แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อาคารพาณิชย์ที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น สภาพแข็งแรงรวม 9 ห้อง แต่ละห้องปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดแยกออกแต่ละแปลง เนื้อที่แปลงละ 15 5/10 ตารางวา ส่วนอาคารพิพาทเป็นอาคารชั้นเดียว ปลูกอยู่บนโฉนดที่ดินเลขที่ 130322 เนื้อที่ 15 5/10 ตารางวา เนื้อที่เท่ากับที่ดินปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ สภาพอาคารพิพาทมีเพียงโครงหลังคาเหล็กที่ติดกับผนังอาคารพาณิชย์เท่านั้น ส่วนที่เป็นอาคารพิพาทไม่ได้ก่อประโยชน์แก่อาคารพาณิชย์ ทั้งไม่มีลักษณะเป็นการเปลี่ยนแปลงต่อเติม เพิ่ม หรือลดโครงสร้างอาคารพาณิชย์หรือส่วนอื่น ๆ ของอาคารที่ก่อสร้างไว้แล้วให้ผิดไปจากเดิม สภาพอาคารพิพาทเป็นอาคารที่ก่อสร้างขึ้นแยกต่างหากจากอาคารพาณิชย์เพื่อประโยชน์ของอาคารพิพาทเอง ถือว่าเป็นการก่อสร้างอาคารขึ้นใหม่ทั้งหมด หาใช่การดัดแปลงอาคารไม่
ความผิดตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่ใช่ความผิดส่วนตัว พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนได้โดยไม่ต้องมีคำร้องทุกข์ เมื่อพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนโดยชอบจนเสร็จ การสอบสวนถือได้ว่ามีการสอบสวนโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120
ย่อยาว
คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2576/2543 ของศาลชั้นต้น แต่คดีสำนวนดังกล่าวยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 21, 65, 69, 70 และให้นับโทษจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีหมายเลขดำที่ 2576/2543 ของศาลชั้นต้น และปรับจำเลยเป็นรายวันจนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 21, 65 วรรคหนึ่ง วรรคสอง, 69 ให้ปรับ 20,000 บาท และให้ปรับจำเลยเป็นรายวันอีกวันละ 500 บาท นับแต่วันฝ่าฝืนจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 ส่วนคำขอให้นับโทษต่อนั้น เมื่อศาลพิพากษาลงโทษเพียงสำนวนเดียวจึงไม่มีโทษที่จะนำมานับต่อได้ จึงให้ยกคำขอในส่วนนี้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารพาณิชยกรรมและพักอาศัยชนิดตึกแถว 4 ชั้น จำนวน 9 ห้อง บนโฉนดที่ดินเลขที่ 130323 ถึง 130331 ตำบลคลองจั่น อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร จากเจ้าพนักงานท้องถิ่นกรุงเทพมหานครถูกต้อง และมีการก่อสร้างอาคารชั้นเดียว มีโครงหลังคาทำด้วยโครงเหล็ก ตัวโครงหลังคาด้านหนึ่งยึดติดกับอาคารที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างอีกด้านหนึ่งยึดติดกับกำแพงรั้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายกิตติพงษ์ นายช่างโยธา 5 ฝ่ายโยธาสำนักงานเขตบางกะปิ เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2539 มีผู้ร้องเรียนไปยังสำนักงานเขตบางกะปิว่า จำเลยก่อสร้างอาคารโดยไม่เว้นที่ว่างระหว่างอาคารและสร้างอาคารชิดแนวเขต พยานจึงไปตรวจสอบพบว่ามีอาคารชั้นเดียวโครงหลังคาเหล็ก หลังคาด้านหนึ่งยึดติดกับตัวอาคารที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง ส่วนอีกข้างหนึ่งยึดติดกำแพงรั้วคอนกรีตปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 130322 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เห็นว่า แม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างอาคารดังกล่าว แต่เห็นได้ว่าอาคารดังกล่าวปลูกอยู่บนที่ดินของจำเลยในลักษณะปลูกสร้างเต็มเนื้อที่ โครงสร้างหลังคาเป็นโครงเหล็ก ด้านหนึ่งยึดติดกับตัวอาคารพาณิชย์ของจำเลย เมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายเห็นได้ชัดว่าการก่อสร้างอาคารดังกล่าวมีสภาพแข็งแรงมั่นคงด้านที่ติดกับกำแพงรั้วใช้อิฐบล็อกเป็นช่องลมระบายอากาศ มีรางน้ำฝนยาวตลอดแนว ด้านหน้ามีประตูเปิดปิดอย่างแน่นหนา ไม่มีสภาพเป็นที่เก็บวัสดุก่อสร้างของผู้รับเหมาแต่อย่างใด ทั้งเมื่อมีการก่อสร้างอาคารพาณิชย์เสร็จแล้ว หากเป็นที่เก็บวัสดุก่อสร้างดังที่จำเลยกล่าวอ้างก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่ผู้รับเหมาก่อสร้างจะไม่รื้อถอนออกไป จำเลยไม่ได้นำผู้รับเหมาก่อสร้างมาเบิกความสนับสนุนข้อกล่าวอ้างดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ดำเนินการสร้างอาคารโครงเหล็กชั้นเดียวเพื่อประโยชน์ใช้สอยของจำเลยเอง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การกระทำของจำเลยเป็นการก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารตามความหมายของ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 หรือไม่ เห็นว่า ตาม พระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 4 ให้คำนิยามคำว่า ก่อสร้าง หมายความว่า สร้างอาคารขึ้นใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างขึ้นแทนของเดิมหรือไม่ และคำว่าดัดแปลง หมายความว่า เปลี่ยนแปลงต่อเติม เพิ่ม ลดหรือขยายซึ่งลักษณะ ขอบเขต แบบ รูปทรง สัดส่วน น้ำหนัก เนื้อที่ ของโครงสร้างของอาคารหรือส่วนต่าง ๆ ของอาคารซึ่งได้ก่อสร้างไว้แล้วให้ผิดไปจากเดิม และมิใช่การซ่อมแซมหรือดัดแปลงที่กำหนดในกฎกระทรวง ในข้อนี้เห็นว่า อาคารพาณิชย์ที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น สภาพแข็งแรง รวม 9 ห้อง แต่ละห้องปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดแยกออกแต่ละแปลง เนื้อที่แปลงละ 15 5/10 ตารางวา ส่วนอาคารพิพาทเป็นอาคารชั้นเดียวปลูกอยู่บนโฉนดที่ดินเลขที่ 130322 เนื้อที่ 15 5/10 ตารางวา เนื้อที่เท่ากับที่ดินปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ สภาพอาคารพิพาทมีเพียงโครงหลังคาเหล็กที่ติดกับผนังอาคารพาณิชย์เท่านั้น ส่วนที่เป็นอาคารพิพาทไม่ได้ก่อประโยชน์แก่อาคารพาณิชย์ ทั้งไม่มีลักษณะเป็นการเปลี่ยนแปลงต่อเติม เพื่อหรือลดโครงสร้างอาคารพาณิชย์หรือส่วนอื่น ๆ ของอาคารที่ก่อสร้างไว้แล้วให้ผิดไปจากเดิม สภาพอาคารพิพาทเป็นอาคารที่ก่อสร้างขึ้นแยกต่างหากจากอาคารพาณิชย์เพื่อประโยชน์ของอาคารพิพาทเอง ถือว่าเป็นการก่อสร้างอาคารขึ้นใหม่ทั้งหมดหาใช่การดัดแปลงอาคารดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้เช่นนี้ จึงไม่อาจนำกฎกระทรวงฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2528) ออกตามความใน พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กรณีไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคารมาใช้บังคับแก่การก่อสร้างอาคารพิพาทได้จึงต้องฟังว่า จำเลยก่อสร้างอาคารพิพาทโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นแล้ว แต่เนื่องจากศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานในสำนวนเพียงพอแก่การวินิจฉัยแล้ว จึงเห็นสมควรพิจารณาพิพากษาโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ เห็นว่า ความผิดตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่ใช่ความผิดส่วนตัวพนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนได้โดยไม่ต้องมีคำร้องทุกข์ เมื่อพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนโดยชอบจนเสร็จ การสอบสวนถือได้ว่ามีการสอบสวนโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นชอบของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.