แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 และที่ 4 มาหาที่บ้านแล้วชักชวนให้ ส.และ ธ. ไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นโดยได้ค่าจ้างประมาณเดือนละ 35,000 บาท ถึง 40,000 บาท แต่การไปต้องมีค่าใช้จ่ายคนละ 68,000 บาท ถึง 78,000 บาท และให้บุคคลทั้งสองพาจำเลยที่ 1 และที่ 4 ไปบ้าน ว. และ น. และพูดชักชวน ว. และ น. ไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นโดยยืนยันว่ามีงานให้ทำจริง ๆ นอกจากนั้น ว. ยังไม่ได้แจ้งให้ ล., ท.และพ. ทราบ แล้วพากันเดินทางมากรุงเทพฯ โดยมีจำเลยที่ 1 และที่ 5 ไปรอรับที่สถานีขนส่งระหว่างอยู่ในกรุงเทพฯ จำเลยทั้งห้ากับพวกมารับเงินจากผู้เสียหายทั้งเจ็ดไป อ้างว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการทำวีซ่าค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าทำงาน พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลย ทั้งห้ามิใช่เป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงที่ควรบอกให้แจ้งต่อประชาชน การแสดงข้อความอันเป็นเท็จของ จำเลยทั้งห้าเป็นการเฉพาะเจาะจงต่อผู้เสียหายทั้งเจ็ดคน เท่านั้น จึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน จำเลยทั้งห้าไม่ได้ประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนงานข้อความเท็จที่จำเลยทั้งห้าร่วมกันแสดงออกต่อผู้เสียหายทั้งเจ็ด ยืนยันข้อเท็จจริงว่ามีงานให้ทำในประเทศญี่ปุ่นมีค่าจ้างเดือนละ 35,000 บาท ถึง 40,000 บาท และชักชวนผู้เสียหายทั้งเจ็ดให้ไปทำงานในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นข้อความเท็จนั้น เป็นข้อความที่จำเลยทั้งห้าใช้หลอกลวงผู้เสียหายทั้งเจ็ดเพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้เสียหายทั้งเจ็ดเท่านั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องจำเลยทั้งห้าประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางาน ตามความหมายของพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30 จำเลยทั้งห้าจึงไม่มีความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานโดยมิได้รับอนุญาต ผู้เสียหายทั้งเจ็ดมอบเงินให้จำเลยทั้งห้า เพราะเชื่อในข้อความเท็จที่จำเลยทั้งห้าแจ้งให้ทราบและที่จำเลยทั้งห้า หลอกลวงผู้เสียหายทั้งเจ็ดว่าสามารถจัดส่งผู้เสียหายทั้งเจ็ด ไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นได้จริงผู้เสียหายทั้งเจ็ดจึงยอมมอบเงินให้จำเลยทั้งห้า การรู้หรือไม่รู้ว่าการเข้าไปทำงาน ในประเทศญี่ปุ่นต้องลักลอบเข้าไป ไม่ใช่สาระสำคัญที่ผู้เสียหายทั้งเจ็ดยอมมอบเงินให้จำเลยทั้งห้า เมื่อ ผู้เสียหายทั้งเจ็ดยอมมอบเงินให้จำเลยทั้งห้า เพราะเชื่อ ในคำหลอกลวงของจำเลยทั้งห้า ผู้เสียหายทั้งเจ็ดจึงเป็น ผู้เสียหายโดยนิตินัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343, 91, 83 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. 2528 มาตรา 30, 82 ให้จำเลยทั้งห้าคืนหรือใช้เงิน476,000 บาท แก่ผู้เสียหายตามบัญชีรายชื่อและจำนวนเงินท้ายฟ้องด้วย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคหนึ่ง, 91, 83 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82 ฐานฉ้อโกงประชาชน จำคุกคนละ 5 ปีฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลางจำคุกคนละ 4 ปี รวมจำคุกคนละ 9 ปี ให้จำเลยทั้งห้าคืนหรือใช้เงินจำนวน 53,000 บาท แก่นายสุรพันธ์ ชัยศิริจำนวน 68,000 บาทแก่นายวิษณุ ภูษณะวิวัฒน์ จำนวน 78,000 บาท แก่นายเล็กศรีคำหรือศรีดำ จำนวน 68,000 บาท แก่นายนิเวศน์ กองมงคลจำนวน 68,000 บาท แก่นายธีรวุฒิ ใสเมืองยองจำนวน 73,000 บาทแก่นายทัศน์ ทัพรักษา และจำนวน 68,000 บาท แก่นายวิสุทธิ์สมฤทธิ์ ผู้เสียหาย จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 83 จำคุกคนละ 3 ปี ให้ยกฟ้องโจทก์ฐานจัดหางานโดยมิได้รับอนุญาต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาตามฎีกาโจทก์ข้อแรกที่ว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนหรือไม่นั้น ปัญหานี้ได้ความจากนายสุรพันธ์และนายธีรวุฒิพยานโจทก์ว่า เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2531 จำเลยที่ 1 และที่ 4 มาหาที่บ้านแล้วชักชวนให้บุคคลทั้งสองไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นโดยได้ค่าจ้างประมาณเดือนละ 35,000 บาท ถึง 40,000 บาท แต่การไปต้องมีค่าใช้จ่ายคนละ 68,000 บาท ถึง 78,000 บาท และให้บุคคลทั้งสองพาจำเลยที่ 1 และที่ 4 ไปบ้านนายวิษณุและนายนิเวศน์และพูดชักชวนนายวิษณุ และนายนิเวศน์ไปทำงานในประเทศญี่ปุ่น โดยยืนยันว่ามีงานให้ทำจริง ๆ นอกจากนั้นนายวิษณุยังได้แจ้งให้นายเล็ก นายทัศน์ และนายวิสุทธิ์ทราบ แล้วพากันเดินทางมากรุงเทพฯ โดยมีจำเลยที่ 1 และที่ 5 ไปรอรับที่สถานีขนส่งสายเหนือ ระหว่างอยู่ในกรุงเทพฯ จำเลยทั้งห้ากับพวกมารับเงินจากผู้เสียหายทั้งเจ็ดไปอ้างว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการทำวีซ่าค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าทำงานพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยทั้งห้าจึงมิใช่เป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงที่ควรบอกให้แจ้งต่อประชาชน การแสดงข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยทั้งห้าเป็นการเฉพาะเจาะจงต่อผู้เสียหายทั้งเจ็ดคนเท่านั้น การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ฎีกาโจทก์ปัญหานี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาโจทก์ข้อต่อไปที่ว่า จำเลยทั้งห้าจัดหางานโดยมิได้รับอนุญาตหรือไม่ ปัญหานี้ไม่ปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์ว่าจำเลยทั้งห้าได้ประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานแต่อย่างใดข้อความเท็จที่จำเลยทั้งห้าร่วมกันแสดงออกต่อผู้เสียหายทั้งเจ็ดยืนยันข้อเท็จจริงว่ามีงานให้ทำในประเทศญี่ปุ่น มีค่าจ้างเดือนละ 35,000 บาท ถึง 40,000 บาท และชักชวนผู้เสียหายทั้งเจ็ดให้ไปทำงานในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นข้อความเท็จนั้น เป็นข้อความที่จำเลยทั้งห้าใช้หลอกลวงผู้เสียหายทั้งเจ็ดเพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้เสียหายทั้งเจ็ดเท่านั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องจำเลยทั้งห้าประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางาน ตามความหมายของพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงไม่มีความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานโดยมิได้รับอนุญาต ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
สำหรับฎีกาจำเลยทั้งห้าที่ว่า ผู้เสียหายทั้งเจ็ดไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย เพราะผู้เสียหายทั้งเจ็ดรู้หรือน่าจะรู้อยู่แล้วว่า การเข้าไปในประเทศญี่ปุ่นจะต้องใช้วิธีการลักลอบเข้าไป เห็นว่าการที่ผู้เสียหายทั้งเจ็ดมอบเงินให้จำเลยทั้งห้าเพราะเชื่อในข้อความเท็จที่จำเลยทั้งห้าแจ้งให้ทราบ และพฤติการณ์ที่จำเลยทั้งห้าแสดงออกหลอกลวงผู้เสียหายทั้งเจ็ดว่าสามารถจัดส่งผู้เสียหายทั้งเจ็ดไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นได้จริงผู้เสียหายทั้งเจ็ดจึงยินยอมมอบเงินให้จำเลยทั้งห้า การรู้หรือไม่รู้ว่าการเข้าไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นต้องลักลอบเข้าไปไม่ใช่สาระสำคัญที่ผู้เสียหายทั้งเจ็ดยอมมอบเงินให้จำเลยทั้งห้าเมื่อผู้เสียหายทั้งเจ็ดยอมมอบเงินให้จำเลยทั้งห้า เพราะเชื่อในคำหลอกลวงของจำเลยทั้งห้า ผู้เสียหายทั้งเจ็ดจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ฎีกาจำเลยทั้งห้าฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน