คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3753/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เครื่องหมายการค้าคำว่า “VFLEX” เป็นคำที่ไม่มีคำแปลหรือปรากฏในพจนานุกรม จึงเป็นคำที่โจทก์ประดิษฐ์ขึ้น แม้โจทก์ไม่ได้ทำให้อักษร V มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากอักษรโรมัน V ซึ่งเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ คำดังกล่าวโดยรวมทั้งคำก็ยังเป็นคำประดิษฐ์อยู่ อย่างไรก็ดีแม้จะพิจารณาโดยการแยกคำ ความหมายก็หาได้ยุติดังที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยไม่ กล่าวคือ อักษร V ที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าอ้างถึงพจนานุกรมอักษรย่ออังกฤษ – ไทย โดยสุนทร ประสารพจน์ ว่า อักษรโรมัน V เป็นคำย่อของคำว่า Very แปลว่า มาก มากๆ อย่างยิ่ง แท้จริง นั้น ตามสำเนาพจนานุกรมดังกล่าว อักษร V มิได้เป็นคำย่อของ Very ซึ่งแปลว่า มาก มากๆ อย่างยิ่ง แท้จริง เท่านั้น แต่เป็นคำย่อของหลายสิ่ง เมื่อพิจารณาพจนานุกรมเล่มอื่นก็เช่นกัน ดังนั้นอักษร V จึงมีความหมายหลากหลายจนไม่อาจยืนยันได้อย่างแน่ชัดว่าหมายถึงสิ่งใด สำหรับคำว่า FLEX ตามสำเนาพจนานุกรม Oxford River Books English- Thai Dictionary หากเป็นคำนาม หมายถึงสายไฟ หากเป็นคำกริยาแปลว่า งอ คำว่า FLEX จึงไม่ได้แปลว่า โค้งงอ เพียงอย่างเดียว การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาหาความหมายของคำว่า “VFLEX” โดยแยกคำเป็นภาคส่วน แล้วนำความหมายแต่ละภาคส่วนตามที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาเลือกมารวมกัน เพื่อให้ความหมายของคำดังกล่าวว่าโค้งงอได้อย่างมาก โดยไม่ปรากฏหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าเหตุใดคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงหยิบยกความหมายนั้น ๆ มาใช้ จึงไม่ถูกต้อง เพราะอักษร V และคำว่า FLEX ต่างมีความหมายหลายอย่าง เมื่อนำมารวมกันแล้วจะมีความหมายอย่างใดขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกใช้ความหมายใดของอักษร V กับความหมายใดของคำว่า FLEX นอกจากนี้การพิจารณาเครื่องหมายการค้าที่อาจรับจดทะเบียนได้หรือไม่นั้นต้องมองภาพโดยรวมของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเองด้วย ทั้งการไม่สามารถหาความหมายของคำว่า “VFLEX” ที่ชัดเจนได้เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่สนับสนุนว่าคำดังกล่าวเป็นคำที่โจทก์ประดิษฐ์ขึ้น จึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ และเป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 ในฐานะคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า และให้จำเลยทั้งสิบเอ็ดร่วมกันดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า “VFLEX” ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 758355 ของโจทก์ต่อไป
จำเลยทั้งสิบเอ็ดให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า “VFLEX” ของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 758355 มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 524/2555 ให้จำเลยทั้งสิบเอ็ดดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “VFLEX” ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 758355 ของโจทก์ต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสิบเอ็ดอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบเอ็ดว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า “VFLEX” เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ตามมาตรา 7 วรรคสอง (2) (3) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 หรือไม่ เห็นว่า เครื่องหมายการค้า คำว่า “VFLEX” เป็นคำที่ไม่มีคำแปลหรือปรากฏในพจนานุกรม จึงเป็นคำที่โจทก์ประดิษฐ์ขึ้น แม้โจทก์ไม่ได้ทำให้อักษร V มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากอักษรโรมัน V ซึ่งเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ คำดังกล่าวโดยรวมทั้งคำก็ยังเป็นคำประดิษฐ์อยู่ อย่างไรก็ดีแม้จะพิจารณาโดยการแยกคำ ความหมายก็หาได้ยุติดังที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยไม่ กล่าวคือ อักษร V ที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าอ้างถึงพจนานุกรมอักษรย่ออังกฤษ – ไทย โดยสุนทร ว่า อักษรโรมัน V เป็นคำย่อของคำว่า Very แปลว่า มาก มากๆ อย่างยิ่ง แท้จริง นั้น ตามสำเนาพจนานุกรมดังกล่าว อักษร V มิได้เป็นคำย่อของ Very ซึ่งแปลว่า มาก มากๆ อย่างยิ่ง แท้จริง เท่านั้น แต่เป็นคำย่อของหลายสิ่ง หากแบ่งกลุ่มตามไวยากรณ์ ได้แก่ (1) คำนาม เป็นคำย่อของสิ่งต่างๆ เช่น บักเตรีชนิดหนึ่ง (vibrio) ตำแหน่งราชาคณะผู้ปกครอง (vicargae) ชนะ (victory) หมู่บ้าน (village) ซอฝรั่งอย่างเล็ก (violin) ไวรัส (virus) สายตา (vision) ความสามารถในการเห็น (visual capacity) เสียงพูด (voice) ภูเขาไฟ (volcano) หน่วยวัดความดันไฟฟ้า (volt) ปริมาตร (volume) และอาสาสมัคร (volunteers) เป็นต้น (2) คำกริยา เป็นคำย่อของ โปรดดู (vide) หรือ ออกเสียง (voice) (3) คำบุพบท เป็นคำย่อของ แทน รอง (vice) (4) คำคุณศัพท์และคำวิเศษณ์ เป็นคำย่อของ แท้จริง จริงๆ มากๆ (very) เกี่ยวกับไวรัส ( viral) หรือเกี่ยวกับปาก ปากเปล่า ที่แสดงการพูด โดยทางการพูด (voice) หากพิจารณาจากพจนานุกรมอีกเล่มหนึ่งที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าอ้างอิงคือ Oxford River Books English- Thai Dictionary ปรากฏว่า อักษร V หมายถึง (เอ) พยัญชนะตัวที่ 22 ของภาษาอังกฤษ (บี) เลขห้าของโรมัน (ซี) สิ่งของรูปตัววี (ดี) V1 คือ ระเบิดเครื่องบินเล็กไร้นักบินที่เยอรมันส่งมาโจมตีกรุงลอนดอนในสงครามโลกครั้งที่ 2 V2 เป็นจรวดวิถีไกลรุ่นหลังวีหนึ่งและยิงโจมตีอังกฤษ พจนานุกรมดังกล่าวยังได้แสดงวิธีที่นำอักษร V ประกอบคำอื่นเช่น V-neck, V-necked, V-sign นอกจากนี้ระบุว่า V ย่อมาจาก volt ส่วน V. ย่อมาจาก (เอ) versus (บี) very (ซี) verse ดังนั้นอักษร V จึงมีความหมายหลากหลายจนไม่อาจยืนยันได้อย่างแน่ชัดว่าหมายถึงสิ่งใด สำหรับคำว่า FLEX ตามสำเนาพจนานุกรม Oxford River Books English- Thai Dictionary หากเป็นคำนาม หมายถึง สายไฟ หากเป็นคำกริยา แปลว่า งอ (ใช้กับข้อต่อ แขนขา) คำว่า FLEX จึงไม่ได้แปลว่า โค้งงอ เพียงอย่างเดียว การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาหาความหมายของคำว่า “VFLEX” โดยแยกคำเป็นภาคส่วน แล้วนำความหมายแต่ละภาคส่วนตามที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาเลือกมารวมกัน เพื่อให้ความหมายของคำดังกล่าวว่า โค้งงอได้อย่างมาก โดยไม่ปรากฏหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าเหตุใดคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงหยิบยกความหมายนั้นๆ มาใช้ จึงไม่ถูกต้อง เพราะอักษร V และคำว่า FLEX ต่างมีความหมายหลายอย่าง เมื่อนำมารวมกันแล้วจะมีความหมายอย่างใดขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกใช้ความหมายใดของอักษร V กับความหมายใดของคำว่า FLEX คำว่า “VFLEX” จึงยังไม่แน่ชัดว่าหมายถึงสิ่งใดนอกจากนี้การพิจารณาเครื่องหมายการค้าที่อาจรับจดทะเบียนได้หรือไม่นั้น ต้องมองภาพโดยรวมของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเองด้วย ซึ่งจำเลยทั้งสิบเอ็ดไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าบุคคลในสาขาอาชีพต่างๆ ที่มีความรู้เกี่ยวกับภาษาอังกฤษในระดับทั่วไปในสังคมเมื่อเห็นคำว่า “VFLEX” แล้วจะเข้าใจความหมายว่าหมายถึง โค้งงอได้อย่างมาก เช่นเดียวกับที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยหรือไม่ ดังนั้นเมื่อคำว่า “VFLEX” ยังไม่มีคำแปลที่แน่นอน การนำไปใช้กับรายการสินค้า หน้ากากป้องกันมลพิษที่ไม่ใช้ในการช่วยทำให้หายใจ ย่อมไม่อาจทำให้เข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “VFLEX” เป็นสินค้าที่โค้งงอเข้ากับรูปหน้า หรือโค้งกระชับปรับเข้ากับรูปหน้าได้อย่างดี เครื่องหมายการค้าคำว่า “VFLEX” จึงเป็นคำอันไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง นอกจากนี้การไม่สามารถหาความหมายของคำว่า “VFLEX” ที่ชัดเจนได้เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่สนับสนุนว่าคำดังกล่าวเป็นคำที่โจทก์ประดิษฐ์ขึ้น (coined word) ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น กรณีรับฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า “VFLEX” เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ตามมาตรา 7 วรรคสอง (2) (3) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 และเป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 524/ 2555 และให้จำเลยทั้งสิบเอ็ด ดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “VFLEX” ตามคำขอเลขที่ 758355 ของโจทก์ต่อไป จึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบเอ็ดฟังไม่ขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบเอ็ดว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันเกิดจากการจำหน่าย เผยแพร่ หรือโฆษณาจนแพร่หลายแล้ว ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 7 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share