แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หลังจากโจทก์ทราบว่าจำเลยผิดสัญญาไม่ส่งมอบต้นพันธุ์ยางพาราให้แก่โจทก์ครบถ้วน โจทก์ได้สั่งซื้อต้นพันธุ์ยางพาราจากบุคคลอื่นมาปลูกทดแทนลงในแปลงเพาะปลูกที่โจทก์ไถดินจัดเตรียมไว้ จึงถือได้ว่าโจทก์ได้รับประโยชน์จากการไถดินเตรียมแปลงเพาะปลูกแล้ว ย่อมไม่มีความเสียหายเป็นค่าไถ่ดินเตรียมแปลงเพาะปลูกที่โจทก์จะมาเรียกร้องให้จำเลยรับผิด
จำเลยทำบันทึกเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาเดิมยอมรับว่าเป็นฝ่ายผิดสัญญาเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายและยินยอมชดเชยค่าเสียหายให้แก่โจทก์ด้วยการส่งมอบต้นพันธุ์ยางพาราเพิ่มอีกจำนวน 20,000 ต้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อให้จำเลยรับผิดสัญญาเดิม มิใช่ให้รับผิดตามบันทึกเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาเดิม โจทก์จึงไม่อาจเรียกให้จำเลยรับผิดในต้นพันธุ์ยางพาราจำนวน 20,000 ต้น เพราะต้นพันธุ์ยางพาราดังกล่าวเป็นเพียงค่าเสียหายที่จำเลยตกลงว่าจะชดเชยให้แก่โจทก์ ไม่ใช่ต้นพันธุ์ยางพาราที่จำเลยจะต้องส่งมอบตามสัญญาเดิม
เบี้ยปรับนั้น เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัญญา เจ้าหนี้ย่อมเรียกเบี้ยปรับแทนการชำระหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 380 วรรคหนึ่ง แต่ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้ย่อมเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายได้เท่านั้น ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 380 วรรคสอง เมื่อศาลกำหนดค่าสินไหมทดแทนจากการที่โจทก์ต้องซื้อต้นพันธุ์ยางพาราจากผู้อื่นในราคาที่สูงขึ้น เป็นเงิน 1,988,595 บาท อันเป็นค่าเสียหายยิ่งกว่าเบี้ยปรับแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับจากจำเลยซึ่งเป็นการซ้ำซ้อนอีกได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 9,160,507.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 4,758,935 บาท และ 3,966,898 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์ครบถ้วน
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยชำระเงิน 1,377,434 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 19 กรกฎาคม 2555) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ โดยจำเลยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์บางส่วน
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นว่า จำเลยมิได้ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากผู้ลงนามในสัญญาจะซื้อจะขายไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ เป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นไม่รับวินิจฉัยให้ จำเลยรับว่าทำสัญญาจะซื้อจะขายต้นตอตาเขียวยางพารา และลงลายมือชื่อในบันทึกเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาจะซื้อจะขายต้นตอตาเขียวยางพารา จริง เพียงแต่อ้างว่าถูกโจทก์ข่มขู่ให้ลงลายมือชื่อ โจทก์ไม่จำต้องอ้างต้นฉบับเอกสารเป็นพยาน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้น การเลิกสัญญาไม่กระทบสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสี่ โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเนื่องจากจำเลยผิดสัญญาไม่ส่งมอบของให้ถูกต้องและเรียกเบี้ยปรับตามสัญญาไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 มีอายุความ 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 3,103,164 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จกับให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ส่วนค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาบางส่วน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่าเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2553 โจทก์ทำสัญญาซื้อต้นพันธุ์ยางพาราจากจำเลย 176,800 ต้น ในราคาต้นละ 13 บาท ตามสำเนาสัญญาจะซื้อจะขายต้นตอตาเขียวยางพารา จำเลยส่งมอบต้นพันธุ์ยางพาราให้โจทก์ไม่ครบถ้วนตามสัญญาวันที่ 11 กันยายน 2553 จำเลยทำบันทึกยอมชดเชยค่าเสียหายให้แก่โจทก์ โดยยอมส่งมอบพันธุ์ยางพาราให้โจทก์อีก 20,000 ต้น ตามสำเนาบันทึกเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาจะซื้อจะขายต้นตอตาเขียวยางพารา แต่จำเลยยังคงส่งมอบต้นพันธุ์ยางพาราให้โจทก์ไม่ครบถ้วนยังขาดอยู่อีก 152,573 ต้น
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เพียงใด เห็นว่า เงินมัดจำ 114,569 บาท ที่จำเลยรับไปจากโจทก์เกินกว่ามูลค่าของต้นพันธุ์ยางพาราที่ส่งมอบให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงต้องคืนให้แก่โจทก์ ส่วนค่าไถที่ดินเตรียมแปลงเพาะปลูกต้นพันธุ์ยางพารานั้น เห็นว่า หลังจากโจทก์ทราบว่าจำเลยผิดสัญญากับโจทก์โดยไม่ส่งมอบต้นพันธุ์ยางพาราให้แก่โจทก์ครบถ้วนตามสัญญา โจทก์ได้สั่งซื้อต้นพันธุ์ยางพาราจากบุคคลอื่นมาปลูกทดแทนต้นพันธุ์ยางพาราที่จำเลยจะต้องส่งมอบให้แก่โจทก์ลงในแปลงเพาะปลูกที่โจทก์ได้ไถดินจัดเตรียมไว้ จึงถือว่าโจทก์ได้รับประโยชน์จากการไถดินเตรียมแปลงเพาะปลูกต้นพันธุ์ยางพาราแล้ว ย่อมไม่มีค่าเสียหายในส่วนนี้ที่โจทก์จะมาเรียกร้องให้จำเลยต้องรับผิดได้ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายในส่วนของค่าไถดินเตรียมแปลงเพาะปลูกต้นพันธุ์ยางพาราให้แก่โจทก์ 500,000 บาทศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย สำหรับค่าเสียหายที่โจทก์ต้องสั่งซื้อต้นพันธุ์ยางพาราจากบุคคลอื่นมาปลูกทดแทนในราคาที่สูงกว่าที่ซื้อจากจำเลยนั้น เห็นว่า การที่จำเลยผิดสัญญาและทำให้โจทก์ต้องไปซื้อต้นพันธุ์ยางพาราจากบุคคลอื่นในราคาที่สูงขึ้นกว่าเดิมต้นละ 15 ถึง 27 บาท โดยโจทก์มีหลักฐานตามสัญญาจะซื้อจะขายต้นพันธุ์ยางพารา และใบสำคัญจ่าย เป็นพยานสนับสนุน จึงชอบที่โจทก์จะเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวได้ และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดให้จำเลยกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงินต้นละ 15 บาท ก็นับว่าเหมาะสมแล้ว ส่วนที่จำเลยทำบันทึกเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาจะซื้อจะขายต้นตอตาเขียวยางพารา ยอมรับว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายและยินยอมชดเชยค่าเสียหายให้แก่โจทก์ด้วยการส่งมอบต้นพันธุ์ยางพาราตามที่ซื้อขายให้แก่โจทก์เพิ่มอีก 20,000 ต้น เมื่อต่อมาจำเลยไม่สามารถส่งมอบต้นพันธุ์ยางพาราให้แก่โจทก์ครบถ้วน โจทก์ก็ฟ้องคดีนี้เพื่อให้จำเลยรับผิดตามสัญญาจะซื้อจะขายต้นตอตาเขียวยางพารา มิใช่ให้รับผิดตามบันทึกเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาจะซื้อจะขายต้นตอตาเขียวยางพารา โจทก์จึงไม่อาจที่จะเรียกให้จำเลยรับผิดในต้นพันธุ์ยางพารา 20,000 ต้น ได้ เพราะต้นพันธุ์ยางพารา 20,000 ต้น ดังกล่าวเป็นเพียงค่าเสียหายที่จำเลยตกลงว่าจะชดเชยให้แก่โจทก์ ไม่ใช่ต้นพันธุ์ยางพาราที่จำเลยต้องส่งมอบให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายต้นตอตาเขียวยางพารา จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ในจำนวนต้นพันธุ์ยางพารา 132,573 ต้น ราคาต้นละ 15 บาท เป็นเงิน 1,988,595 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดค่าเสียหายในส่วนที่โจทก์ต้องสั่งซื้อต้นพันธุ์ยางพาราจากผู้อื่นมาปลูกทดแทนในราคาที่สูงกว่าที่ซื้อจากจำเลยต้นละ 15 บาท จำนวน 152,573 ต้น เป็นเงิน 2,288,595 บาท จึงไม่ชอบ ส่วนเบี้ยปรับนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกเบี้ยปรับแทนการชำระหนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 วรรคหนึ่ง แต่ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้ย่อมเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายได้เท่านั้น ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 วรรคสอง เมื่อศาลกำหนดค่าสินไหมทดแทนจากการที่โจทก์ต้องซื้อต้นพันธุ์ยางพาราจากผู้อื่นในราคาที่สูงขึ้นเป็นเงิน 1,988,595 บาท อันเป็นค่าเสียหายยิ่งกว่าเบี้ยปรับแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับจากจำเลยซึ่งเป็นการซ้ำซ้อนอีกได้ ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยชำระเบี้ยปรับแก่โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท เป็นการไม่ชอบเช่นกัน รวมแล้วจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นเงิน 2,103,164 บาทฎีกาข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 2,103,164 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันฟ้องที่ 19 กรกฎาคม 2555) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ส่วนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้จำเลยใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2