แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้คัดค้านที่ 1 บรรยายคำคัดค้านไว้แล้วว่า ผู้คัดค้านที่ 1เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยเป็นผู้รับพินัยกรรมและมีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย จึงไม่จำต้องแนบพินัยกรรมมาท้ายคำคัดค้านด้วย การที่คำคัดค้านระบุว่าเจ้ามรดกยกทรัพย์สินให้ผู้คัดค้านที่ 1เพียงผู้เดียว แต่ชั้นพิจารณาได้ความตามพินัยกรรมว่า ทรัพย์สินรายการที่ 1 เจ้ามรดกได้ทำสัญญาจะขายให้บุคคลภายนอก เงินที่ได้ยกให้กับผู้คัดค้านที่ 1 ส่วนหนึ่ง กับยกให้ ส. อีกส่วนหนึ่งส่วนทรัพย์รายการที่ 2 ตกได้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ทั้งหมด เช่นนี้เป็นเรื่องพยานหลักฐานที่นำสืบได้ความไม่เต็มบริบูรณ์ตามคำคัดค้านและก็ยังได้ความว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกอยู่ ไม่มีกฎหมายบังคับว่าผู้ที่อ้างเทปบันทึกเสียงเป็นพยานจะต้องถอดข้อความในเทปออกมา หรือต้องนำเทปมาเปิดในขณะพิจารณาคดีของฝ่ายที่อ้างเองหรือฝ่ายตรงข้าม เพราะการนำสืบเสียงพูดเป็นการนำสืบวัตถุพยาน พินัยกรรมฉบับหลังมีข้อกำหนดเกี่ยวกับทรัพย์มรดกรายเดียวกับที่ระบุไว้ในพินัยกรรมฉบับก่อนเท่านั้น มีผลเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมฉบับก่อนเฉพาะเกี่ยวกับทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1697 สิทธิของผู้ร้องที่จะได้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมฉบับก่อนจึงระงับ ส่วนข้อกำหนดในการตั้งผู้จัดการมรดกยังคงมีผลอยู่แต่ตามพินัยกรรมระบุให้ผู้ร้อง ด.และช. เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน ถ้าผู้ใดตาย ให้ผู้มีชีวิตอยู่ดำเนินการแทน ดังนั้นเมื่อด.ตายผู้ร้องต้องร่วมกับช. จัดการมรดกของเจ้ามรดก การที่ผู้ร้องขอให้ศาลตั้งเฉพาะผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกจึงขัดต่อเจตนารมณ์ของเจ้ามรดก และเมื่อผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำร้องคัดค้านโดยขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกด้วยเป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาว่าสมควรตั้งผู้ใด ปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมจึงสมควรตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก ส่วนผู้ร้องไม่ได้เป็นทายาทโดยธรรมและไม่มีส่วนได้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม ศาลล่างทั้งสองตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกจึงเหมาะสม.
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า หม่อมหลวงเจริญ ศิวะเกื้อ เจ้ามรดกทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2521 ยกทรัพย์สินที่จะได้จากผลในคดีหมายเลขดำที่ 10798/2520 ของศาลชั้นต้น โดยให้ผู้ร้องกับนางดวงแข ศิวะเกื้อ และให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ต่อมาคดีถึงที่สุด โดยเจ้ามรดกได้ที่ดิน 2 แปลง พร้อมตึกแถว 2 คูหาเจ้ามรดกได้ทำสัญญาจะขายทรัพย์ที่ได้มาบางส่วน ต่อมาเจ้ามรดกตายมีเหตุขัดข้องเกี่ยวกับการรับที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากผลของคดีและการโอนขายตามสัญญา ผู้ร้องมีส่วนได้เสียและไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย ขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำร้องคัดค้านว่า เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้ผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 1 ไปขอรับมรดกดังกล่าว แต่มีเหตุขัดข้อง ผู้ร้องมิใช่ทายาท ไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก ไม่มีสิทธิจะเป็นผู้จัดการมรดก ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้มีส่วนได้เสีย และไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นบุตรของเจ้ามรดก และนายแทน บุนนาค ก่อนตายเจ้ามรดกมิได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สิน ให้ แก่ผู้ใด ผู้คัดค้านที่ 2 มีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 มิใช่ทายาท ทั้งไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก ขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก
ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 2 ตั้งให้ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของหม่อมหลวงเจริญ ศิวเกื้อให้มีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายต่อไป
ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 บรรยายไว้ขัดแล้วว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยเป็นผู้รับพินัยกรรมและมีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย เมื่อบรรยายไว้ชัดแล้วเช่นนี้ จึงหาจำเป็นต้องแนบพินัยกรรมมาท้ายคำคัดค้านไม่การที่คำคัดค้านระบุว่าเจ้ามรดกยกทรัพย์สินให้ผู้คัดค้านที่ 1เพียงผู้เดียว แต่ในชั้นพิจารณาได้ความตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ค.1ว่า ทรัพย์สินรายการที่ 1 คือที่ดินพร้อมตึกแถว 2 คูหา เจ้ามรดกได้ทำสัญญาจะขายให้บุคคลภายนอก รับเงินมัดจำมาแล้ว เงินส่วนที่ขาดอยู่ได้ยกให้ผู้คัดค้านที่ 1 ส่วนหนึ่ง กับยกให้นายสดมภ์ อีกส่วนหนึ่งนั้น เป็นเรื่องพยานหลักฐานที่นำสืบได้ความไม่เต็มบริบูรณ์ตามคำคัดค้าน แต่ก็ยังได้ความว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกอยู่ เพราะตามพินัยกรรมฉบับดังกล่าวนอกจากเงินค่าที่ดินส่วนหนึ่งจะตกได้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 แล้ว ยังมีที่ดิน 50 ตารางวา ซึ่งเป็นทรัพย์สินรายการที่ 2 ตกได้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 อีกด้วย
ส่วนการที่ผู้คัดค้านที่ 1 นำสืบโดยมิได้ถอดเทปออกมาและได้นำเทปมาเปิดต่อเมื่อถึงวาระที่ตัวผู้คัดค้านที่ 1 เบิกความ มิได้นำมาเปิดต่อหน้าผู้ร้องในขณะพิจารณาคดีฝ่ายผู้ร้องนั้น หามีกฎหมายบังคับให้ถอดข้อความออกมาหรือต้องนำสืบโดยนำเทปมาเปิดในขณะพิจารณาคดีฝ่ายผู้ร้องหรือต้องถามค้านพยานผู้ร้องเสียก่อนไม่ เพราะการนำสืบเสียงพูดเป็นการนำสืบวัตถุพยาน วิธีการใดที่จะทำให้ศาลได้ฟังและรับเสียงนั้นไว้เป็นพยานหลักฐานได้ ผู้นำสืบก็ชอบที่จะทำได้
พินัยกรรมเอกสารหมาย ค.1 ซึ่งเป็นพินัยกรรมฉบับหลังเป็นพินัยกรรมที่เจ้ามรดกทำขึ้นตามเจตนาของเจ้ามรดก มิใช่เอกสารปลอมและโดยที่เป็นพินัยกรรมที่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับทรัพย์สินรายเดียวกับที่ระบุไว้ในพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.3 อันเป็นพินัยกรรมฉบับก่อนพินัยกรรมเอกสารหมาย ค.1 จึงมีผลเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมฉบับหมาย ร.3 แล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1647 สิทธิของผู้ร้องที่จะได้รับส่วนแบ่งมรดกตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.3 จึงระงับลง แม้พินัยกรรมเอกสารหมาย ร.3 จะได้ระบุให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกไว้ก็ตาม แต่เจ้ามรดกได้กำหนดให้นางดวงแขจ่าสิบตำรวจชุมพล และผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน ถ้าผู้ใดเสียชีวิตลงให้ผู้ที่มีชีวิตอยู่ดำเนินการแทนต่อไป ดังนั้น เมื่อนางดวงแข ถึงแก่กรรมไปก่อน ผู้ร้องกับจ่าสิบตำรวจชุมพล ต้องร่วมกันจัดการมรดก การที่ผู้ร้องมาร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้าของมรดกแต่เพียงลำพัง จึงขัดต่อเจตนารมณ์ของเจ้ามรดกตามพินัยกรรมดังกล่าว เมื่อไม่อาจตั้งผู้จัดการมรดกให้เป็นไปตามข้อกำหนดพินัยกรรมได้ และผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำร้องค้ดค้าน โดยขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก ด้วยเช่นนี้จึงเป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาว่าสมควรจะแต่งตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก และข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม ส่วนผู้ร้องไม่ได้เป็นทายาทโดยธรรม และไม่มีส่วนได้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมเลย ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกจึงเหมาะสมแล้ว
พิพากษายืน.