แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยรู้อยู่แล้วว่าได้มีการตกลงประนีประนอมในเรื่องเช็คทั้ง 23 ฉบับเสร็จสิ้นไปแล้ว กลับมาเบิกความว่าไม่ได้มีการประนีประนอม ซึ่งหากศาลในคดีก่อนฟังข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของจำเลย อาจเป็นผลทำให้โจทก์ได้รับโดยในคดีอาญา ดังนี้ คำเบิกความของจำเลยจึงเป็นข้อสำคัญในคดี
การเบิกความเท็จอันจะเป็นข้อสำคัญในคดีหรือไม่นั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๙๑,๑๗๕, ๑๗๗ วรรคสอง
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว มีคำสั่งประทับฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ยกฟ้องจำเลยที่ ๓ ที่ ๔
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่า จำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๔ เบิกความในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๔๓๙๕/๒๕๒๗ ของศาลแขวงธนบุรีว่า ไม่ได้มีการตกลงประนีประนอมเกี่ยวกับเรื่องเช็คทั้ง ๒๓ ฉบับที่บริษัทเอสซีเซฟตี้เซนเตอร์ จำกัด ออกให้แก่จำเลยที่ ๑ ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๔ อยู่ในที่ประชุมที่มีการตกลงประนีประนอม และจำเลยที่ ๓ เป็นประธานที่ประชุม จึงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในเบื้องแรกว่า การเบิกความเท็จอันจะเป็นข้อสำคัญในคดีหรือไม่นั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมาย (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ ๗๐๐/๒๕๐๖ ฎีกาของโจทก์จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๐
ปัญหาต่อไปมีว่า คำเบิกความของจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๔ จากที่ได้ความดังกล่าวแล้วจะถือว่าเป็นข้อสำคัญในคดีหรือไม่นั้นเห็นว่า การที่จำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๔ รู้อยู่แล้วว่าได้มีการตกลงประนีประนอมในเรื่องเช็คทั้ง ๒๓ ฉบับเสร็จสิ้นไปแล้วกลับมาเบิกความว่าไม่ได้มีการประนีประนอม ซึ่งหากศาลแขวงธนบุรีฟังข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๔ อาจเป็นผลทำให้โจทก์ได้รับโทษในคดีอาญาจึงถือได้ว่าคำเบิกความของจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๔ เป็นข้อสำคัญในคดี ดังนั้นฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๔ จึงมีมูล
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ประทับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๔ ไว้พิจารณาต่อไปด้วย.