แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมผู้กระทำความผิดมีหน้าต้องเบิกความต่อศาลตามความสัจจริงในระหว่างเป็นพยานในคดีที่ผู้กระทำความผิดถูกฟ้องนั้น เป็นหน้าที่อย่างเดียวกับประชาชนทั่วไป หาใช่เป็นหน้าที่โดยตรงอันสืบเนื่องมาจากที่เป็นเจ้าพนักงานผู้จับกุมผู้กระทำความผิดไม่ หน้าที่ที่ต้องเบิกความตามความสัจจริงจึงไม่เป็นการกระทำการในหน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยเฉพาะ แม้จำเลยทั้งสามจะให้และรับว่าจะให้เงินแก่เจ้าพนักตำรวจเพื่อจูงใจให้เบิกความผิดไปจากความจริง ก็ไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 144
ส่วนของกลางนั้น เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิด จึงต้องคืนของกลางแก่เจ้าของ ข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 3 ที่ไม่ได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144, 83 และ 33 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 1 ปี จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 6 เดือน ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า โทษจำคุกของจำเลยที่ 3 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์บรรยายฟ้องว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยทั้งสามร่วมกันให้เงินจำนวน 50,000 บาท แก่ร้อยตำรวจโททักษิณ ภาคสวัสดิ์ กับพวก ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ เพื่อจูงใจให้ร้อยตำรวจโททักษิณกับพวกเบิกความต่อศาลจังหวัดสตูล ในคดีที่นายนิพิธ ทองนุ่น ถูกร้อยตำรวจโททักษิณกับพวกจับกุมในข้อหาเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ โดยให้ร้อยตำรวจโททักษิณกับพวกให้การต่อศาลให้เป็นประโยชน์แก่นายนิพิธ และจำเลยทั้งสามรับว่าจะให้เงินอีก 50,000 บาท แก่ร้อยตำรวจโททักษิณหลังจากที่เบิกความต่อศาลแล้ว ซึ่งเป็นการจูงใจให้เจ้าพนักงานกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ เห็นว่า การที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมผู้กระทำความผิดมีหน้าที่ต้องเบิกความต่อศาลตามความสัจจริงในระหว่างเป็นพยานในคดีที่ผู้กระทำความผิดถูกฟ้องนั้น เป็นหน้าที่อย่างเดียวกับประชาชนทั่วไป หาใช่เป็นหน้าที่โดยตรงอันสืบเนื่องมาจากที่เป็นเจ้าพนักงานผู้จับกุมผู้กระทำความผิดไม่ หน้าที่ที่ต้องเบิกความตามความสัจจริงจึงไม่เป็นการกระทำการในหน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยเฉพาะ แม้จำเลยทั้งสามจะให้และรับว่าจะให้เงินแก่ร้อยตำรวจโททักษิณกับพวก เพื่อจูงใจให้เจ้าพนักงานดังกล่าวเบิกความผิดไปจากความจริง จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 ส่วนของกลางนั้น เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิด จึงต้องคืนของกลางแก่เจ้าของ ข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเป็นเหตุในส่วนในลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 3 ที่ไม่ได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยทั้งสาม คืนของกลางแก่เจ้าของ