คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1308/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นลงโทษเมื่อลดโทษหนึ่งในสี่แล้วจำคุกจำเลยฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารมีกำหนด 9 เดือน ฐานข่มขืนกระทำชำเรามีกำหนด 4 ปี 6 เดือน และฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังมีกำหนด 9 เดือน ซึ่งกำหนดโทษจำคุกในแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่าความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารและหน่วงเหนี่ยวกักขังเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ปรับบทลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 284 วรรคแรก ซึ่งเป็นบทที่หนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 จำคุกจำเลย 1 ปี รวมกับโทษจำคุก 6 ปี ฐานข่มขืนกระทำชำเราตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว จำคุกจำเลย 7 ปี ลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงจำคุก 5 ปี 3 เดือน ถือว่าศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 276, 284, 310
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก, 284 วรรคแรก, 310 วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 1 ปี ฐานข่มขืนกระทำชำเรา จำคุก 6 ปี และฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 8 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารและหน่วงเหนี่ยวกักขังเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรก ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลย 1 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุก 6 ปี ฐานข่มขืนกระทำชำเราตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว จำคุกจำเลย 7 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงจำคุกจำเลย 5 ปี 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก, 284 วรรคแรก, 310 วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 1 ปี ฐานข่มขืนกระทำชำเรา จำคุก 6 ปี และฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 8 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 6 ปี ซึ่งมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารมีกำหนด 9 เดือน ฐานข่มขืนกระทำชำเรามีกำหนด 4 ปี 6 เดือน และฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังมีกำหนด 9 เดือน ซึ่งกำหนดโทษจำคุกในแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่าความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารและหน่วงเหนี่ยวกักขังเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรก ซึ่งเป็นบทที่หนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลย 1 ปี รวมกับโทษจำคุก 6 ปี ฐานข่มขืนกระทำชำเราตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว จำคุกจำเลย 7 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 5 ปี 3 เดือน ถือว่าศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยที่ว่า คำเบิกความของผู้เสียหายมีพิรุธไม่น่าเชื่อถือ และไม่มีน้ำหนักเพียงพอแก่การรับฟัง พฤติการณ์แห่งคดีเชื่อได้ว่าผู้เสียหายสมัครใจไปมีเพศสัมพันธ์กับจำเลย เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการรับรองหรืออนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาดังกล่าว ฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมาเป็นการมิชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกฎีกาของจำเลย

Share