แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 377 บัญญัติว่า “เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ ท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว อนึ่ง มัดจำนี้ย่อมเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย” เช่นนี้ ย่อมแสดงว่า มัดจำคือทรัพย์สินซึ่งได้ให้ไว้ในวันทำสัญญา เพื่อเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญาจะซื้อขายได้ทำขึ้นแล้ว และเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญาโดยคู่สัญญามีเจตนาจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนเมื่อชำระหนี้ ซึ่งตามสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำ ข้อ 4 ระบุว่า ถ้าผู้จะซื้อปฏิบัติผิดสัญญาไม่ไปรับโอน ให้ถือว่าสัญญานี้เป็นอันยกเลิก ผู้จะขายไม่จำต้องบอกกล่าว และผู้จะซื้อยินยอมให้ผู้จะขายริบมัดจำที่ชำระแล้วได้ทั้งหมด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัญญา จำเลยย่อมริบมัดจำทั้งหมดได้ตามข้อสัญญาดังกล่าว โดยจำเลยไม่จำต้องนำสืบถึงความเสียหายที่ได้รับนั้น เพราะมัดจำมิใช่เบี้ยปรับ และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้ให้อำนาจศาลที่จะลดมัดจำดังเช่นเบี้ยปรับได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินมัดจำจำนวน 2,000,000 บาท ค่าเสียหายจากการปฏิบัติผิดสัญญาเป็นเงิน 1,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้จำเลยคืนเงินมัดจำแก่โจทก์จำนวน 1,200,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เสียทั้งสิ้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีกาว่า วันที่ 9 สิงหาคม 2555 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 27939 ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่จำนวน 15 ไร่ 1 งาน 23 ตารางวา จากจำเลยในราคาไร่ละ 1,600,000 บาท โจทก์วางมัดจำให้จำเลยในวันทำสัญญาเป็นเงิน 2,000,000 บาท และตกลงชำระเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือในวันที่ 9 สิงหาคม 2556 อันเป็นวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องคืนเงินมัดจำแก่โจทก์หรือไม่ ซึ่งจะต้องพิจารณาก่อนว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัญญา การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัญญาแต่โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัญญา ที่โจทก์ฎีกาว่าสัญญามีข้อตกลงในเรื่องที่จำเลยจะต้องไปรังวัดที่ดินทั้งหมดก่อนการโอนกรรมสิทธิ์ และที่ดินแปลงที่ซื้อขายมีถนนเป็นทางเข้าออกกว้างประมาณ 6 เมตร จึงถือเป็นข้อสาระสำคัญของสัญญา แต่จำเลยยังไม่ดำเนินการตามข้อกำหนดในสัญญา จึงถือว่าโจทก์และจำเลยยังมิได้มีสัญญาต่อกัน สัญญาจะซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงยังไม่เกิดนั้น ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ฎีกาของโจทก์ดังกล่าวไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าเงินมัดจำมีจำนวนสูงกว่าความเสียหายที่จำเลยได้รับ ประกอบกับคดีนี้จำเลยมิได้นำสืบถึงความเสียหายที่ได้รับ กรณีต้องตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 7 นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 4 บัญญัติว่า ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือในสัญญาสำเร็จรูป หรือในสัญญาขายฝากที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น เมื่อสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายดังกล่าวบัญญัติไว้ กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะนำพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 7 มาใช้บังคับได้ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า เงินมัดจำมีจำนวนสูงกว่าความเสียหายที่จำเลยได้รับและจำเลยมิได้นำสืบถึงความเสียหายที่ได้รับนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377 บัญญัติว่าเมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ ท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว อนึ่งมัดจำนี้ย่อมเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย เช่นนี้ ย่อมแสดงว่า มัดจำคือทรัพย์สินซึ่งได้ให้ไว้ในวันทำสัญญา เพื่อเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญาจะซื้อขายได้ทำขึ้นแล้ว และเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญาโดยคู่สัญญามีเจตนาจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนเมื่อชำระหนี้ ซึ่งตามสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำ ข้อ 4 ระบุว่า ถ้าผู้จะซื้อปฏิบัติผิดสัญญาไม่ไปรับโอน ให้ถือว่า สัญญานี้เป็นอันยกเลิก โดยผู้จะขายไม่จำต้องบอกกล่าว และผู้จะซื้อยินยอมให้ผู้จะขายริบมัดจำที่ชำระแล้วได้ทั้งหมด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัญญา จำเลยย่อมริบมัดจำทั้งหมดได้ตามข้อสัญญาดังกล่าว โดยจำเลยไม่จำต้องนำสืบถึงความเสียหายที่ได้รับนั้น เพราะมัดจำมิใช่เบี้ยปรับ และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้ให้อำนาจศาลที่จะลดมัดจำดังเช่นเบี้ยปรับได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ