คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1246/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินตาม น.ส.3 ก. ที่พิพาทเดิมเป็นของ ร. มารดาจำเลยที่ 1 เมื่อปี 2526 ร. จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา ต่อมาปี 2527 ร.ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนเพราะจำเลยที่ 1 ประพฤติเนรคุณศาลพิพากษาให้ถอนคืนการให้ คดีถึงที่สุดแล้ว แต่ ร.ยังมิได้ไปจดทะเบียนการได้มาและได้ถึงแก่ความตายในปี 2531 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้นำ น.ส.3 ก.ของที่ดินพิพาทซึ่งยังมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองไปทำการจดทะเบียนขายให้แก่จำเลยที่ 2 ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าการที่โจทก์ยึดถือครองทำนาและปลูกต้นยูคาลิปตัส ในที่ดินพิพาทตลอดมา เป็นการยึดถือครอบครองแทน ร. โจทก์ย่อมไม่ได้สิทธิครอบครอง คดีนี้โจทก์มิได้ใช้สิทธิ ของจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทของ ร. ให้โอนสิทธิการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาท ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 การที่ ร. ทำหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์โดยระบุว่าผู้ขายและให้ผู้ซื้อเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมในการโอนทั้งสิ้น และในระหว่าง ร. ยังมีชีวิตโจทก์เคยไปติดต่อขอต้นฉบับ น.ส.3 ก. คืนจากจำเลยที่ 1และเคยไปติดต่อที่สำนักงานที่ดิน แต่พนักงานเจ้าหน้าที่อ้างว่าไม่สามารถจดทะเบียนโอนให้ได้ เพราะไม่มีต้นฉบับที่ดินพิพาท ทั้งตอนซื้อขายที่ดินพิพาท โจทก์ทราบว่า ร.ยังไม่ได้นำคำพิพากษาไปจดทะเบียนโอนมาเป็นของ ร.แสดงว่าโจทก์และ ร. มีเจตนาที่จะโอนสิทธิการครอบครองที่ดินพิพาทโดยทำนิติกรรมและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงเป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขาย เมื่อ ร. มิได้สละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ การที่โจทก์ยึดถือครอบครองทำนาและปลูกยูคาลิปตัส ในที่ดินพิพาท จึงเป็นการยึดถือครอบครองแทน ร. ตามสัญญาจะซื้อจะขายเท่านั้น แม้โจทก์จะครอบครองนานเพียงใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1846 ตำบลสำโรง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ราคาประมาณ 212,000 บาท เดิมเป็นของนางรินทร์ ผนึกทอง ปี 2526 นางรินทร์จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา ต่อมาจำเลยที่ 1 ประพฤติเนรคุณ นางรินทร์จึงยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้นให้ถอนคืนการให้ศาลชั้นต้นพิพากษาถอนคืนการให้ คดีถึงที่สุด ครั้นวันที่ 5 เมษายน 2530 นางรินทร์ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ในราคา 85,000 บาท โจทก์ชำระราคาแล้ว มีข้อตกลงว่าจะจดทะเบียนโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 3 เดือน จากนั้นนางรินทร์ได้มอบที่ดินที่พิพาทให้โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในฐานะเจ้าของโดยสงบและเปิดเผยเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปีแล้ว เหตุที่ยังไม่จดทะเบียนโอนกัน เนื่องจากต้นฉบับ น.ส.3 ก. ของที่ดินพิพาทยังอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2536 จำเลยที่ 1 ได้นำต้นฉบับ น.ส.3 ก. ดังกล่าวไปจดทะเบียนโอนขายให้จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าตนเองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวเจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อจึงจดทะเบียนให้ไป การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่ดิน เป็นการกระทำโดยไม่สุจริต จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ขอให้พิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1846 ตำบลสำโรง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ให้เพิกถอนนิติกรรมสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับให้จำเลยที่ 1 หรือที่ 2 ไปทำการเพิกถอนสัญญาดังกล่าวภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษา หากจำเลยทั้งสองไม่ไปให้ถือเอาตามคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย กับขอให้เจ้าหน้าที่ทำการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองเพิกถอนนิติกรรมสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท โดยให้ไปเพิกถอนสัญญาดังกล่าว นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หากจำเลยไม่ไป ให้ถือเอาตามคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนา และให้เจ้าหน้าที่ทำการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ต่อไป คำขออื่นให้ยกเสีย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเดิมเป็นของนางรินทร์ ผนึกทอง มารดาจำเลยที่ 1 เมื่อปี 2526 นางรินทร์จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา ต่อมาปี 2527 นางรินทร์ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนเพราะจำเลยที่ 1 ประพฤติเนรคุณ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ถอนคืนการให้คดีถึงที่สุดตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 219/2527 ของศาลชั้นต้นแต่นางรินทร์ยังมิได้ไปจดทะเบียนการได้มาและได้ถึงแก่ความตายในปี 2531 หลังจากนั้นปี 2536 จำเลยที่ 1 ได้นำหนังสือรับรองทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ของที่ดินพิพาทซึ่งยังมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองไปทำการจดทะเบียนขายให้แก่จำเลยที่ 2 ตามสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.2
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ และโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1กับที่ 2 ได้หรือไม่ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า นางรินทร์มิได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองข้อเท็จจริงฟังได้ว่านางรินทร์ได้ทำหนังสือสัญญาการซื้อขายเอกสารหมาย จ.3 กับโจทก์จริง แต่เมื่อสัญญาข้อ 3 มีข้อความระบุว่า “ผู้ขายตกลงจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อภายในกำหนด 3 เดือน และให้ผู้ซื้อเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมในการโอนทั้งสิ้น” โดยโจทก์เบิกความว่า ระหว่างนางรินทร์ยังมีชีวิต โจทก์เคยไปติดต่อขอต้นฉบับ น.ส.3 ก. คืนจากจำเลยที่ 1 และเคยไปติดต่อที่สำนักงานที่ดินอำเภอเมืองสุรินทร์พนักงานเจ้าหน้าที่อ้างว่าไม่สามารถจดทะเบียนโอนให้ได้เพราะไม่มีต้นฉบับที่ดินพิพาท และเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า ตอนซื้อขายที่ดินพิพาทนั้น โจทก์ทราบว่านางรินทร์ยังไม่ได้นำคำพิพากษาไปจดทะเบียนโอนมาเป็นของนางรินทร์นอกจากนี้นายอรรถสิทธิ์ผู้เขียนสัญญาดังกล่าวยังเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า สัญญาที่ทำกันวันนั้นเป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขาย แสดงว่าโจทก์และนางรินทร์มีเจตนาที่จะโอนสิทธิการครอบครองที่ดินพิพาทโดยทำนิติกรรมและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎหมายสัญญาดังกล่าวจึงเป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขาย นางรินทร์หาได้สละการครอบครองที่ดินพิพาทโดยการโอนการครอบครองให้แก่โจทก์แล้วแต่อย่างใดไม่ ดังนี้การที่โจทก์ยึดถือครอบครองทำนาและปลูกยูคาลิปตัส ในที่ดินพิพาทตลอดมาเกิน 1 ปีจึงเป็นการยึดถือครอบครองแทนนางรินทร์ตามสัญญาจะซื้อจะขายเท่านั้น แม้โจทก์จะครอบครองนานเพียงใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครองเมื่อคดีนี้โจทก์มิได้ใช้สิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทนางรินทร์ให้โอนสิทธิการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share