คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12464/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 บัญญัติว่า “สำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว” คำว่า “ราคาของ” หมายความถึง ราคาของที่แท้จริงไม่ใช่ราคาของที่สำแดงไว้ขาด ส่วนคำว่า “ค่าอากร” ก็มิได้จำกัดไว้ว่าให้คิดเฉพาะค่าอากรที่ชำระขาดไป จึงหมายถึงค่าอากรตามอัตราที่ต้องชำระโดยไม่คำนึงว่าได้ชำระค่าอากรไปแล้วหรือไม่เพียงใด เพราะเป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติให้นำราคาของกับค่าอากรมาเป็นหลักในการกำหนดอัตราโทษทางอาญาคือโทษปรับ มิใช่เพื่อให้ผู้กระทำผิดชำระค่าอากร ซึ่งเป็นเรื่องในทางแพ่งแต่อย่างใด จึงจะแปลว่ากฎหมายมุ่งให้คิดเฉพาะค่าของกับค่าอากรที่ยังขาดอยู่มิได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27, 99 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 จ่ายเงินรางวัลแก่ผู้จับและผู้นำจับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2496 (ที่ถูก พ.ศ.2469) มาตรา 27, 99 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ความผิดตามมาตรา 27, 99 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 27 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 การกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ปรับจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันทุกกระทงรวมเป็นเงิน 358,980,953.50 บาท ให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดในค่าปรับไม่เกิน 101,739,634.40 บาท จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดในค่าปรับไม่เกิน 324,954,456.80 บาท และจำเลยที่ 6 ร่วมรับผิดในค่าปรับไม่เกิน 34,026,496.68 บาท ปรับจำเลยที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันเป็นเงิน 9,961,260.48 บาทและปรับจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันเป็นเงิน 56,527,598.80 บาทจ่ายสินบนนำจับร้อยละสามสิบของเงินค่าปรับและจ่ายรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับอีกร้อยละยี่สิบห้าของเงินค่าปรับ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 6 ให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดในค่าปรับกับจำเลยที่ 1 ด้วยไม่เกิน 26,937,598.40 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 4 และที่ 5 ยื่นคำร้องขอถอนฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ถอนฎีกาได้ จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 4 และที่ 5 ออกจากสารบบความศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นำสินค้าซึ่งเป็นของที่มีแหล่งกำเนิดในต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรและยื่นใบขนสินค้าขาเข้าแสดงราคาสินค้า รายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมใบกำกับสินค้าที่ยื่นประกอบใบขนสินค้าขาเข้าดังกล่าวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ศุลกากรโดยแสดงราคาสินค้าต่ำกว่าความเป็นจริงอันเป็นความเท็จ เป็นการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากรทำให้เสียภาษีศุลกากรน้อยลงโดยเจตนาฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยจำเลยที่ 1 ยื่นใบกำกับสินค้าอันเป็นเท็จจำนวน 47 ฉบับตามสำเนาใบกำกับสินค้าแนบท้ายใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม จำเลยที่ 2 ยื่นใบกำกับสินค้าอันเป็นเท็จจำนวน 1 ฉบับ ตามสำเนาใบกำกับสินค้าแนบท้ายใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม จำเลยที่ 3 ยื่นใบกำกับสินค้าอันเป็นเท็จจำนวน 7 ฉบับ ตามสำเนาใบกำกับสินค้าแนบท้ายใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เพียงประการเดียวว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ปรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นเงิน 4 เท่า ของราคาของทั้งหมดซึ่งรวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วนั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าคำว่า “ราคาของ” ตามบทบัญญัติดังกล่าว หมายความถึงราคาของที่แท้จริงไม่ใช่ราคาของที่สำแดงไว้ขาด ส่วนคำว่า “ค่าอากร” ก็มิได้จำกัดไว้ว่าให้คิดเฉพาะค่าอากรที่ชำระขาดไปจึงหมายถึงค่าอากรตามอัตราที่ต้องชำระโดยไม่คำนึงว่าได้ชำระค่าอากรไปแล้วหรือไม่เพียงใดเพราะเป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติให้นำราคาของกับค่าอากรมาเป็นหลักในการกำหนดอัตราโทษทางอาญาคือโทษปรับ มิใช่เพื่อให้ผู้กระทำผิดชำระค่าอากร ซึ่งเป็นเรื่องในทางแพ่งแต่อย่างใด จึงจะแปลว่ากฎหมายมุ่งหมายให้คิดเฉพาะค่าของกับค่าอากรที่ยังขาดอยู่มิได้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share