คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3237/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้ฝิ่นของกลางจะมีน้ำหนักถึง 10,000 กรัม แต่โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าฝิ่นของกลางมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์จำนวนเท่าใดจึงฟังไม่ได้ว่าฝิ่นของกลางมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกินหนึ่งร้อยกรัมตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 69วรรคสาม หรือมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินกว่าหนึ่งร้อยกรัมตามมาตรา 69 วรรคสี่ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยตามมาตรา 69 วรรคสามหรือวรรคสี่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษและพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในข้อหาพาอาวุธปืน แต่ปฏิเสธในข้อหามีฝิ่นไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528มาตรา 3, 4, 6, 10 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ,72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ข้อหาพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 6 เดือน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือน ข้อหามียาเสพติดให้โทษ (ฝิ่น) ไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่าย ให้จำคุก 20 ปี รวม 2 กระทงเป็นจำคุก 20 ปี 3 เดือน ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 69 วรรคสอง จำคุก 9 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3คงจำคุก 6 ปี รวมกับโทษในความผิดฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นจำคุก 6 ปี 3 เดือน อาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนของกลางคืนให้จำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า วันเวลาตามฟ้อง เจ้าหน้าที่ตำรวจจับจำเลยทั้งสองได้พร้อมอาวุธปืนพกสั้นขนาด .22 หมายเลขทะเบียน กท.384264 กระสุนปืนขนาด .22 จำนวน 6 นัดฝิ่นดิบ 7 ห่อ หนัก 10,000 กรัม และรถยนต์หมายเลขทะเบียนเชียงใหม่ น-4983 เป็นของกลาง คดีสำหรับจำเลยที่ 2 โจทก์มิได้ฎีกา จึงเป็นอันยุติ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นนี้มีเพียงว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 69 วรรคสอง โดยเหตุผลว่าไม่ได้ส่งฝิ่นของกลางไปตรวจพิสูจน์เพื่อคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ว่ามีจำนวนเท่าใดนั้นเป็นการไม่ชอบและชอบที่ศาลอุทธรณ์จะต้องลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 69 วรรคสี่หรือวรรคสามตามที่โจทก์ฎีกาหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พันตำรวจโทสายัณห์วงษ์พันธ์ สารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรอำเภอแม่แตงพยานโจทก์เบิกความว่าไม่ได้ส่งฝิ่นของกลางไปตรวจพิสูจน์เพื่อคำนวณสารบริสุทธิ์ออกมาว่าเป็นจำนวนเท่าใด ดังนั้นจึงไม่อาจฟังได้ว่าฝิ่นของกลางมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินกว่าหนึ่งร้อยกรัมตามมาตรา 69 วรรคสี่ ทั้งไม่อาจฟังว่าปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกินหนึ่งร้อยกรัมตามมาตรา 69 วรรคสาม เพราะการลงโทษตามมาตรา 69 วรรคสามและวรรคสี่เป็นการลงโทษจำเลยให้หนักขึ้นตามลำดับ โจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบให้ครบองค์ประกอบความผิดตามวรรคสามหรือวรรคสี่ กลับมิได้นำสืบให้ศาลเห็นว่าฝิ่นของกลางมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์จำนวนเท่าใด แม้ฝิ่นของกลางจะมีน้ำหนักถึง 10,000 กรัม ก็ตาม ศาลจะอนุมานเอาเองว่าฝิ่นของกลางทั้งหมดนี้จะต้องมีสารบริสุทธิ์เกินกว่าหนึ่งร้อยกรัมหรืออย่างน้อยก็ต้องมีสารบริสุทธิ์ไม่เกินหนึ่งร้อยกรัมอยู่ด้วยตามที่โจทก์ฎีกาหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ไม่นำสืบตามมาตรา 69 วรรคสามหรือวรรคสี่ คงนำสืบฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มีฝิ่นไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเท่านั้น ศาลจึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 69วรรคสามหรือวรรคสี่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษจำเลยที่ 1ฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามมาตรา 69 วรรคสองนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share