คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1264/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือพิมพ์ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช 2484 มาตรา4 หมายความว่า สิ่งพิมพ์ซึ่งมีชื่อจ่าหน้าเช่นเดียวกันและออกหรือเจตนาจะออกตามลำดับเรื่อยไป มีกำหนดระยะเวลาหรือไม่ก็ตาม มีข้อความต่อเนื่องกันหรือไม่ก็ตาม ประกอบกับใบอนุญาตซึ่งเจ้าพนักงานการพิมพ์ออกให้โจทก์ระบุไว้ชัดว่า อนุญาตให้โจทก์เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์บางกอกบิสิเนสเยลโล่เพจเจ็สและหนังสือพิมพ์สมุดธุรกิจเยลโล่เพจเจ็สอีกหลายฉบับ ซึ่งออกเป็นรายปี ดังนี้สมุดธุรกิจต่าง ๆ ของโจทก์จึงเป็นหนังสือพิมพ์ตามความหมายของพระราชบัญญัติดังกล่าว
กระดาษสำหรับพิมพ์หนังสือพิมพ์ตามที่ระบุไว้ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 48.01 ค. หมายถึงชนิดของกระดาษหาได้หมายถึงวัตถุประสงค์ในการใช้กระดาษไม่ การที่จะพิจารณาว่าสินค้าที่โจทก์นำเข้าเป็นกระดาษสำหรับพิมพ์หนังสือพิมพ์หรือไม่ ต้องพิจารณาจากปัจจัยหลายประการ เช่นชื่อที่เรียกคุณสมบัติ ลักษณะจุดมุ่งหมายในการใช้ ฯลฯสินค้าพิพาทมีชื่อว่ากระดาษสำหรับพิมพ์หนังสือพิมพ์ชนิดเบาจากประเทศแคนาดา คุณสมบัติและลักษณะเหมือนกระดาษสำหรับพิมพ์หนังสือพิมพ์โดยทั่วไป โจทก์มีวัตถุประสงค์นำไปใช้พิมพ์สมุดธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ชนิดหนึ่งดังนี้สินค้าพิพาทจึงเป็นกระดาษสำหรับพิมพ์หนังสือพิมพ์และอยู่ในพิกัดอัตราอากรขาเข้าประเภทที่ 48.01 ค.(1) ทั้งนี้เพราะกระดาษพิพาทมีน้ำหนักเพียง 36 กรัมต่อตารางเมตร ซึ่งไม่เกิน 55 กรัมต่อตารางเมตร.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบธุรกิจการพิมพ์สมุดธุรกิจมีกำหนดระยะเวลาเป็นรายปี และทุกปีมีชื่อจ่าหน้าเช่นเดียวกันโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานการพิมพ์ให้พิมพ์หนังสือประเภทหนังสือพิมพ์ มีชื่อจ่าหน้าว่าบางกอกบิสิเนสเยลโล่เพจเจ็สไดเรคตอรี่และอื่น ๆ เมื่อวันที่ 29ตุลาคม 2528 และวันที่ 21 พฤศจิกายน 2528 โจทก์นำเข้ากระดาษเพื่อใช้ในการพิมพ์สมุดธุรกิจจากประเทศแคนาดา เป็นกระดาษที่ใช้พิมพ์หนังสือพิมพ์ชนิดน้ำหนักเบา (CANADIANLIGHTWEIGHTNEWSPRINT) เป็นกระดาษใช้สำหรับพิมพ์หนังสือพิมพ์ (นิวสพริ้นท์)สีเหลือง สีเขียว น้ำหนักสามสิบหกกรัมต่อหนึ่งตารางเมตรโจทก์เสียภาษีตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 48.01 ค. (1) จำเลยอ้างว่ากระดาษของโจทก์ไม่ใช่กระดาษสำหรับพิมพ์หนังสือพิมพ์(นิวสพริ้นท์) และประเมินเรียกเก็บภาษีตามพิกัดประเภทที่48.01 ง. ทำให้โจทก์ต้องเสียภาษีเพิ่ม 11,921,494.69 บาทขอให้เพิกถอนคำสั่งประเมินอากรของจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองคืนเงินค่าอากรพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า หนังสือที่โจทก์พิมพ์ขึ้นมิใช่เป็นหนังสือพิมพ์ตามความหมายทั่วไป กระดาษที่โจทก์สั่งเข้าไม่ใช่กระดาษหนังสือพิมพ์ตามความหมายของหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่าต้องเป็นหนังสือพิมพ์รายวันเป็นแต่เพียงกระดาษอย่างหนึ่งที่ใช้พิมพ์หนังสือได้ แต่มิใช่กระดาษหนังสือพิมพ์ตามความหมายแห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 ประเภทที่ 48.01 ค. เพราะกระดาษตามพิกัดดังกล่าวจะต้องเป็นกระดาษสำหรับพิมพ์หนังสือพิมพ์(นิวสพริ้นท์) ที่มีน้ำหนักไม่น้อยกว่าสี่สิบกรัมต่อตารางเมตร กระดาษของโจทก์จัดเข้าพิกัดประเภทที่ 48.01 ง.ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งประเมินอากรของจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงคงฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์ได้นำสินค้ากระดาษเพื่อใช้ในการพิมพ์สมุดธุรกิจต่าง ๆ ของโจทก์ซึ่งมีกำหนดออกเป็นรายปีจากประเทสแคนาดาเข้ามาในราชอาณาจักร กระดาษดังกล่าวเป็นกระดาษสำหรับพิมพ์หนังสือพิมพ์ชนิดเบาของประเทศแคนาดา(คาเนเดียนไลท์เวทนิวสพริ้นท์) น้ำหนักกระดาษสามสิบหกกรัมต่อหนึ่งตารางเมตร โจทก์ได้สำแดงว่าเป็นกระดาษพิมพ์หนังสือพิมพ์น้ำหนักไม่เกินห้าสิบกรัมต่อหนึ่งตารางเมตรอยู่ในพิกัดประเภทที่ 48.01 ค. (1) ต้องเสียอากร 0.33 บาทต่อ 1 กิโลกรัม ภาษีการค้าร้อยละ 1.5 รวมเป็นเงินภาษีอากรทั้งสิ้น 942,063.37 บาท แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เห็นว่าสินค้าของโจทก์ทั้งสามใบขนอยู่ในพิกัด 48.01 ง. โจทก์จึงต้องวางหลักประกัน หลังจากออกของไปแล้วต่อมาจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งการประเมินให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มสำหรับสินค้าดังกล่าว
ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าสินค้าพิพาทของโจทก์นั้นโจทก์นำเข้ามาเพื่อใช้พิมพ์สมุดธุรกิจมิใช่เพื่อใช้พิมพ์หนังสือพิมพ์โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์รายวันแต่อย่างใดจึงมิใช่กระดาษสำหรับพิมพ์หนังสือพิมพ์ ต้องชำระภาษีอากรในพิกัดประเภทที่ 48.01 ง. อัตราอากรร้อยละ 35 หรือกิโลกรัมละ 3.20 บาท นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช 2484 มาตรา 4 หนังสือพิมพ์หมายความว่าสิ่งพิมพ์ซึ่งมีชื่อจ่าหน้าเช่นเดียวกัน และออกหรือเจตนาจะออกตามลำดับเรื่อยไป มีกำหนดระยะเวลาหรือไม่ก็ตามมีข้อความต่อเนื่องกันหรือไม่ก็ตาม นอกจากนี้ตามสำเนาใบอนุญาตท้ายฟ้องซึ่งเจ้าพนักงานการพิมพ์สำหรับจังหวัดกรุงเทพมหานครออกให้โจทก์นั้นก็ระบุไว้ชัดว่าอนุญาตให้โจทก์เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์บางกอกบิสิเนสเยลโล่เพจเจ็สไดเรคตอรี่หนังสือพิมพ์สมุดธุรกิจเยลโล่เพจเจ็สภาคตะวันออกเฉียงเหนือหนังสือพิมพ์สมุดธุรกิจเยลโล่เพจเจ็สภาคเหนือ หนังสือพิมพ์สมุดธุรกิจเยลโล่เพจเจ็สเขตนครหลวง ฯลฯ ซึ่งออกเป็นรายปีดังนั้น สมุดธุรกิจต่าง ๆ ของโจทก์จึงเป็นหนังสือพิมพ์ตามความหมายของพระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช 2484 สินค้าพิพาทของโจทก์นั้นโจทก์สั่งเข้ามาเพื่อพิมพ์สมุดธุรกิจดังกล่าวของโจทก์ จึงเป็นการสั่งเข้ามาเพื่อใช้พิมพ์หนังสือพิมพ์ชนิดหนึ่งดังนั้นที่จำเลยทั้งสองอ้างว่า โจทก์สั่งสินค้าพิพาทเข้ามามิใช่เพื่อใช้พิมพ์หนังสือพิมพ์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
สำหรับพิกัดอัตราอากรขาเข้าที่ใช้อยู่ในขณะที่โจทก์นำสินค้าพิพาทเข้ามาในราชอาณาจักรนั้น ต้องเป็นไปตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่45) พ.ศ. 2528ตามบัญชีดังกล่าวประเภทที่ 48.01 ระบุว่า กระดาษและกระดาษแข็ง(รวมทั้งเซลลูโลสแวดดิ้ง) ทำด้วยเครื่องจักรทั้งที่เป็นม้วนและเป็นแผ่น ก. เซลลูโลสแวดดิ้ง ข. กระดาษมวนบุหรี่ค. กระดาษสำหรับพิมพ์หนังสือพิมพ์(นิวสพริ้นท์) (1) น้ำหนักไม่เกินห้าสิบห้ากรัมต่อหนึ่งตารางเมตร อัตราอากรกิโลกรัมละ 0.33 บาท (2) น้ำหนักเกินกว่าห้าสิบห้ากรัมต่อหนึ่งตารางเมตร อัตราอากรร้อยละสามสิบหรือกิโลกรัมละ 2.50 บาท ง.อื่น ๆ อัตราอากรร้อยละสามสิบห้าหรือกิโลกรัมละ 3.20 บาท จะเห็นได้ว่าประเภทที่ 48.01 ค. เสียอากรน้อยกว่าประเภทที่48.01 ง. และในระหว่างประเภทที่ 48.01 ค. ด้วยกันแล้ว ประเภทที่ 48.01 ค. (1) เสียอากรในอัตราที่ต่ำกว่าประเภทที่ 48.01ค. (2) หลายเท่า ทั้ง ๆ ที่เป็นกระดาษสำหรับพิมพ์หนังสือพิมพ์(นิวสพริ้นท์) ด้วยกัน ซึ่งแสดงว่า กระดาษสำหรับพิมพ์หนังสือพิมพ์นั้น ถ้าน้ำหนักมากคือเกินห้าสิบห้ากรัมต่อหนึ่งตารางเมตร ก็จะเสียค่าอากรสูงกว่ากระดาษที่มีน้ำหนักน้อยคือน้ำหนักไม่เกินห้าสิบห้ากรัมต่อหนึ่งตารางเมตร อนึ่งจะเห็นได้ว่ากระดาษสำหรับพิมพ์หนังสือพิมพ์ตามที่ระบุในประเภทที่ 48.01 ค. นั้น หมายถึงชนิดของกระดาษหาได้หมายถึงวัตถุประสงค์ในการใช้กระดาษไม่ กล่าวคือ หากเป็นกระดาษชนิดสำหรับพิมพ์หนังสือพิมพ์แล้วไม่ว่าผู้นำเข้าจะนำไปใช้ทำอะไร หรือนำไปขายต่อ กระดาษนั้นก็คงเป็นกระดาษสำหรับพิมพ์หนังสือพิมพ์อยู่นั่นเอง แต่ถ้าไม่เป็นกระดาษชนิดสำหรับพิมพ์หนังสือพิมพ์ แม้ผู้นำเข้าจะนำไปใช้พิมพ์หนังสือพิมพ์ก็หาทำให้เป็นกระดาษสำหรับหนังสืิพิมพ์ไม่ ดังนั้นวัตถุประสงค์ที่โจทก์นำสินค้าพิพาทไปใช้จึงไม่บ่งชี้ชัดแจ้งว่าสินค้าพิพาทเป็นกระดาษสำหรับพิมพ์หนังสือพิมพ์หรือไม่ การที่จะพิจารณาว่าสินค้าที่โจทก์นำเข้านี้เป็นกระดาษสำหรับพิมพ์หนังสือพิมพ์หรือไม่จึงต้องพิจารณาจากปัจจัยหลายประการ เช่นชื่อที่เรียก คุณสมบัติ ลักษณะ จุดมุ่งหมายในการใช้ ฯลฯ สำหรับชื่อของสินค้าพิพาทนั้นมีชื่อว่ากระดาษสำหรับพิมพ์หนังสือพิมพ์ชนิดเบาของประเทศแคนาดา(คานาเดียนไลท์เวทนิวสพริ้นท์) ดังนั้น ชื่อของสินค้าพิพาทจึงระบุชนิดว่าเป็นกระดาษสำหรับพิมพ์หนังสือพิมพ์ ส่วนคุณสมบัติและลักษณะของสินค้าพิพาทนั้นปรากฏตามภาพถ่ายรายงานการตรวจวิเคราะห์ทดสอบ ของนางสาวดวงใจ วิบูลย์ธนภัณฑ์นักวิทยาศาสตร์ 5ของกรมวิทยาศาสตร์บริการ ซึ่งส่งไปยังจำเลยที่ 1 หมาย จ.11ว่าสินค้าพิพาทเป็นกระดาษเหมาะสำหรับพิมพ์สมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์และสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ที่ต้องการใช้กระดาษบางและราคาถูก ทำจากเยื่อไม้บดเป็นส่วนใหญ่ มีความหนาแน่นเหมือนและการดูดซึมน้ำมันในระดับเดียวกับกระดาษนิวสพริ้นท์ ฯลฯจึงเห้นได้ว่าคุณสมบัติและลักษณะของกระดาษพิพาทนั้นเหมือนกระดาษสำหรับพิมพ์หนังสือพิมพ์โดยทั่วไปส่วนในเรื่องวัตถุประสงค์ในการใช้กระดาษนั้นได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าโจทก์นำกระดาษพิพาทไปใช้พิมพ์สมุดธุรกิจต่าง ๆ ของโจทก์ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ชนิดหนึ่ง เมื่อสินค้าพิพาทของโจทก์มีชื่อเรียกเป็นกระดาษสำหรับพิมพ์หนังสือพิมพ์ มีคุณสมบัติและลักษณะเป็นกระดาษสำหรับหนังสือพิมพ์ ทั้งโจทก์นำไปใช้ในการพิมพ์หนังสือพิมพ์ของโจทก์ด้วยเช่นนี้ศาลฎีกาเห็นว่าสินค้าพิพาทเป็นกระดาษสำหรับพิมพ์หนังสือพิมพ์และอยู่ในพิกัดอัตราอากรขาเข้าประเภทที่ 48.01 ค. (1) ทั้งนี้เพราะกระดาษพิพาทมีน้ำหนักเพียงสามสิบหกกรัมต่อหนึ่งตารางเมตร ซึ่งไม่เกินห้าสิบห้ากรัมต่อหนึ่งตารางเมตร
พิพากษายืน.

Share