แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้เช่าไม่ออกจากที่เช่า ผู้ให้เช่าจะต้องถูกผู้ซื้อที่ดินปรับ คือเสียดอกเบี้ยในเงินที่ผู้ซื้อชำระแก่ผู้ให้เช่ามาแล้วร้อยละ 12 ต่อปีเป็นค่าเสียหายพิเศษ มิใช่ค่าเสียหายโดยตรงจากการละเมิดของผู้เช่า ผู้เช่าไม่อาจคาดเห็นได้ ผู้ให้เช่าเรียกเงินจำนวนนี้จากผู้เช่าไม่ได้
ผู้ให้เช่ามีเงินประกันค่าเสียหายที่ผู้เช่าวางไว้อยู่แล้ว ผู้เช่าไม่ต้องเสียดอกเบี้ยในค่าเสียหายที่ผู้ให้เช่าหักไว้จากเงินประกันนี้ ผู้ให้เช่าต้องคืนเงินที่เกินจากจำนวนที่หักไว้โดยเสียดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้องร้อยละ 71/2 ต่อปี
ย่อยาว
จำเลยเช่าฉางข้าวจากโจทก์แล้วไม่ออกจากที่เช่า อยู่เกินกำหนดเวลาเช่าไป 2 เดือน โจทก์มีเงินที่จำเลยวางประกันค่าเสียหายไว้ 99,000 บาท จำเลยยอมให้หักค่าเสียหายได้ 66,000 บาทเท่าที่จำเลยรับ ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยอยู่ในที่ดินของโจทก์โดยละเมิดมา 2 เดือน โจทก์เสียหายหลายอย่างพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 242,000 บาทกับดอกเบี้ย ยกฟ้องแย้งศาลอุทธรณ์เห็นว่าค่าเสียหายควรเท่ากับค่าเช่า พิพากษาแก้ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 66,000 บาทกับดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี ตั้งแต่วันออกจากที่เช่า ให้โจทก์คืนเงิน 33,000 บาทตามฟ้องแย้ง กับดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ในปัญหาเกี่ยวกับค่าปรับ 200,000บาท ที่จำเลยต่อสู้ว่าสัญญาจะขายที่ดินระหว่างโจทก์กับบริษัทศรีกรุงวัฒนาจำกัด ไม่เป็นความจริงนั้น โจทก์มีหนังสือสัญญาตามเอกสาร จ.2 เป็นพยานฝ่ายจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงเป็นอันฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบส่วนข้อที่ว่าจำเลยรู้ถึงสัญญาและข้อสัญญาที่โจทก์ทำไว้หรือไม่ โจทก์นำสืบว่าโจทก์ปิดประกาศแจ้งไว้ตามเอกสาร จ.3 ปรากฏว่า ประกาศของโจทก์ลงวันที่10 สิงหาคม 2517 แต่สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทำเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2518ประกาศของโจทก์จึงออกมาล่วงหน้าก่อนทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินหลายเดือนไม่สมเหตุผล ที่นายสมบุญผู้ปิดประกาศเบิกความว่าได้แจ้งจำเลยที่ 2ด้วยว่า ถ้าไม่ออกจะถูกปรับ 200,000 บาท จึงรับฟังไม่ได้ เพราะขณะนั้นยังมิได้ทำสัญญากำหนดความรับผิดของโจทก์ส่วนที่โจทก์นำสืบว่า นายเวชลูกจ้างโจทก์แจ้งต่อเจ้าหน้าที่การเงินของจำเลยเกี่ยวกับเรื่องถูกปรับ โจทก์มีนายเวชเป็นพยานปากเดียวเบิกความลอย ๆ ไม่มีน้ำหนัก ข้อเท็จจริงควรฟังตามหนังสือแจ้งบอกเลิกการเช่าของโจทก์ลงวันที่ 31 มีนาคม 2518 เอกสาร ล.2ตามหนังสือดังกล่าวโจทก์แจ้งจำเลยว่า โจทก์ประสงค์จะเข้าไปใช้ประโยชน์เอง หาได้แจ้งว่าโจทก์ทำสัญญาจะขายที่ดินไปแล้วหากจำเลยไม่ยอมออกโจทก์จะต้องถูกปรับเป็นค่าดอกเบี้ยไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ชัดว่าจำเลยมิได้รู้ถึงสัญญาจะขายที่ดินและข้อสัญญาที่โจทก์จะต้องถูกปรับ ค่าปรับที่โจทก์เรียกร้องนี้เป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ มิใช่ค่าเสียหายโดยตรงอันเนื่องมาจากการละเมิดของจำเลย เมื่อจำเลยไม่ทราบและไม่อาจคาดเห็นได้ว่าโจทก์จะต้องเสียค่าปรับเช่นว่านั้นด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับ200,000 บาทนี้จากจำเลย
ส่วนค่ารื้อถอนสถานที่เช่า ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และค่าเช่าโทรศัพท์ ซึ่งโจทก์นำสืบว่าเป็นเงินประมาณ 30,000 บาทนั้น เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยไม่ให้โจทก์โจทก์มิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น ปัญหาข้อนี้จึงมิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ 66,000 บาท โดยให้คิดหักออกจากเงินประกันความเสียหาย 99,000บาท ซึ่งโจทก์จะต้องคืนเงินประกันที่เหลือ 33,000 บาทแก่จำเลยชอบแล้วแต่ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ในต้นเงิน 66,000 บาท นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2518 ไปจนกว่าจำเลยชำระเสร็จนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยเพราะจำเลยได้วางเงินประกันค่าเสียหายไว้ที่โจทก์เกินกว่าจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับอยู่แล้ว ไม่จำต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์อีก
พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยในต้นเงิน 66,000 บาทนอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ”