แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้เสียหายเคยปล่อยโคหากินตามลำพังในตอนเช้า ตอนบ่ายจึงต้อนกลับ โคหายไป รุ่งขึ้นมีคนเห็นโคอยู่ตามลำพัง รุ่งขึ้นอีกวันจึงมีผู้เห็นจำเลยพาโคนั้นไป กรณีเช่นนี้จำเลยย่อมมีผิดฐานยักยอกเก็บทรัพย์ของผู้อื่น หามีผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรไม่ (ไม่ได้ความว่าจำเลยรู้มาก่อนว่าโคเป็นของผู้เสียหาย)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๐๐ มีคนร้ายลักโคของนายประสงค์ นันตะสุข ไป ๑ ตัว วันที่ ๒๙ เดือนเดียวกัน มีคนพบจำเลยอยู่กับโคของกลาง ทั้งจำเลยได้ฆ่าโคตัวนี้เสีย ขอให้ลงโทษฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรและใช้ราคาโค และฐานผิด พ.ร.บ.อากรการฆ่าสัตว์
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นเชื่อว่า จำเลยที่ ๑,๒ เป็นคนร้ายลักโครายนี้ หลักฐานว่าคนทั้งสองฆ่าโคด้วยนั้นยังไม่พอรับฟังพิพากษาให้ลงโทษจำเลยที่ ๑,๒ ตามประมวล อาญา ม.๓๓๕ (๗) (๑๒) คนละ ๒ ปี และให้ใช้ราคาโค แต่ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๓
โจทก์อุทธรณ์ ขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๓ และลงโทษจำเลยที่ ๑-๒ ฐานฆ่าโคไม่ได้รับอนุญาตด้วย
จำเลยที่ ๑-๒ อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าหลักฐานโจทก์ไม่พอลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานใดเลย พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๑-๒ ด้วย
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑-๒
ศาลฎีกาฟังว่า ผู้เสียหายมีโค ๒ ตัว เคยเลี้ยงโดยตอนเช้าปล่อยโคออกจากบ้านไปหากินตามลำพัง ตอนบ่ายจึงต้อนกลับ ในวันเกิดเหตุที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๐๐ ตอนบ่ายผู้เสียหายไปดูไม่เห็นโคเช่นเคย ค้นอยู่จนค่ำก็ไม่พบ รุ่งขึ้นค้นอีกจนเที่ยงก็ไม่พบ จึงรับไปแจ้งความกับนายบุญผู้ใหญ่บ้าน ครั้งตกค่ำโคกลับมาบ้านตัวหนึ่ง รุ่งขึ้นวันที่ ๒๙ มีคนมาบอกว่าเห็นโคนอนอยู่ตามทางเดินในหมู่บ้าน ต่อมามีพยานเห็นจำเลยที่ ๑-๒ อยู่กับโคนั้น และพาโคไปทางหมู่บ้านขัวขอนแคน มีพยานอีกปากเห็นจำเลยทั้งสามหาบเนื้อออกจากป่าช้า นายบุญผู้ใหญ่บ้านจึงไปดูที่ป่าช้าพบทรากโคเป็นโคตัวที่หาย จึงพากันไปดูที่กระท่อมจำเลยที่ ๑ ตอนนั้นเวลาค่ำแล้ว เห็นจำเลยที่ ๑ เอาไหเนื้อฝังดินไว้เมื่อตอนจวนสว่าง รูปคดีเป็นดังนี้ศาลฎีกาเห็นว่า ก่อนที่จะวินิจฉัยว่าพยานโจทก์พอลงโทษจำเลยหรือไม่ มีข้อที่จะต้องคิดว่าจำเลยจะมีผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ เห็นว่า กรณีฟังได้ถนัดว่าโคพลัดเพริดไปโดยอิสสระ การที่จำเลยที่ ๑-๒ มาจับเอาไปในตอนหลังก็ไม่ได้ความว่าจำเลยรู้ว่าเป็นโคของผู้เสียหาย ฉะนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองจะเป็นผิดทางอาญา ก็แต่ในฐานยักยอกเก็บทรัพย์ของผู้อื่นตามประมวลอาญา ม.๓๕๒ วรรค ๒ เท่านั้น ข้อเท็จจริงปรากฎในการพิจารณาจึงแตกต่างกับฟ้องในสาระสำคัญ จะลงโทษจำเลยไม่ได้ +วินิจฉัยข้อเท็จจริงอันใดต่อไป ศาลฎีกาพิพากษายืน