คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2218/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นายจ้างกำหนดเวลาทำงานปกติ7.15-17.50นาฬิกาโดยกำหนดเวลาพัก12.00-12.40นาฬิกาและ17.30-17.50นาฬิกาเมื่อลูกจ้างเลิกงานเวลา17.50นาฬิกาเวลาระหว่าง17.30-17.50นาฬิกาจึงยังเป็นเวลาทำงานอยู่นายจ้างให้ลูกจ้างไม่ต้องทำงานในช่วงเวลาดังกล่าวโดยยินยอมให้กลับบ้านได้ก่อนเวลาเลิกงานช่วงเวลา17.30-17.50นาฬิการวม20นาทีถือได้ว่าเป็นเวลาที่นายจ้างจัดให้พักแล้วเมื่อรวมกับเวลาพักระหว่าง12.00-12.40นาฬิกาอีก40นาทีจึงครบ1ชั่วโมงชอบด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ2,6

ย่อยาว

โจทก์ทั้งห้าฟ้องขอให้จำเลยจ่ายเงินสำหรับเวลาพักที่ไม่ครบ1 ชั่วโมงแก่โจทก์ทั้งห้า
จำเลยให้การว่า ได้จัดเวลาพักให้โจทก์ทุกคนครบ 1 ชั่วโมงตามกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า ลูกจ้างจำเลยซึ่งรวมทั้งโจทก์ทั้งห้ามิได้พักระหว่างเวลา 12.00-10.20 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาที่จำเลยและผู้แทนลุกจ้างตกลงให้เป็นเวลาพักช่วงแรก แต่ลูกจ้างได้หยุดพักเวลา12.00-12.40 นาฬิกา และปล่อยให้ลูกจ้างกลับบ้านได้ตั้งแต่เวลา17.30 นาฬิกา เห็นว่า ข้อตกลงระหว่างจำเลยกับลูกจ้างระบุว่าให้ลูกจ้างเลิกงานเวลา 17.50 นาฬิกา เพราะฉะนั้นเวลาระหว่าง17.30-17.50 นาฬิกา จึงยังเป็นเวลาทำงานอยู่ จำเลยให้ลูกจ้างรวมทั้งโจทก์ทั้งห้าไม่ต้องทำงานในช่วงเวลาดังกล่าวโดยยินยอมให้กลับบ้านได้ก่อนเวลาเลิกงาน ช่วงเวลา 17.30-17.50นาฬิกา รวม 20 นาที ถือได้ว่าเป็นเวลาที่จำเลยจัดให้พักแล้วเมื่อรวมกับเวลาพักระหว่าง 12.00-12.40 นาฬิกา อีก 40 นาทีจึงครบ 1 ชั่วโมง กรณีจึงชอบด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 และข้อ 6 ซึ่งกำหนดว่านายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักในระหว่างการทำงานไม่น้อยกว่าวันละ 1 ชั่วโมง โดยจะให้มีเวลาพักเป็นหลายครั้งก็ได้แต่เมื่อรวมเวลาพักแล้วต้องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงและเวลาพักจะต้องเป็นระยะเวลาที่อยู่ในระหว่างการทำงานด้วย
พิพากษายืน

Share