แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาเช่าโกดังมีข้อกำหนดว่า ในกรณีที่ผู้เช่าเช่าไม่ครบกำหนดเวลา ยินยอมให้ริบเงินประกันความเสียหายได้ ผู้ให้เช่าจึงมีสิทธิริบเงินประกันความเสียหายได้ตามข้อกำหนดในสัญญา แต่กรณีดังกล่าวเป็นการตกลงกำหนดค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้าในสัญญาอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ศาลย่อมมีอำนาจลดลงได้เป็นจำนวนพอสมควร หากเห็นว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนโดยพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน เมื่อสัญญาเลิกกันก็มีผู้เช่ารายใหม่ทดแทนทันที จึงเห็นสมควรลดเบี้ยปรับให้แก่ผู้เช่า
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินประกันความเสียหายจากสัญญาเช่า 959,040 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องโจทก์ และฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชำระหนี้ 1,855,872 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,814,028.90 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน จำนวน 959,040 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2541 ซึ่งเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เดิมโจทก์ทำสัญญาเช่าโกดังและสัญญาจ้างบริการกับจำเลยเป็นเวลา 2 ปี ก่อนครบกำหนดตามสัญญา โจทก์จำเลยตกลงต่อสัญญาดังกล่าวออกไปอีก 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2539 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2541 พร้อมกันนี้โจทก์ได้วางเงินประกันความเสียหาย 959,040 บาท ไว้แก่จำเลย ตามสัญญาเช่าโกดัง สัญญาจ้างบริการ ข้อตกลงเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาเช่าโกดัง และข้อตกลงเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาจ้างบริการ ครั้นวันที่ 15 ตุลาคม 2540 โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยขอยกเลิกสัญญาเช่าโกดังและสัญญาจ้างบริการโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2540 และขอรับเงินประกันความเสียหายคืน ต่อมาวันที่ 29 เดือนเดียวกัน จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ความว่า โจทก์จะต้องจัดหาผู้เช่ารายใหม่ทดแทนภายในวันที่ 1 มกราคม 2541 มิฉะนั้นโจทก์ต้องชำระค่าเช่าและค่าจ้างบริการต่อเนื่องไปจนกว่าจะมีผู้เช่ารายใหม่ และส่งมอบพื้นที่ที่เช่าคืนได้ภายในเวลาที่จำเลยกำหนด จากนั้นวันที่ 25 พฤศจิกายน 2540 จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์อีกฉบับหนึ่งแจ้งว่าผู้เช่ารายใหม่จะเข้าใช้พื้นที่ที่เช่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2541 ขอให้โจทก์ส่งมอบพื้นที่ที่เช่าภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2540 โจทก์ส่งมอบพื้นที่ที่เช่าแก่จำเลยในวันที่ 25 ธันวาคม 2540
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อมาว่า โจทก์มีสิทธิได้ริบเงินประกันความเสียหายคืนหรือไม่เพียงใด เห็นว่า สัญญาเช่าโกดัง ข้อ 3 วรรคสอง ระบุไว้ใจความว่า ในกรณีที่ผู้เช่าเช่าไม่ครบกำหนดเวลา ยินยอมให้ริบเงินประกันความเสียหายได้ ดังนั้น จำเลยจึงมีสิทธิริบเงินประกันความเสียหายได้ตามข้อกำหนดในสัญญา แต่กรณีดังกล่าวเป็นการตกลงกำหนดค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้าในสัญญาอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลมีอำนาจลดลงได้เป็นจำนวนพอสมควรหากเห็นว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วน โดยพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อสัญญาเลิกกันจำเลยมีผู้เช่ารายใหม่ทดแทนทันที จึงเห็นสมควรลดเบี้ยปรับลงเหลือ 59,040 บาท จำเลยต้องคืนเงิน 900,000 บาท แก่โจทก์ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย แต่มิได้มีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม และศาลอุทธรณ์มิได้แก้ไข ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 900,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งในชั้นศาลชั้นต้นให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.