คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 126/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ จำเลยที่ 3 เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา จำเลยที่ 4 เป็นผู้เขียนในคอลัมน์ข่าวสังคม เมื่อจำเลยที่ 4 เขียนข้อความอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 แล้ว จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดในข้อความที่ตนรวบรวมนำลงพิมพ์จะแก้ตัวว่ามีผู้รับผิดชอบในแผนกข่าวคอลัมน์ดังกล่าวนั้นแล้วหาได้ไม่ จำเลยที่ 4 เป็นคนเขียนข้อความนั้นเอง จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ด้วย ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นเพียงเจ้าของหนังสือพิมพ์นั้น ถึงแม้ว่าจำเลยที่ 3, 4 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 แต่การดำเนินการพิมพ์ต่าง ๆ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 ดำเนินการเอง ไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 เข้าไปเกี่ยวข้องกับการละเมิดนี้อย่างใดและโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะที่จำเลยที่ 3, 4 เป็นลูกจ้างกระทำไปในทางการที่จ้างจำเลยที่ 1 ก็ไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย
การแก้ข่าวในหนังสือพิมพ์ อันจะทำให้สิทธิในการฟ้องของผู้ได้รับความเสียหายระงับลงตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 41 นั้นจะต้องปรากฏว่าผู้ขอแก้ข่าวคือโจทก์ผู้ได้รับความเสียหาย ได้มีหนังสือขอแก้ข่าวนั้นไปยังบรรณาธิการหนังสือพิมพ์นั้น ขอให้แก้ข่าวที่ฝ่าฝืนความจริงและหนังสือพิมพ์นั้นลงพิมพ์ข้อความแก้ข่าวให้
โจทก์เป็นบุคคลที่มีเกียรติคุณและมีชื่อเสียงในสังคมมีคนรู้จักในทางที่ดี จำเลยลงโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ทำให้แพร่หลายแก่บุคคลทั่ว ๆไป คนที่ไม่รู้ความจริงต้องเข้าใจผิดว่าโจทก์เป็นคนที่มีความประพฤติดังที่จำเลยกล่าว หรือไขข่าวเป็นการทำให้โจทก์เสียหายแก่ชื่อเสียง พฤติการณ์ดังนี้ เป็นเหตุสมควรจัดการเพื่อให้ชื่อเสียงของโจทก์กลับคืนดีโดยการโฆษณาในหนังสือพิมพ์แจ้งความจริงให้ประชาชนทราบโดยให้จำเลยเสียค่าใช้จ่าย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามก็ให้โจทก์จัดการโฆษณาเองโดยคิดค่าใช้จ่ายจากจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์หลักเมืองสมัยไทยเดลี่ จำเลยที่ 3เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์โฆษณา จำเลยที่ 4 เป็นผู้จัดการแผนกโฆษณาและเป็นผู้เขียนข้อความในคอลัมน์ สังคมเป็นข่าว โดยใช้นามแฝงหรือนามปากกาว่า “กลองยาว” จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันหมิ่นประมาท ละเมิดต่อโจทก์ โดยการพิมพ์โฆษณาข้อความในหนังสือพิมพ์ดังกล่าว โดยการกล่าวหรือไขข้อความอันเป็นการด่าประจานโจทก์ให้แพร่หลาย มีข้อความว่า”ขอประกาศมาให้ทราบจนทั่วกันว่า มนุษย์ร้อยเล่ห์ โพยม โรจนวิภาตผู้บังอาจแอบอ้างเป็นสารพัดสัตว์ ขณะนี้กำลังหายัดด้วยการอ้างเป็นผู้สื่อข่าวไทยเดลี่ ใครเห็นโปรดแจ้งจับด่วน” อันเป็นการฝ่าฝืนต่อความจริงซึ่งจำเลยทั้งสี่รู้หรือควรรู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง เพราะโจทก์เป็นคนมีชื่อเสียงเกียรติยศเป็นที่เชื่อถือในวงสังคม การกระทำของจำเลยเป็นการเสียหายแก่ชื่อเสียง เกียรติคุณ จิตใจ และร่างกายของโจทก์ จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีในต้นเงิน 200,000 บาท นับแต่วันละเมิดถึงวันฟ้อง 1,000 บาทและตั้งแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เสร็จ ให้จำเลยทั้งสี่ลงโฆษณาขอขมาต่อโจทก์ในหนังสือพิมพ์ของจำเลยและหนังสือพิมพ์รายวันอื่นอีกไม่น้อยกว่า 7 ฉบับ ๆ ละ 7 ครั้ง

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์รายวันหลักเมืองสมัยไทยเดลี่ จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ความจริงมีคนชื่อนายโพยมสุทธินิเทศ ไปแอบอ้างว่าเป็นผู้สื่อข่าวของจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหาย จึงมีผู้เขียนข้อความลงเพื่อแจ้งให้ผู้อ่านทราบ แต่ผู้เขียนจำนามสกุลผิดพลาด ต่อมาโจทก์ได้แจ้งให้แก้ข้อความ และหนังสือพิมพ์ของจำเลยที่ 1 ได้ลงแก้ข่าวให้แล้ว สิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องจึงระงับไปตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 จึงไม่มีสิทธิขอให้ลงโฆษณาอีก ฟ้องเกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุม

จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 4 มิได้เป็นผู้เขียนข้อความโดยใช้นามแฝงหรือนามปากกาว่า “กลองยาว” และไม่ได้เขียนข้อความตามฟ้อง โจทก์ขอให้แก้ข้อความ จำเลยก็แก้ให้แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดี และไม่จำต้องลงโฆษณาให้โจทก์ฟ้องเกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุม

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อความที่ลงพิมพ์นั้นฝ่าฝืนความจริงทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงเกียรติคุณ โจทก์มีอำนาจฟ้องได้ จำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมทำละเมิดต่อโจทก์ พิพากษาให้จำเลยที่ 3ที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 50,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันละเมิดไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ และให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 จัดให้มีการโฆษณาแจ้งความจริงให้ประชาชนทราบในหนังสือพิมพ์หลักเมืองสมัยไทยเดลี่ และหนังสือพิมพ์อื่นอีก 5 ฉบับ ๆ ละ 7 ครั้ง โดยให้จำเลยเสียค่าใช้จ่าย หากไม่ปฏิบัติตาม ให้โจทก์จัดการโฆษณาเอง แล้วคิดค่าใช้จ่ายจากจำเลย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2

โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 และที่ 4

จำเลยที่ 3 ที่ 4 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 ผู้เดียวทำละเมิดต่อโจทก์จำเลยที่ 1 ไม่ต้องร่วมรับผิด กำหนดค่าเสียหายให้จำเลยที่ 3 ชดใช้10,000 บาท และไม่จำต้องโฆษณา พิพากษาแก้ ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าเสียหาย 10,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันละเมิดจนถึงวันชำระเสร็จคำขออื่นเกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ให้ยกและให้ยกฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ 4 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3ใช้ค่าเสียหาย 50,000 บาท และขอให้โฆษณาแจ้งความจริงในหนังสือพิมพ์ด้วย

จำเลยที่ 3 ฎีกาขอให้ยกฟ้อง

ศาลฎีกาวินิจฉัย (1) ข้อความที่ลงพิมพ์โฆษณา เป็นข้อความที่ได้กล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของโจทก์ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423

(2) ปัญหาว่า จำเลยคนใดต้องร่วมรับผิดด้วยนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 3 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ต้องรับผิดในข้อความที่ตนรวบรวมนำลงพิมพ์ และต้องรับผิดโดยไม่มีทางหลีกเลี่ยง จะแก้ตัวว่ามีผู้รับผิดชอบในแผนกข่าวคอลัมน์นี้แล้วหาได้ไม่ สำหรับจำเลยที่ 4นั้น ได้ความจากโจทก์และร้อยตรีอดิศร อิสี พยานโจทก์เบิกความต้องกันว่า จำเลยที่ 3 เป็นคนบอกที่สถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามวันที่เจ้าพนักงานเรียกจำเลยที่ 3 ไปสถานีตำรวจว่า จำเลยที่ 4 เป็นคนเขียนข้อความนี้ทั้งจำเลยที่ 3 ยังเบิกความอีกว่า ผู้รับผิดชอบในคอลัมน์สังคมเป็นข่าวคือนายรุ่งโรจน์ นรเชษฐวุฒิวัย ผู้ใช้นามปากกาว่า “กลองเพล” ในกรณีที่นายวิโรจน์ไม่อยู่ จึงจะให้นายวิลาศ ฉัตรภูมิ จำเลยที่ 4 ผู้ใช้นามปากกาว่า “กลองยาว” เป็นผู้รับผิดชอบแทน แม้ในคอลัมน์ฉบับที่เกิดเหตุนี้จะเป็นคอลัมน์ที่พาดหัวในช่องนี้ไว้เป็นของนามปากกาว่า “กลองเพล” เป็นผู้ควบคุม แต่ตอนท้ายของคอลัมน์กลับลงชื่อเป็น “กลองยาว” จึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 4 เป็นคนเขียนข้อความอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ดังกล่าวเอง จำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ด้วย ส่วนจำเลยที่ 1 แม้จะฟังว่าจำเลยที่ 3, 4 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ก็เป็นเพียงเจ้าของหนังสือพิมพ์ กิจการดำเนินการพิมพ์ต่าง ๆ เป็นเรื่องของจำเลยที่ 3 ดำเนินการเอง โจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำละเมิดนี้อย่างใด ทั้งโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะนายจ้างที่จำเลยที่ 3, 4 เป็นลูกจ้างกระทำในทางการที่จ้างไว้ด้วย จะให้เข้าใจว่าเมื่อมีหนังสือพิมพ์ของจำเลยที่ 1 ออกมาเป็นสินค้าจำหน่ายตามท้องตลาด ต้องรู้กันทั่วไปว่าจำเลยที่ 3, 4 เป็นลูกจ้างกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 หาได้ไม่

(3) ปัญหาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะได้มีการลงแก้ข่าวให้แล้ว จึงได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช 2484 มาตรา 41 จะต้องปรากฏว่าผู้ขอแก้ข่าวคือโจทก์ ได้มีหนังสือขอแก้ข่าวนั้นไปยังบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ผู้โฆษณาข่าวนั้น ขอให้แก้ข่าวที่ฝ่าฝืนต่อความจริงแต่คดีนี้คงได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 3 ผู้เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เพียงว่า โจทก์ให้ลงแก้ข่าวให้ ความข้อนี้โจทก์ปฏิเสธ จำเลยที่ 3 ก็ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือของโจทก์มาแสดง จึงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์แจ้งความเป็นหนังสือขอให้แก้ข่าวให้ ที่จำเลยที่ 3 นำสืบว่าได้มีการลงรูปถ่ายของนายโพยม สุทธินิเทศ พร้อมทั้งเขียนข้อความเกี่ยวกับนายโพยม สุทธินิเทศ ไว้ดังกล่าวแล้ว พิเคราะห์ข้อความนี้แล้ว เห็นว่า เป็นเพียงลงภาพถ่ายของนายโพยม สุทธินิเทศ พร้อมทั้งข้อความลงไว้ในล้อมกรอบว่ามิได้เกี่ยวข้องกับหนังสือพิมพ์ของจำเลยแต่ด้านเดียว มิได้มีลักษณะเป็นการแก้ข่าวให้โจทก์ให้มีข้อความโดยแจ้งชัดว่าเป็นการลงข่าวที่ผิดตัวและคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวโจทก์ ส่วนคอลัมน์สังคมเป็นข่าวอีกฉบับหนึ่งที่ว่า ได้ลงขออภัยต่อโจทก์ ก็มิได้ทำให้หลุดพ้นความรับผิดไปโดยนัยแห่งกฎหมายดังกล่าวนั้นได้ สิทธิที่จะฟ้องคดีทางแพ่งของโจทก์หาระงับไปไม่

(4) ค่าเสียหายเห็นควรให้จำเลยรับผิดเพียง 20,000 บาท โจทก์เป็นบุคคลที่มีเกียรติคุณและมีชื่อเสียงในทางสังคมทั่วไป มีคนรู้จักในทางที่ดี ข้อความที่โจทก์ถูกจำเลยลงโฆษณาทางหนังสือพิมพ์นั้น ย่อมทำให้แพร่หลายแก่บุคคลทั่ว ๆ ไป คนที่ไม่รู้ความจริงต้องเข้าใจผิดว่าโจทก์เป็นคนที่มีความประพฤติดังที่จำเลยกล่าวหรือไขข่าวไปนั้นอันเป็นการทำให้โจทก์เสียหายแก่ชื่อเสียง พฤติการณ์แห่งคดีจึงมีเหตุสมควรจัดการเพื่อให้ชื่อเสียงของโจทก์กลับคืนดี โดยการโฆษณาแจ้งความจริงให้ประชาชนทราบ

พิพากษาแก้ เป็นว่าให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 โดยร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 20,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันละเมิดจนกว่าจะใช้เงินเสร็จ และให้จำเลยที่ 3และที่ 4 จัดให้มีการโฆษณาแจ้งความจริงให้ประชาชนทราบในหนังสือพิมพ์หลักเมืองสมัยไทยเดลี่ และหนังสือพิมพ์อื่นอีก 1 ฉบับ ๆ ละ 5 ครั้งโดยจำเลยเสียค่าใช้จ่าย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ก็ให้โจทก์จัดการโฆษณาเอง โดยคิดค่าใช้จ่ายจากจำเลย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share