คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1541/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

กระจกบานเกล็ดหน้าต่างที่จำเลยทำแตกเสียหายเป็นทรัพย์สินของ อ. เจ้าของหอพัก ซึ่งหลังเกิดเหตุจำเลยได้นำกระจกบานเกล็ดมาเปลี่ยนแทนบานเกล็ดที่แตก โดยความรับรู้ของ ส. สามีของ อ. ซึ่งเป็นผู้ดูแลหอพัก และจำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ ส. เป็นเงิน 500 บาท แล้ว แสดงว่า จำเลยกับเจ้าของหอพักซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์ที่เสียหายได้ยอมความกันโดยชอบมาแต่แรกหลังเกิดเหตุ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์จึงระงับไปตามนัยแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ซึ่งบัญญัติไว้เป็นสาระสำคัญว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปเมื่อยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย ผู้เสียหายย่อมไม่มีสิทธิร้องทุกข์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 91, 278, 358, 362, 364, 365
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278, 358, 362, 364, 365 (3) เป็นความผิดหลายกรรมให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำให้เสียทรัพย์ จำคุก 6 เดือน ฐานบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนและฐานกระทำอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้ายเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้าย ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 2 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงแห่งคดีรับฟังได้ว่า ผู้เสียหายกับสามีของผู้เสียหายและจำเลยต่างเช่าห้องพักอยู่บนชั้นสองของหอพักที่ไม่มีชื่อซึ่งเป็นของนางอุบล ผ่องอำพัน โดยมีนายสนมสามีของนางอุบลเป็นผู้ดูแล ก่อนเกิดเหตุ สามีของผู้เสียหายมิได้อยู่ที่ห้องพัก เนื่องจากเดินทางกลับไปบ้านของตน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2541 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุเวลากลางคืน จำเลยได้ทำกระจกบานเกล็ดหน้าต่างห้องพักของผู้เสียหายแตก 2 บาน รุ่งขึ้นเช้าจำเลยนำกระจกบานเกล็ดมาเปลี่ยนให้และจำเลยรับจะชดใช้ค่าเสียหายที่ทำกระจกบานเกล็ดแตกให้แก่นายสนม ต่อมาวันที่ 5 ตุลาคม 2541 หลังจากสามีของผู้เสียหายกลับมาห้องพักดังกล่าว ผู้เสียหายก็ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนขอให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ บุกรุกและกระทำอนาจารผู้เสียหาย โดยกล่าวหาว่าจำเลยทุบกระจกบานเกล็ดหน้าต่างห้องพักของผู้เสียหายแตก ต่อมาขณะจำเลยนำกระจกบานเกล็ดไปเปลี่ยน จำเลยได้ใช้กำลังทำร้ายบังคับเอาตัวผู้เสียหายเข้าไปกระทำอนาจารในห้องพักของผู้เสียหาย เจ้าพนักงานตำรวจให้ผู้เสียหายไปนำจับจำเลยในคืนเดียวกันนั้น ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ ปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ระงับไปหรือไม่ เห็นว่า กระจกบานเกล็ดหน้าต่างที่จำเลยทำแตกเสียหายเป็นทรัพย์สินของนางอุบลเจ้าของหอพัก เมื่อได้ความว่าหลังเกิดเหตุจำเลยได้นำกระจกบานเกล็ดมาเปลี่ยนแทนกระจกบานเกล็ดที่แตก โดยความรับรู้ของนายสนมสามีของนางอุบลซึ่งเป็นผู้ดูแลหอพัก และจำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายสนมเป็นเงิน 500 บ้าน แล้ว ตามพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยกับเจ้าของหอพักซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์ที่เสียหายได้ยอมความกันโดยชอบมาแต่แรกหลังเกิดเหตุ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์จึงระงับไปตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ซึ่งบัญญัติไว้เป็นสาระสำคัญว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปเมื่อยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย ผู้เสียหายย่อมไม่มีสิทธิร้องทุกข์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ด้วยเหตุดังกล่าวชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share