แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 เป็นพนักงานสังกัดกรมการสัตว์ทหารบก จำเลยที่ 1 เป็นผู้แก้เลขจำนวนของ(ผ้าสีกากีนวล) ในต้นขั้วใบสั่งจ่าย(จาก 107 ผืนเป็น 307 ผืน) และจำเลยที่ 1 ได้ยักยอกผ้ากากีนวลปูนอนที่เจ้าหน้าที่กองคลังจ่ายเกิน (200 ผืนตามจำนวนที่แก้) จากฎีกาที่ตั้งเบิกไปนั้นเสีย ดังนี้เมื่อจำเลยที่3 ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมและจดบัญชีสิ่งของ(แอ๊กมี่2) กับเขียนต้นขั้วใบสั่งจ่ายใบสั่งจ่ายของ ใบนำออกและใบแจ้งจำนวนได้คิดราคาผ้าใส่ไว้ในต้นขั้วใบสั่งจ่ายและใบสั่งจ่ายเป็นเงิน 5076 บาทอันเป็นราคาของผ้าจำนวน 307 ผืนตั้งแต่แรก และเมื่อลงบัญชีแอ๊กมี่2จำเลยที่ 3 ยังเอาความเท็จมาแทงจำหน่ายว่าได้จ่ายผ้าให้กรมการสัตว์ทหารบกไป 307 ผืนราคา 5,176 บาท ให้ตรงกันอีกโดยไม่มีข้อแก้ตัว ดังนี้จำเลยที่ 3 ได้ชื่อว่าสมคบกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิด
อนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 3 รู้อยู่ว่าฎีกา (ที่2/2495) ของกรมการสัตว์ทหารบกได้รับอนุญาตให้เบิกผ้าสีกากีนวลปูนอนได้เพียง 107 ผืน แต่จำเลยที่ 3 กลับนำความซึ่งรู้อยู่ว่าเท็จมาจดลงในใบสั่งจ่ายของและบัญชีแอ๊กมี่2ว่าได้จ่ายผ้าสีกากีนวลปูนอนให้กรมการสัตว์ทหารบก 307 ผืนเช่นนี้ จำเลยที่ 3 จึงมีความผิดตามมาตรา 230 ไม่ใช่ตามมาตรา 133 เพราะจำเลยที่ 3 ไม่ใช่เจ้าพนักงานที่มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดๆ แล้วไปกระทำการเกี่ยวข้องหาผลประโยชน์หรือกำไรโดยเอาส่วนลดและกำไรในการซื้อขายหรือเข้าหุ้นส่วนกันซื้อ และไม่ใช่ตามมาตรา 317 ที่โจทก์อ้าง
ความผิดของจำเลยที่ 3 ตามมาตรา 230 นั้นมิใช่ทำต่อทรัพย์ของรัฐบาลที่จำเลยที่ 1 เอาไป จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 89 พระราชบัญญัติพระธรรมนูญศาลทหาร 2477 ดังนี้ศาลก็ไม่บังคับให้จำเลยที่ 3 ใช้ราคาทรัพย์ตามที่โจทก์ขอ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องว่า จำเลยที่ 4 เป็นเจ้าพนักงานสังกัดกรมการสัตว์ทหารบก จำเลยที่ 1 สังกัดกรมการสัตว์ทหารบกมีหน้าที่รับสิ่งของของกรมการสัตว์ทหารบกซึ่งเบิกจากคลังกรมยกกระบัตรทหารบก
จำเลยที่ 2 เป็นนายทหารประจำการมีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจฎีกาเบิกของ ๆ หน่วยราชการในกองทัพบก
จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นพลเรือน จำเลยที่ 3 ทำหน้าที่ควบคุมและจดบัญชีสิ่งของ (แอ๊กมี่2) กับเขียนต้นขั่วใบสั่งจ่ายของ ฯลฯ จำเลยที่ 4 มีหน้าที่ตรวจฎีกาเบิกของ ๆ หน่วยราชการกองทัพบก
เจ้ากรมการสัตว์ทหารบกยื่นฎีกาขอเบิกของรวม 6 รายการ ๆ ละ107 ชิ้น คือผ้าสีกากีปูนอน 107 มุ้ง 107 หลัง ผ้าหนาปูนอน 107 ผืน ฯลฯ มอบให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับแทน เมื่อเจ้าหน้าที่รับฎีกาส่งให้จำเลยที่ 4ตรวจตามหน้าที่ จำเลยที่ 4 บันทึกว่า “ตรวจแล้ว เบิกไม่เกินอัตรา ของมีจ่ายเฉพาะผ้าหนาปูนอนเบิกขาดอัตรา ควรจ่ายให้ตามหมายเหตุ” ฎีกาส่งต่อไปยังจำเลยที่ 2 ๆ บันทึกใจความอย่างเดียวกับ จำเลยที่ 4 แล้วนำเสนอหัวหน้าแผนกที่ 1 กรมยกกระบัตรทหารบกเพื่อสั่งจ่ายตามฎีกาฉบับนั้น หัวหน้าแผนกสั่งจ่ายตามเสนอ
ต่อมาจำเลยทั้งสี่มีเจตนาทุจริต คือจำเลยที่ 3 บังอาจเอาความซึ่งรู้อยู่ว่าเป็นเท็จมาจดลงในต้นขั้วใบสั่งจ่ายของและใบสั่งจ่ายของที่ 83/2495 ลงวันที่ 14 ม.ค. 2495 ให้จ่ายผ้าสีกากีนวลจำนวน 307 ผืนให้แก่จำเลยที่ 4ซึ่งมาทำการเบิกเพื่อรับไปตามฎีกาที่กล่าวข้างต้น ซึ่งหัวหน้าแผนกที่ 1 อนุญาตให้จ่ายเพียง 107 ผืน แล้วจำเลยที่ 4 บังอาจเอาความที่รู้ว่าเป็นเท็จมาบันทึกในต้นขั้วใบสั่งจ่ายของและใบสั่งจ่ายของว่าตรวจถูกต้องแล้ว แล้วจำเลยที่ 2สั่งให้เจ้าหน้าที่กองคลังที่ 2 จ่ายผ้าสีกากีนวลซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับของแทนเป็นจำนวน 307 ผืน โดยจำเลยที่ 2 รู้ว่ากรมการสัตว์ทหารบกขอเบิกเพียง 107 ผืน เจ้าหน้าที่กองคลังที่ 2 จึงได้จ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 รับไปเกินจำนวนขอเบิก200 ผืนราคา 3,372 บาท จำเลยที่ 1 รับไปส่งกรมการสัตว์ทหารบกเพียง 100 ผืนที่เหลืออีก 200 ผืน จำเลยยักยอกเอาไปเป็นประโยชน์ของตนเสียขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 133, 230, 317 ฯลฯ และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 3,372 บาทแก่กองทัพบก
ชั้นแรกจำเลยที่ 1 รับสารภาพตามฟ้อง แต่ภายหลังให้การใหม่ว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดแต่ผู้เดียวมิได้สมคบกับจำเลยอื่นส่วนจำเลยอื่น ๆ ปฏิเสธ
ศาลทหารกรุงเทพฯ เชื่อว่าจำเลยสมคบกันทำผิดจริง พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานทุจริตต่อหน้าที่ ยักยอกทรัพย์และจดทะเบียนเท็จตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 133, 230 ฯลฯ ให้รวมกระทงลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนดคนละ 5 ปี ปราณีลดโทษให้จำเลยที่ 1 ตามมาตรา 59 กึ่งหนึ่งคงจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ 2 ปี 6 เดือน ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ราคาทรัพย์ 3,372 บาทแก่กองทัพบกตามพระราชบัญญัติพระธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2477 มาตรา 89
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลทหารกลางเห็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 133 พระราชกำหนดแก้ไขกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2484มาตรา 3 และมาตรา 225 แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวกันจึงให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 225 ซึ่งเป็นบทหนัก ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ 5 ปี ลดตามมาตรา 59 กึ่งหนึ่งคงจำคุก 2 ปี 6 เดือน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ราคาทรัพย์ 3,372 บาท แก่กองทัพบก ส่วนจำเลยที่ 2, 3, 4 นั้น พยานโจทก์ยังมีข้อสงสัยไม่แน่ว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้อง ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2, 3, 4
อัยการโจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา ศาลทหารกรุงเทพฯ สั่งรับฎีกาโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2, 3, 4 ส่วนฎีกาของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 และฎีกาของจำเลยที่ 1 นั้น ศาลทหารกรุงเทพฯ ไม่รับโดยอ้างว่าเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงซึ่งฎีกาไม่ได้เพราะศาลทหารกรุงเทพฯและศาลทหารกลางพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1 เพียง 2 ปี 6 เดือนต้องห้ามตามพระราชบัญญัติพระธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2477 มาตรา 47 สำหรับจำเลยที่ 1 จึงไม่มีปัญหามาสู่ศาลฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงเป็นอันฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้แก้เลขจำนวนของในต้นขั้วใบสั่งจ่าย ใบสั่งจ่าย ใบแจ้งจำนวนของจริงและจำเลยที่ 1 ได้ยักยอกผ้ากากีนวลปูนอนที่เจ้าหน้าที่กองคลังจ่ายเกิน (200 ผืน) จากฎีกาที่ตั้งเบิกไปนั้นเสีย ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยคงมีว่าในการนี้จำเลยที่ 2, 3, 4 ได้กระทำผิดอย่างใดหรือไม่
ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้เขียนใบสั่งจ่ายในต้นขั้วใบสั่งจ่ายและใบสั่งจ่ายนั้น จำเลยที่ 3 ได้ตรวจราคาผ้ารายนี้ว่าเป็นราคา 5,176 บาทอันเป็นราคาของผ้า 307 ผืน ทั้งในบัญชีคุมยอดสิ่งของคือบัญชีแอ๊กมี่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 4 มีหน้าที่เป็นผู้ทำจำเลยที่ 3 ก็จดลงในบัญชีว่า จ่ายผ้า 307 ผืนราคา 5,176 บาท
ข้อที่จำเลยที่ 3 อ้างว่า วานนายอินคิดราคาผ้าดังกล่าวให้แล้วจำเลยเป็นผู้ลอก จำเลยไม่ได้คิดของนั้นก็ดี และตามบัญชีแอ๊กมี่ 2 นั้น ต่อมาปรากฏว่าบัญชีของนายเสวกเป็น 307 ผืน จำเลยที่ 3 เข้าใจว่าจำเลยที่ 3 ลงบัญชีผิดไป จึงทำบัญชีแอ๊กมี่ 2 ขึ้นใหม่ให้ยอดตรงกับคลัง ข้ออ้างของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ได้ เพราะขณะนายอินและนายเสวก มาเบิกความเป็นพยานจำเลยที่ 3 ก็มิได้ถามเกี่ยวกับข้อที่จำเลยอ้างนี้ให้ปรากฏ ทั้งหลักฐานที่หยิบยกขึ้นแก้นี้ก็มิได้อ้างมาเป็นพยาน
เห็นว่าจำเลยที่ 3 คิดราคาผ้าใส่ไว้ในต้นขั้วใบสั่งจ่ายและใบสั่งจ่ายเป็นเงิน 5,176 บาทอันเป็นราคาของผ้าจำนวน 307 ผืนตั้งแต่แรกและเมื่อลงบัญชีแอ๊กมี่ 2 จำเลยที่ 3 ก็ยังเอาความเท็จมาแทงจำหน่ายว่าได้จ่ายผ้าให้กรมการสัตว์ทหารบกไป 307 ผืนราคา 5,176 บาท ให้ตรงกันอีก จึงควรเชื่อว่าจำเลยที่ 3 ได้สมคบกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำผิดนี้ ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 4 คดียังฟังเอาแน่ไม่ได้ว่าได้สมคบกันจำเลยที่ 1 ที่ 3 ควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 4 ปัญหาคงเหลืออยู่ว่าจำเลยที่ 3 มีความผิดฐานใดบ้าง
ความผิดของจำเลยที่ 3 ไม่ต้องด้วยมาตรา 133 เพราะจำเลยที่ 3 ไม่ใช่เจ้าพนักงานที่มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด ๆ แล้วไปกระทำการเกี่ยวข้องหาผลประโยชน์หรือกำไรโดยเอาส่วนลดและกำไรในการซื้อขายหรือเข้าหุ้นส่วนกับผู้ซื้อดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ และไม่ใช่ความผิดตามมาตรา 317 ที่โจทก์อ้าง แต่จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ที่จะต้องออกใบสั่งจ่ายของและลงบัญชีแอ๊กมี่ 2 ซึ่งเป็นบัญชีควบคุมยอดสั่งของในคลัง จำเลยที่ 3 รู้อยู่ว่าฎีกาที่ 2/2495 ของกรมการสัตว์ทหารบกได้รับอนุญาตให้เบิกผ้าสีกากีนวลปูนอนได้เพียง 107 ผืน แต่จำเลยที่ 3 กลับนำความซึ่งรู้อยู่ว่า เป็นความเท็จมาจดลงในใบสั่งจ่ายของและบัญชีแอ๊กมี่ 2 ว่าได้จ่ายผ้าสีกากีนวลปูนอนให้กรมการสัตว์ทหารบก 307 ผืน จำเลยที่ 3 จึงมีความผิดตามมาตรา 230
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลทหารกลางว่าจำเลยที่ 3 มีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 230 ให้จำคุก 5 ปี นอกจากนี้ยืนอนึ่งความผิดของจำเลยที่ 3 ตามมาตรา 230 นั้น มิใช่ทำต่อทรัพย์ของรัฐบาลที่จำเลยที่ 1 เอาไป จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 89 พระราชบัญญัติพระธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2477 ดังนี้ศาลก็ไม่บังคับให้จำเลยที่ 3ใช้ราคาทรัพย์ตามที่โจทก์ขอ