ทำการแทนแสดงให้เห็นอยู่ในตัวแล้วว่าโจทก์ได้เรียก พ. ผู้มีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเฉพาะที่เกี่ยวกับเงินได้หรือผลกำไรที่ผู้ทำการแทนเป็นผู้ทำให้บริษัทดังกล่าวได้รับในประเทศไทยมาไต่สวนและแจ้งจำนวนเงินที่ประเมินไปยังบุคคลผู้มีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษี เพื่อที่บุคคลนั้นจะได้มีโอกาสอุทธรณ์การประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 76 ทวิ วรรคสาม ก่อนแล้วจึงใช่เป็นการออกหมายเรียกและหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลไปยังบริษัท อ.เพื่อให้รับผิดตามมาตรา 66 เท่านั้น และโจทก์ไม่จำเป็นต้องออกหมายเรียกและหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลไปยัง พ. แยกต่างหากถือได้ว่าเป็นการออกและส่งหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนและหนังสือแจ้งการประเมินทั้งบริษัท อ.และ พ. โดยชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นบริษัทมหาชนจำกัด และเป็นผู้ค้ำประกันนายพี.เอ็ม.บาจาจ ผู้ทำการแทนบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล อินดัสเตรียลแมนเนจเม้นท์ แอนด์ อินเวสเม้นท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งจดทะเบียนนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐปานามามีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไม่มีสำนักงานสาขาในประเทศไทย แต่ได้ประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยให้คำปรึกษาและคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการด้านการเงิน การจัดการโรงงาน การจัดการผลิตภัณฑ์ การจัดการด้านราคาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับกิจการดังกล่าวให้แก่จำเลย บริษัทไทยคาร์บอน แบล็ค จำกัด และบริษัทไทยโพลีฟอสเฟต แอนด์ เคมิคัล จำกัดโดยมีเงินได้จากการให้บริการให้คำปรึกษาและได้จำหน่ายเงินกำไรจากการประกอบกิจการออกไปจากประเทศไทย ดังนั้นนายพี.เอ็ม.บาจาจ ซึ่งเป็นผู้กระทำการแทนบริษัทดังกล่าวจึงต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร มาตรา 76 ทวิและ 70 ทวิ ในปี 2532 บริษัทดังกล่าวได้แจ้งเลิกประกอบกิจการ เจ้าพนักงานของโจทก์จึงตรวจสอบข้อมูลการเสียภาษีในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2529 ถึง2532 พบว่าบริษัทดังกล่าวเสียภาษีไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานของโจทก์จึงออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีอากร แจ้งให้บริษัทดังกล่าว โดยนายพี.เอ็ม.บาจาจในฐานะผู้ทำการแทนส่งบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีเพื่อทำการตรวจสอบ บริษัทดังกล่าวได้รับหมายเรียกแล้ว นายพี.เอ็ม.บาจาจ ในฐานะผู้ทำการแทนได้ไปพบเจ้าพนักงานของโจทก์ตามหมายเรียก แต่ไม่ส่งมอบบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีให้ตรวจสอบและได้ให้ถ้อยคำชี้แจงว่าการดำเนินกิจการของบริษัทดังกล่าวในประเทศไทยได้ส่งตัวแทนคือ นายพี.เอ็ม.บาจาจ มาเช่าสำนักงานเพื่อทำงาน เมื่อได้ดำเนินงานให้คำปรึกษาครบกำหนดตามสัญญา ลูกค้าจะจ่ายค่าบริการและจัดส่งไปให้สำนักงานใหญ่การประกอบกิจการในประเทศไทยมีรายได้ตามที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีอากรไว้แล้ว ส่วนบริษัทดังกล่าวมีรายจ่ายเป็นค่าเดินทาง ค่าพาหนะเงินเดือนของนายพี.เอ็ม.บาจาจ พนักงานผู้ทำการแทนในประเทศไทย ค่าที่พักค่าจ้างที่ปรึกษาอื่น ๆ และรายจ่ายอื่น ๆ ที่จ่ายที่สำนักงานใหญ่ซึ่งไม่สามารถแยกได้ว่าส่วนใดเป็นรายจ่ายในประเทศไทยจำนวนเท่าใด ทำให้บริษัทดังกล่าวไม่สามารถคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทดังกล่าวจึงยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 64 และมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร ภ.ง.ด.50 โดยเสียภาษีอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับ ตามมาตรา 71(1) และยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้จากการจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย ตามแบบยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและการจำหน่ายเงินกำไรตาม มาตรา 70และมาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ภ.ง.ด.54 โดยแสดงรายได้ด้วยวิธีคำนวณกำไรย้อนกลับ (ที่ถูกคำนวณภาษีย้อนกลับไปหากำไร) เจ้าพนักงานของโจทก์เห็นว่าเป็นการชำระภาษีที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย การชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จากการจำหน่ายเงินกำไรนั้น จะต้องคำนวณจากจำนวนเงินที่จำหน่ายตามมาตรา 70 ทวิ และในการดำเนินกิจการของบริษัทดังกล่าวในประเทศไทยนั้น เป็นกิจการที่สามารถคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ประกอบกับบริษัทดังกล่าวมิได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมสรรพากรเพื่อขอชำระภาษีอากรตามมาตรา 71(1) ประกอบด้วยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.13/2529 ลงวันที่ 7 กันยายน 2529 (ที่ถูก 7 เมษายน 2529) เรื่องการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและกระทำกิจการในประเทศไทย ตามมาตรา 66 และมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ในการตรวจสอบภาษีอากรเจ้าพนักงานของโจทก์พบว่าบริษัทดังกล่าวมีรายได้รวมในปี 2529จำนวน 36,231,797.18 บาท ปี 2530 จำนวน 20,045,836.21 บาท และปี 2531 จำนวน 14,014,139.22 บาท เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้ประเมินให้บริษัทดังกล่าวโดยนายพี.เอ็ม.บาจาจ ในฐานะผู้ทำการแทนต้องรับผิดชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2529รวมทั้งสิ้น 41,564,282 บาท ปี 2530 รวมทั้งสิ้น 20,558,083 บาท และปี 2531 รวมทั้งสิ้น 14,472,067 บาท ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายการจำหน่ายเงินกำไรออกจากประเทศไทยตามมาตรา 70 ทวิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2529 รวมทั้งสิ้น 8,623,446 บาท ปี 2530 รวมทั้งสิ้น 3,805,860 บาทและปี 2531 รวมทั้งสิ้น 2,951,584 บาท เจ้าพนักงานของโจทก์ได้แจ้งการประเมินให้บริษัทดังกล่าว โดยนายพี.เอ็ม.บาจาจ ในฐานะผู้ทำการแทนบริษัทดังกล่าวทราบแล้ว บริษัทดังกล่าวอุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้พิจารณาและมีคำวินิจฉัยให้เรียกเก็บภาษีทั้งสิ้น51,198,693.71 บาท บริษัทดังกล่าวได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์เมื่อวันที่ 16กรกฎาคม 2536 และได้ยื่นฟ้องกรมสรรพากรเป็นคดีหมายเลขดำที่ 86/2536ของศาลภาษีอากรกลาง ขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ต่อมาศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 16/2537 บริษัทดังกล่าวอุทธรณ์คำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางไปยังศาลฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2662/2539แต่บริษัทดังกล่าวมิได้ชำระภาษีอากรจำนวน 51,198,693.71 บาท ให้แก่โจทก์บริษัทดังกล่าวจึงต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มแก่โจทก์ตามมาตรา 27 ในอัตราร้อยละ1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีอากรที่ต้องชำระ คิดคำนวณเงินเพิ่มถึงวันฟ้องรวม 13,906,869.33 บาท รวมเป็นค่าภาษีอากรและเงินเพิ่มทั้งสิ้น 65,104,563.04 บาท โจทก์ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ดังกล่าวจากบริษัทดังกล่าวและหรือนายพี.เอ็ม.บาจาจ ผู้ทำการแทนบริษัทดังกล่าวได้ จำเลยเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ภาษีอากรนายพี.เอ็ม.บาจาจ ต่อโจทก์โดยไม่จำกัดจำนวน และมีเงื่อนไขว่าถ้านายพี.เอ็ม.บาจาจ มีหนี้ภาษีอากรค้างชำระ และหรือที่จะต้องชำระแม้ยังไม่ถึงกำหนดชำระไม่ว่าในฐานะส่วนตัวก็ดี หรือในฐานะแทนผู้อื่นก็ดีหากเรียกร้องเอาจากนายพี.เอ็ม.บาจาจ ไม่ได้หรือไม่สะดวกจำเลยยินยอมชำระแทนโดยไม่ต้องเรียกร้องให้นายพี.เอ็ม.บาจาจ ชำระก่อน จำเลยยอมรับผิดตามสัญญาค้ำประกันไม่ว่านายพี.เอ็ม.บาจาจ ผู้ยื่นคำร้องขอรับใบผ่านภาษีอากรจะเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยภายในกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในคำร้องขอใบผ่านภาษีอากรหรือไม่ก็ตาม จำเลยจะไม่เพิกถอนสัญญาค้ำประกันในระหว่างที่นายพี.เอ็ม.บาจาจ ต้องรับผิดชอบอยู่ตามกฎหมาย โจทก์ทวงถามจำเลยแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินภาษีอากรจำนวน65,105,563.04 บาท แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า นายพี.เอ็ม.บาจาจ ไม่ต้องรับผิดชำระค่าภาษีอากรของบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล อินดัสเตรียล แมนเนจเม้นท์ แอนด์ อินเวสเม้นท์คอร์ปอเรชั่น จำกัด ต่อโจทก์ เพราะโจทก์ไม่ได้หมายเรียกนายพี.เอ็ม.บาจาจผู้เป็นลูกจ้างหรือผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อซึ่งต้องรับผิดดังกล่าวมาไต่สวนและแจ้งจำนวนเงินที่ประเมินไปยังนายพี.เอ็ม.บาจาจ ในฐานะส่วนตัวเพื่อให้โอกาสอุทธรณ์การประเมินตามความในประมวลรัษฎากร มาตรา 76 ทวิวรรคสามก่อน การที่โจทก์ออกหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนและแจ้งการประเมินภาษีไปยังบริษัทดังกล่าวไม่เป็นเหตุให้โจทก์มีอำนาจประเมินภาษีหรือฟ้องนายพี.เอ็ม.บาจาจ ต่อศาลได้ทันทีเพราะบริษัทดังกล่าวเป็นนิติบุคคลแยกต่างจากนายพี.เอ็ม.บาจาจ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องนายพี.เอ็ม.บาจาจให้ต้องรับผิดตามมาตรา 76 ทวิ และย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันนายพี.เอ็ม.บาจาจ ให้ต้องรับผิดเช่นเดียวกัน และในขณะที่

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน65,105,563.04 บาท แก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นตามคำฟ้องคำให้การและที่คู่ความรับกันในชั้นชี้สองสถานว่าบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนลอินดัสเตรียล แมนเนจเม้นท์ แอนด์ อินเวสเม้นท์คอร์ปอเรชั่น จำกัด จดทะเบียนนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐปานามา มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ไม่มีสำนักงานสาขาในประเทศไทย มีนายพี.เอ็ม.บาจาจ เป็นผู้ทำการแทนในการประกอบกิจการให้คำปรึกษาและคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการด้านการเงิน การจัดการโรงงาน การจัดการผลิตภัณฑ์ การจัดการด้านราคาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับกิจการดังกล่าวให้แก่จำเลย บริษัทไทยคาร์บอน แบล็ค จำกัด และบริษัทไทยโพลีฟอสเฟต แอนด์ เคมิคัล จำกัด ในประเทศไทย เป็นเหตุให้บริษัทดังกล่าวได้รับเงินได้ในประเทศไทยนายพี.เอ็ม.บาจาจ หมดหน้าที่ในฐานะผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อของบริษัทดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2533 ตามเอกสารหมายล.1 แผ่นที่ 86 บริษัทดังกล่าวจดทะเบียนเลิกการประกอบกิจการค้าในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2532 โดยนายพี.เอ็ม.บาจาจเป็นผู้แจ้ง ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 93 และ 94 เจ้าพนักงานของโจทก์จึงตรวจสอบข้อมูลการเสียภาษีในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2539 ถึง 2531 พบว่าบริษัทดังกล่าวเสียภาษีไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินจึงออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีบริษัทดังกล่าวเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2532ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 5 นายพี.เอ็ม.บาจาจ ในฐานะผู้ทำการแทนได้ไปพบเจ้าพนักงานของโจทก์แต่ไม่ส่งมอบบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีให้ตรวจสอบ แต่ได้ให้ถ้อยคำชี้แจงว่า การดำเนินกิจการของบริษัทดังกล่าวไม่สามารถคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล นายพี.เอ็ม.บาจาจ ผู้ทำการแทนบริษัทดังกล่าวจึงยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 68 และมาตรา 69แห่งประมวลรัษฎากร โดยเสียภาษีอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของรอบระยะเวลาบัญชี และยื่นแบบรายการภาษีเงินได้หักณ ที่จ่ายและการจำหน่ายเงินกำไรตามมาตรา 70 และมาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร โดยแสดงรายได้ด้วยวิธีการคำนวณภาษีย้อนกลับไปหากำไร เจ้าพนักงานของโจทก์เห็นว่าบริษัทดังกล่าวชำระภาษีไม่ถูกต้องต่อมาวันที่ 30 กรกฎาคม 2533 เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลไปยังบริษัทดังกล่าว โดยนายพี.เอ็ม.บาจาจ ในฐานะผู้ทำการแทนบริษัทดังกล่าว รับผิดชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2529 รวมทั้งสิ้น 41,565,282 บาท ปี 2530 รวมทั้งสิ้น 20,558,083 บาทและปี 2531 รวมทั้งสิ้น 14,472,067 บาท ภาษีเงินได้จากการจำหน่ายเงินกำไรออกจากประเทศไทย สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 2529 รวมทั้งสิ้น8,623,446 บาท ปี 2530 รวมทั้งสิ้น 3,805,860 บาท และปี 2531 รวมทั้งสิ้น2,951,584 บาท บริษัทดังกล่าวอุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เรียกเก็บภาษีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2529 ถึง 2531 รวมทั้งสิ้น 51,198,693.71 บาท บริษัทดังกล่าวได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2536 และได้ยื่นฟ้องโจทก์เป็นจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 86/2536 ของศาลภาษีอากรกลาง ขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ต่อมาศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องตามคดีหมายเลขแดงที่ 16/2537 บริษัทดังกล่าวอุทธรณ์คำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางไปยังศาลฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2662/2539แต่บริษัทดังกล่าวมิได้ชำระหนี้ค่าภาษีอากรจำนวน 51,198,693.71 บาทให้แก่โจทก์ ซึ่งบริษัทดังกล่าวจะต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับเมื่อคำนวณถึงวันฟ้องวันที่ 8 มิถุนายน 2542 รวมจำนวน 13,906,869.33 บาทรวมเป็นค่าภาษีอากรที่บริษัทดังกล่าวค้างชำระทั้งสิ้น 65,105,563.04 บาทจำเลยทำหนังสือสัญญาค้ำประกันนายพี.เอ็ม.บาจาจ ตามเอกสารหมาย ล.1แผ่นที่ 30

คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่านายพี.เอ็ม.บาจาจ เป็นผู้ทำการแทนบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล อินดัสเตรียลแมนเนจเม้นท์ แอนด์ อินเวสเม้นท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และเป็นเหตุให้บริษัทดังกล่าวได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทยตามประมวลรัษฎากร มาตรา 76 ทวิ หรือไม่ ข้อนี้จำเลยได้ให้การยอมรับแล้วว่า นายพี.เอ็ม.บาจาจ เป็นลูกจ้างหรือผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อบริษัทดังกล่าว การที่นายพี.เอ็ม.บาจาจ มาเบิกความว่าตนมิได้เป็นผู้ทำการแทนตามมาตรา 76 ทวิ จึงเป็นการเบิกความขัดกับคำให้การของจำเลยเองซึ่งข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคำให้การและที่คู่ความรับกันในชั้นชี้สองสถานแล้วฟังได้ว่า บริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มีนายพี.เอ็ม.บาจาจ เป็นผู้ทำการแทนในการประกอบกิจการในประเทศไทยซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทยตามมาตรา 76 ทวิ การที่จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่า โจทก์ไม่เคยออกหมายเรียกหรือหมายประเมินใด ๆ ไปยังนายพี.เอ็ม.บาจาจเพื่อประเมินให้รับผิดในฐานะผู้ทำการแทนบริษัทดังกล่าวตามมาตรา 76 ทวิข้อนี้ปรากฏตามหมายเรียกตามประมวลรัษฎากรเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 4ที่จำเลยอ้างส่งต่อศาลเอง และหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 60 ถึง 65 หรือ ล.1 แผ่นที่ 6 ถึง 11 ว่า หมายเรียกและหนังสือดังกล่าวได้แจ้งไปยังบริษัทดังกล่าวโดยนายพี.เอ็ม.บาจาจ ในฐานะผู้ทำการแทนทุกฉบับ ทั้งหมายเรียกและหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลแสดงให้เห็นอยู่ในตัวแล้วว่าโจทก์ได้เรียกนายพี.เอ็ม.บาจาจ ผู้มีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเฉพาะที่เกี่ยวกับเงินได้หรือผลกำไรที่ลูกจ้างหรือผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อเป็นผู้ทำให้บริษัทดังกล่าวได้รับในประเทศไทยมาไต่สวนและแจ้งจำนวนเงินที่ประเมินไปยังบุคคลผู้มีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษี เพื่อที่บุคคลนั้นจะได้มีโอกาสอุทธรณ์การประเมินตามมาตรา 76 ทวิวรรคสาม ก่อนแล้ว กรณีจึงหาใช่เป็นการออกหมายเรียกและหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลไปยังบริษัทดังกล่าวเพื่อให้รับผิดตามมาตรา 66 เท่านั้นดังที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ และโจทก์ไม่จำเป็นต้องออกหมายเรียกและหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลไปยังนายพี.เอ็ม.บาจาจ แยกต่างหากจากที่ออกให้บริษัทดังกล่าวโดยนายพี.เอ็ม.บาจาจ ในฐานะผู้ทำการแทน ฉะนั้นการออกและส่งหมายเรียกและหนังสือแจ้งการประเมินในลักษณะดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการออกและส่งหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนและหนังสือแจ้งการประเมินทั้งบริษัทดังกล่าวและนายพี.เอ็ม.บาจาจ ผู้มีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีของบริษัทดังกล่าวด้วยในตัวของหมายเรียกและหนังสือนั้นเอง อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในข้อต่อไปมีว่าบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล อินดัสเตรียล แมนเนจเม้นท์ แอนด์ อินเวสเม้นท์คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2529 ถึง 2531 และเจ้าพนักงานประเมินหักรายจ่ายของบริษัทดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ ข้อนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากที่บริษัทดังกล่าวได้รับหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้ว ได้อุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้วมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้บริษัทดังกล่าวชำระหนี้ค่าภาษีอากรรวมทั้งสิ้น 51,198,693.71 บาท บริษัทดังกล่าวได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ไปยังศาลภาษีอากรกลางโดยฟ้องโจทก์เป็นจำเลยเพื่อขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ต่อมาศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง บริษัทดังกล่าวอุทธรณ์คำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางไปยังศาลฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ดังนี้ ปัญหาที่ว่าบริษัทดังกล่าวเป็นหนี้ค่าภาษีอากรโจทก์จำนวนเท่าใดได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว และมีผลผูกพันบริษัทดังกล่าวซึ่งนายพี.เอ็ม.บาจาจ ในฐานะผู้ทำการในการประกอบกิจการในประเทศไทยของบริษัทดังกล่าวมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทดังกล่าว ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 76 ทวิ”

พิพากษายืน

Share