คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 618-622/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กฎและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่กำหนดให้จำนวนเงินผลประโยชน์เมื่อออกจากงานทั้งหมดที่พนักงานได้รับให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้างตามข้อกำหนดแห่งกฎหมายแรงงานนั้น เมื่อปรากฏว่าเป็นข้อตกลงซึ่งเกิดจากข้อเรียกร้องที่สหภาพแรงงานทำไว้กับนายจ้างโดยชอบด้วยกฎหมาย มิใช่เป็นข้อตกลงซึ่งนายจ้างกำหนดขึ้นเองย่อมมีผลผูกพันลูกจ้างตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 19 ฉะนั้นเมื่อลูกจ้างได้รับเงินผลประโยชน์ดังกล่าวแล้วย่อมมีความหมายอยู่ในตัวว่านายจ้างได้จ่ายค่าชดเชยโดยเกลื่อนกลืนอยู่ในเงินผลประโยชน์นั้นแล้ว ลูกจ้างจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยจากนายจ้างอีก.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ทั้งห้าฟ้องว่า จำเลยปลดโจทก์ทั้งห้าออกจากงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งห้าพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งห้าให้การว่า การที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะโจทก์ครบเกษียณอายุ จำเลยได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ครบถ้วนไปแล้ว โดยรวมอยู่ในเงินผลประโยชน์ตามที่กำหนดไว้ในกฎและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างสำหรับพนักงานประจำที่มิใช่ฝ่ายจัดการของจำเลยจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์อีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ค่าชดเชยเป็นเงินซึ่งกฎหมายบังคับให้นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง ส่วนเงินผลประโยชน์ตามกฎและข้อบังคับของจำเลยเป็นเงินประเภทอื่นแม้กฎและข้อบังคับของจำเลยจะกำหนดให้การจ่ายเงินผลประโยชน์เป็นการจ่ายค่าชดเชยด้วยก็ตาม ก็ไม่มีผลใช้บังคับ จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ต่างหาก พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 27,000 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 28,770 บาท โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 31,110 บาท โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 31,100 บาท และโจทก์ที่ 6 เป็นเงิน 36,000 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่1 มกราคม 2530 จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ทั้งห้า
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ‘ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้าสำนวนว่า จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์หรือไม่ ได้ความว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ต่อมาเมื่อเดือนมกราคม 2530 จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ซึ่งระเบียบข้อบังคับในกรณีที่พนักงานเกษียณอายุนั้น กำหนดให้จำเลยจ่ายเงินผลประโยชน์ให้แก่พนักงานตามกฎและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างสำหรับพนักงานประจำที่มิใช่ฝ่ายจัดการซึ่งข้อ ก. 39.5 กำหนดว่า ‘พนักงานที่ครบเกษียณอายุจะได้รับผลประโยชน์ในการเกษียณอายุจากบริษัท ฯ เท่ากับอัตราเงินเดือนปกติสุดท้าย คูณด้วย 13/12 คูณด้วย 1.11 คูณด้วยจำนวนปีบริบูรณ์ที่ได้ทำงานมากับบริษัท ฯ หักด้วยภาษีเงินได้ส่วนบุคคล จำนวนเงินผลประโยชน์เมื่อออกจากงานทั้งหมดที่พนักงานได้รับตามข้อนี้ ให้ถือว่าส่วนหนึ่งเป็นการจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้างตามข้อกำหนดแห่งกฎหมายแรงงานที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันหรือจะมีต่อไปในอนาคนด้วย’ จำเลยได้จ่ายเงินผลประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว อนึ่ง กฎและข้อบังคับข้อ ก. 39.5 นี้เป็นข้อตกลงซึ่งเกิดจากข้อเรียกร้องที่สหภาพแรงงานลีเวอร์บราเธอร์ได้ทำไว้กับจำเลยเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2526 พิเคราะห์แล้วเห็นว่า หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่ายเงินผลประโยชน์ตามที่กำหนดไว้ในกฎและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างสำหรับพนักงานประจำที่มิใช่ฝ่ายจัดการของจำเลย ท้ายคำให้การข้อ ก. 39.5 นั้น เป็นข้อตกลงซึ่งเกิดจากข้อเรียกร้องและสหภาพแรงงานลีเวอร์บราเธอร์ได้ทำไว้กับจำเลยโดยชอบด้วยกฎหมาย มิใช่เป็นข้อตกลงซึ่งจำเลยกำหนดขึ้นเอง จึงมีผลผูกพันโจทก์ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 19 ส่วนความในข้อ ก 39.5 ซึ่งกำหนดไว้ตอนหนึ่งว่า ‘จำนวนเงินผลประโยชน์เมื่อออกจากงานทั้งหมดที่พนักงานได้รับตามข้อนี้ ให้ถือว่าส่วนหนึ่งเป็นการจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้างตามข้อกำหนดแห่งกฎหมายแรงงาน….’ นั้นมีความหมายว่า จำเลยได้จ่ายค่าชดเชยโดยเกลื่อนกลืนอยู่ในเงินผลประโยชน์แล้ว กล่าวคือ เงินผลประโยชน์ที่คำนวณได้ตามข้อ ก. 39.5 ต้องคำนวณหักด้วยจำนวนเงินเท่ากับค่าชดเชยตามกฎหมายออกเสียก่อน เหลือเท่าใดจึงจ่ายให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นพนักงานประจำของจำเลยฉะนั้นเมื่อปรากฏว่าเงินผลประโยชน์ที่โจทก์ทั้งห้าได้รับจากจำเลยตามจำนวนดังกล่าวมีค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน รวมอยู่ครบถ้วนแล้ว โจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยจากจำเลยอีก ตามนัยแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 176-190/2526ระหว่าง นายหาญ จันทร์ขจร กับพวก โจทก์บริษัทน้ำมันคาลเท็กซ์(ไทย) จำกัด จำเลย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งห้า ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น’
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งห้าสำนวน.

Share