แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คผู้ถือ จึงโอนกันได้ด้วยการส่งมอบ จำเลยที่ 2 สลักหลักเช็คพิพาทและส่งมอบแก่โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืม จำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900, 914 ประกอบมาตรา 989 ส่วนจำเลยที่ 2 ผู้สลักหลังส่งมอบต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900, 921, 940 ประกอบมาตรา 989 ความรับผิดของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จึงแยกจากกันตามฐานะแห่งตน ลายมือชื่อจำเลยที่ 2 จะปลอมหรือไม่เป็นเรื่องความรับผิดของจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ไม่มีผลทำให้จำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายหลุดพ้นจากความรับผิดต่อโจทก์ ป.พ.พ. มาตรา 1006
จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 กู้ยืมเงินโดยสั่งจ่ายเช็คให้แก่จำเลยที่ 2 ไว้หมุนเวียนแล้วมีผู้นำเช็คไปกรอกข้อความโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 1 เอง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์รู้ถึงข้อเท็จจริงนี้ด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดตามเนื้อความที่ลงในเช็คต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คโดยสุจริต
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 2,137,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 พฤศจิกายน 2545) รวมแล้วต้องไม่เกิน 137,500 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามเช็คพิพาทต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า เช็คพิพาทเป็นเช็คผู้ถือจึงโอนกันได้ด้วยการส่งมอบแก่กัน โจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 2 มอบเช็คพิพาทให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืม ดังนั้น จำเลยที่ 1 จะพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้สั่งจ่ายได้ต่อเมื่อการโอนเช็คพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นการคบคิดกันฉ้อฉล จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์เบิกความรับว่า ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 2 เป็นใคร มีภูมิลำเนาแห่งใด ประกอบอาชีพใด และโจทก์ไม่มีหลักฐานการกู้ยืม พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ที่นำสืบถึงพฤติการณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 2 จึงฟังได้แล้วว่า จำเลยที่ 2 กับโจทก์ไม่ได้กู้ยืมเงินกันจริง เห็นว่า สัญญากู้ยืมเงินสมบูรณ์เมื่อผู้ให้กู้ส่งมอบเงินให้แก่ผู้กู้ ส่วนหลักฐานการกู้ยืมเป็นเรื่องที่กฎหมายบังคับให้มีในกรณี ฟ้องร้องบังคับคดี ไม่ได้หมายความว่าเมื่อไม่มีหลักฐานการกู้ยืมแล้วแสดงว่าไม่มีการตกลงกู้ยืมเงินกัน ส่วนที่โจทก์เบิกความว่าไม่ทราบว่าจำเลยที่ 2 เป็นใคร มีภูมิลำเนาแห่งใดและประกอบอาชีพใด เป็นเพียงการตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์ก็ได้เบิกความตอบคำถามค้านต่อไปอีกว่า จำเลยที่ 2 ประกอบธุรกิจร่วมกับบุตรชายโจทก์ และรู้จักจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 4 ถึง 5 ปี เห็นว่าเป็นคนที่น่าเชื่อถือได้ จากข้อเท็จจริงตามคำเบิกความนี้แสดงว่า โจทก์รู้จักจำเลยที่ 2 จึงไม่มีเหตุให้สงสัยในคำเบิกความของโจทก์ ส่วนพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่า มีคนร้ายลักเช็คพิพาทไปและได้แจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 เมื่อปี 2542 แต่เช็คพิพาทสั่งจ่ายวันที่ 25 พฤศจิกายน 2544 เป็นเวลาหลังจากที่แจ้งความให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 แล้วประมาณ 2 ปี เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่นำสืบไม่ปรากฏพฤติการณ์ใดที่ส่อให้เห็นว่าโจทก์กับจำเลยที่ 2 ไม่มีการกู้ยืมเงินกันจริงอันจะเป็นข้ออ้างว่าเป็นการคบคิดกันฉ้อฉลจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 มีภาระในการพิสูจน์ตามที่ให้การต่อสู้แต่ไม่สามารถนำสืบพิสูจน์ได้ จึงต้องฟังว่าโจทก์ได้รับเช็คพิพาทจากจำเลยที่ 2 เนื่องจากการชำระหนี้เงินกู้ยืม ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ลายมือชื่อจำเลยที่ 2 ปลอมหรือไม่ย่อมเป็นสาระสำคัญที่แสดงว่าโจทก์ได้รับเช็คพิพาทมาโดยชอบหรือไม่ การกรอกข้อความในเช็คพิพาทโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 เช็คพิพาทจึงเป็นเอกสารปลอมทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากความรับผิดนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะผู้สั่งจ่ายซึ่งเป็นความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900, 914 ประกอบมาตรา 989 และให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะผู้สลักหลังเช็คผู้ถือซึ่งเป็นความรับผิดตามมาตรา 900, 921, 940 ประกอบมาตรา 989 ความรับผิดของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์จึงแยกต่างหากจากกันตามฐานะแห่งตน ดังนั้น ลายมือชื่อจำเลยที่ 2 จะปลอมหรือไม่เป็นเรื่องความรับผิดของจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ ไม่มีผลทำให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้สั่งจ่ายหลุดพ้นจากความรับผิดต่อโจทก์ด้วยเหตุนี้ ทั้งนี้ตามมาตรา 1006 ส่วนที่ว่า เช็คพิพาทเป็นเอกสารปลอมเพราะการกรอกข้อความในเช็คนั้นไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 เห็นว่า หากเป็นดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง ก็ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 1 เอง เมื่อทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่าโจทก์รู้ถึงข้อเท็จจริงที่อ้างนี้ด้วยโจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยสุจริต จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าเช็คพิพาทเป็นเอกสารปลอมเพราะเหตุเช่นนี้เพื่อให้ตนพ้นความรับผิดต่อโจทก์หาได้ไม่ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามเนื้อความในเช็คพิพาท ดังที่วินิจฉัยมาข้างต้น ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี นับแต่เช็คพิพาทขาดจากการยึดถือครอบครองของจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1002 บัญญัติห้ามมิให้ผู้ทรงตั๋วเงินฟ้องผู้สั่งจ่ายเมื่อพ้นกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันตั๋วเงินถึงกำหนด มิใช่พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ตั๋วเงินขาดจากความครอบครองของเจ้าของตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกา ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 1 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 10,000 บาท แทนโจทก์