คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 525/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินดาวน์เป็นเงินค่าเช่าซื้อส่วนหนึ่งที่ผู้เช่าซื้อจะต้องชำระในวันทำสัญญา หาใช่เงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระไม่ตามสัญญาค้ำประกันระบุไว้ชัดว่าผู้ค้ำประกันต้องรับผิดในเงินค่าเช่าซื้อทั้งหมดซึ่งรวมทั้งเงินดาวน์ด้วย ตามสัญญาเช่าซื้อไม่มีข้อห้ามการชำระค่าเช่าซื้อด้วยเช็คโจทก์ผู้ให้เช่าย่อมรับชำระเงินดาวน์ด้วยเช็คได้ เมื่อโจทก์รับเงินตามเช็คไม่ได้ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันก็ต้องรับผิด
แม้ตามสัญญาเช่าซื้อและใบเสร็จรับเงินจะระบุว่า โจทก์ได้รับเงินดาวน์จำนวน 25,080 บาทไว้ถูกต้องแล้วก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เช่าชำระเงินดาวน์ด้วยเช็ค โจทก์ก็นำสืบได้ว่า โจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คนั้นไม่ได้ หาเป็นการสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารไม่
เมื่อจำเลยที่ 2 เอารถคันพิพาทไปใช้ชำรุดเสียหายจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันก็ต้องใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ตลอดระยะเวลาที่จำเลยที่ 2 ครอบครองรถคันนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรค 3 (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 601/2513)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ราคา 94,400 บาท โดยชำระเงินค่าเช่าซื้อบางส่วนในวันทำสัญญา 25,080 บาท เป็นเช็ค ส่วนที่เหลือผ่อนชำระเป็นงวด ๆ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน โจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน และจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระเงินค่าเช่าซื้อรวม 5 งวด โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามเช็คและเงินค่าเช่าซื้อที่ค้าง กับให้ส่งมอบรถคืน จำเลยเพิกเฉย ต่อมาจำเลยที่ 2 ส่งมอบรถคืนให้โจทก์ในสภาพชำรุดเสียหาย โจทก์จัดการซ่อม จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินตามเช็คค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระและค่าซ่อมรถพร้อมด้วยดอกเบี้ย

โจทก์ขอถอนฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ศาลอนุญาต

จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์รับเงินดาวน์จากจำเลยที่ 1 เป็นเช็คล่วงหน้าโดยจำเลยที่ 2 ไม่รู้เห็นและไม่ได้รับรองเช็คนั้น จึงไม่ต้องรับผิด โจทก์ยังไม่ได้ส่งมอบรถยนต์ให้จำเลย เพียงแต่จำเลยที่ 2 ขอรับมาโชว์เพื่อขาย เงินค่าเช่าซื้อก็ไม่ได้ค้างเพราะไม่มีการเช่าซื้อ รถอยู่ในความครอบครองของโจทก์ตลอดมาจนถึงวันส่งรถไปโชว์เพื่อขายดังกล่าว เงินค่าซ่อมรถแม้โจทก์จะซ่อมจริง จำเลยก็ไม่ต้องรับผิด เพราะตัวแทนโจทก์ได้รับมอบรถคืนไปในสภาพดี

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระเงินดาวน์ ค่าเสียหายและค่าซ่อมแซมรถให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เงินดาวน์คือเงินที่ผู้เช่าซื้อจะพึงชำระในขณะตกลงซื้อขายและก่อนทำสัญญาซื้อขาย ตามปกติต้องชำระเป็นเงินสด เมื่อโจทก์ยอมรับชำระเงินดาวน์จำนวน 25,080 บาทด้วยเช็คล่วงหน้า และออกใบเสร็จรับเงินเสมือนหนึ่งชำระด้วยเงินสด การที่โจทก์นำเช็คนั้นไปรับเงินไม่ได้เป็นความผิดของโจทก์เอง จำเลยที่ 2 ไม่ได้ค้ำประกันหรือรับรองเช็คดังกล่าว จึงไม่ต้องรับผิดชอบอย่างไรก็ดี ถ้าฟังว่าเงินดาวน์เป็นเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อค้างชำระจากจำเลยนั้น เห็นว่าเงินดาวน์เป็นเงินค่าเช่าซื้อส่วนหนึ่งของราคาค่าเช่าซื้อรถยนต์ของโจทก์ที่ผู้เช่าซื้อจะต้องชำระในวันทำสัญญา หาใช่เงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระไม่ ตามสัญญาค้ำประกันข้อ 1 ระบุไว้ชัดว่า ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดในเงินค่าเช่าซื้อทั้งหมด ซึ่งรวมทั้งเงินดาวน์ด้วย ตามสัญญาเช่าซื้อไม่มีข้อห้ามการชำระค่าเช่าซื้อด้วยเช็ค โจทก์ย่อมรับชำระเงินดาวน์ด้วยเช็คได้ เมื่อโจทก์รับเงินตามเช็คไม่ได้ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องรับผิดในจำนวนเงินตามเช็คนั้น โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกเงินจำนวนนี้จากจำเลยที่ 2 ได้

ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ตามสัญญาเช่าซื้อและใบเสร็จรับเงินระบุว่า โจทก์ได้รับเงินดาวน์จำนวน 25,080 บาทไว้ถูกต้องแล้ว โจทก์จะสืบว่าไม่ได้รับเงินดาวน์หาได้ไม่ เพราะเป็นการสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสาร ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 นั้น เห็นว่าจำเลยที่ 1 ชำระเงินดาวน์ด้วยเช็ค โจทก์นำสืบได้ว่าโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คนั้นไม่ได้ หาเป็นการสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารไม่

ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ได้รับมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อและนำกลับมาฝากบริษัทโจทก์ในวันเดียวกัน โจทก์ส่งรถคันนี้ไปให้จำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์เพื่อให้โชว์ขาย จำเลยที่ 2 ไม่ได้นำรถคันนี้ออกใช้เลย โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายเนื่องจากการใช้รถนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้รับรถคันนี้ไปจากบริษัทโจทก์ แล้วต่อมาโจทก์ยึดรถคันนี้คืนจากจำเลยที่ 2 และต้องเอาไปซ่อมเพราะชำรุดเสียหายหลายอย่าง แสดงว่าจำเลยที่ 2 นำรถคันนี้ไปใช้ ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ตลอดระยะเวลาที่จำเลยที่ 2 ครอบครองรถคันนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรค 3 ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 601/2513 ระหว่างบริษัทสยามกลการและนิสสันจำกัด โจทก์ นายเผยอบบ์ พุ่มชูศรี กับพวกจำเลย

พิพากษายืน

Share