แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การตกลงกันระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ให้จำเลยที่ 4 จ่ายเงินค่าก่อสร้างตามสัญญาจ้างทั้งสองฉบับให้แก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 นอกจากเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง แล้ว ยังมีลักษณะเป็นการทำสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกตามมาตรา 374 ด้วย โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้รับประโยชน์จากสัญญาโอนสิทธิการรับเงินค่าก่อสร้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 มีหนังสือถึงจำเลยที่ 4 ให้สั่งจ่ายเช็คค่างวดงานก่อสร้างแก่โจทก์โดยตรง อันเป็นการแสดงเจตนาว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นตามมาตรา 374 วรรคสอง เมื่อสิทธิของโจทก์ได้เกิดมีขึ้นแล้ว จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 คู่สัญญาย่อมไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิของโจทก์นั้นในภายหลังได้ ดังนั้นที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งระงับการโอนสิทธิการรับเงินค่าก่อสร้างโดยให้จำเลยที่ 4 ส่งเงินค่าก่อสร้างให้จำเลยที่ 1 โดยตรง จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 375 ไม่มีผลผูกพันโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 151,701,099.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงิน 102,552,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยที่ 1 และที่ 4 จะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 4 ชำระเงิน 102,552,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 มกราคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 4 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระหนี้ที่ยังขาดแก่โจทก์จนครบ กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 4 ชำระเงิน 19,673,500 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 4 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระหนี้ที่ยังขาดแก่โจทก์จนครบ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 82,878,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 มกราคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยที่ 4 โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ประการแรกว่า การที่จำเลยที่ 1
แจ้งให้จำเลยที่ 4 ระงับการจ่ายเงินให้แก่โจทก์นั้น มีผลให้จำเลยที่ 4 หลุดพ้นความผูกพันที่จะต้องจ่ายเงินค่างวดให้แก่โจทก์ต่อไปหรือไม่ เห็นว่า การตกลงกันระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ให้จำเลยที่ 4 จ่ายเงินค่าก่อสร้างตามสัญญาจ้างทั้งสองฉบับให้แก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 นั้น นอกจากเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 วรรคหนึ่งแล้ว ยังมีลักษณะเป็นการทำสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกตามมาตรา 374 ด้วย ซึ่งในวรรคสองของมาตราดังกล่าว บัญญัติว่า “…สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น” และมาตรา 375 บัญญัติต่อไปว่า “เมื่อสิทธิของบุคคลภายนอกได้เกิดมีขึ้นตามบทบัญญัติแห่งมาตราก่อนแล้ว คู่สัญญาหาอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ไม่” คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้รับประโยชน์จากสัญญาโอนสิทธิการรับเงินค่าก่อสร้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 มีหนังสือถึงจำเลยที่ 4 ให้สั่งจ่ายเช็คค่างวดงานก่อสร้างแก่โจทก์โดยตรง อันเป็นการแสดงเจตนาว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 วรรคสอง เมื่อสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้เกิดมีขึ้นแล้ว จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 คู่สัญญาย่อมไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิของโจทก์นั้นในภายหลังได้ ดังนั้นที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งระงับการโอนสิทธิการรับเงินค่าก่อสร้างโดยให้จำเลยที่ 4 ส่งเงินค่าก่อสร้างให้จำเลยที่ 1 โดยตรงจึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 375 ดังกล่าว ไม่มีผลผูกพันโจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 4 ยังคงต้องรับผิดชำระเงินค่าก่อสร้างให้แก่โจทก์ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 อีกประการหนึ่งว่า ที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 ในปัญหาว่าการโอนสิทธิเรียกร้องไม่สมบูรณ์เพราะขณะโอนจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เพียง 44,000,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าค่าจ้างที่จำเลยที่ 4 ต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น ชอบหรือไม่ โดยจำเลยที่ 4 ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์ยกเหตุแห่งการไม่รับวินิจฉัยเพราะจำเลยที่ 4 ไม่ได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้นั้น เป็นการไม่ชอบเพราะจำนวนหนี้ 44,000,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์นั้น โจทก์ไม่ได้กล่าวมาในฟ้อง จำเลยที่ 4 จึงไม่อาจทราบและระบุในคำให้การได้ จำเลยที่ 4 เพิ่งทราบเมื่อโจทก์นำพยานเข้าสืบ ดังนั้นจำเลยที่ 4 ย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ เห็นว่า การจะอ้างว่าการโอนสิทธิเรียกร้องไม่สมบูรณ์เพราะหนี้ตามสิทธิเรียกร้องที่โอนมีจำนวนสูงกว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นเจ้าหนี้ต้องชำระให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกนั้นไม่จำเป็นที่จำเลยที่ 4 จะต้องระบุจำนวนหนี้ให้แน่นอนว่ามีอยู่เท่าใด เพียงแต่ต่อสู้เป็นประเด็นว่าหนี้ที่มีการโอนสิทธิเรียกร้องมีจำนวนสูงกว่าหนี้ที่ จำเลยที่ 1 ต้องชำระให้แก่โจทก์ก็เพียงพอแล้ว แต่จำเลยที่ 4 ก็หาได้กล่าวไว้ในคำให้การเพื่อเป็นการตั้งประเด็นต่อสู้ไว้เช่นนั้นไม่ ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 ในข้อนี้ด้วยเหตุผลว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นจึงเป็นการชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 4 ทั้งสองข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ