คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1240/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งห้าร่วมกันเป็นหุ้นส่วนมิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใช้ชื่อทางการค้าว่าสหพรลิ้มการช่าง ได้ร่วมกันก่อสร้างตึกแถวให้เช่า และใช้ตึกแถวมีป้ายชื่อว่าสหพรลิ้มการช่าง เป็นสำนักงานติดต่อกับโจทก์และบุคคลทั่วไป ดังนี้ ตึกแถวชื่อสหพรลิ้มการช่างเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการก่อสร้างตึกให้เช่าของจำเลยทั้งห้าเมื่อส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไม่ได้เพราะจำเลยทั้งห้าไปต่างจังหวัด การที่เจ้าพนักงานศาลปิดหมายไว้ตามคำสั่งศาล จึงเป็นการส่งโดยชอบ
เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ที่จำเลยเป็นหุ้นส่วนอยู่เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2525 จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่วันที่8 ธันวาคม 2526 อันเป็นเวลาพ้นกำหนดหกเดือนนับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดทรัพย์แล้ว จำเลยจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอพิจารณาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา208 ทั้งกรณีมิใช่เป็นการบังคับตามคำพิพากษาโดยวิธีอื่นแต่เป็นการบังคับตามคำพิพากษาโดยวิธียึดทรัพย์ และการขายทอดตลาดก็เป็นวิธีการที่สืบเนื่องมาจากการยึดทรัพย์นั่นเองระยะเวลาหกเดือนต้องนับแต่วันที่ยึดทรัพย์ มิใช่นับจากวันขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึด.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าให้ชำระหนี้ค่าซื้อสินค้าวัสดุก่อสร้างศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน85,308 บาท พร้อมดอกเบี้ยกับค่าฤชาธรรมเนียม จำเลยทั้งห้าไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์คือตึกแถวเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2525 และขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 6 กันยายน2526
จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่
โจทก์คัดค้าน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาว่าจำเลยที่ 3 ขอให้พิจารณาใหม่ได้หรือไม่ โดยจำเลยที่ 3 ยื่นฎีกาแยกปัญหาออกเป็นสองประเด็นคือ ข้อแรกจำเลยที่ 3 ทราบฟ้องโดยชอบแล้วหรือไม่และข้อหลังจำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งตามประเด็นข้อแรกเจ้าพนักงานศาลได้นำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปส่งให้จำเลยทั้งห้าที่ภูมิลำเนาในคำฟ้องไม่พบจำเลยทั้งห้า พบแต่นายสมชายพูลทรัพย์ แจ้งว่าจำเลยทั้งห้าไปธุระต่างจังหวัดและไม่มีผู้ใดยินดีเซ็นรับหมายไว้แทน จึงได้ปิดหมายไว้ตามคำสั่งศาลปรากฏตามรายงานเจ้าหน้าที่ลงวันที่ 16 กันยายน 2524 ภูมิลำเนาตามฟ้องคือตึกแถวที่มีชื่อสหพรลิ้มการช่าง ตามภาพถ่ายหมายจ.2 ซึ่งปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันเป็นหุ้นส่วนโดยมิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และใช้ชื่อทางการค้าว่าบริษัทมิตรรุ่งเรือง จำกัดบ้าง สหพรลิ้มการช่างบ้าง ตึกแถวที่จำเลยร่วมกันก่อสร้างเพื่อให้เช่าทุกห้องอยู่ที่ตลาดสดของสุขาภิบาลอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ และใช้ตึกแถวมีป้ายชื่อว่า สหพรลิ้มการช่างติดอยู่ด้านหน้าเป็นสำนักงานติดต่อกับโจทก์และบุคคลทั่วไป ดังนี้เห็นว่าตึกแถวชื่อสหพรลิ้มการช่างเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการก่อสร้างตึกแถวให้เช่าในตลาดสดสุขาภิบาลอำเภอพร้าว ทั้งนายสมชายก็รับว่าเป็นภูมิลำเนาของจำเลยทั้งห้าจริงแต่ขณะส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องจำเลยทั้งห้าไปธุระต่างจังหวัด ดังนั้นการที่เจ้าพนักงานศาลดำเนินการปิดหมายตามคำสั่งศาล จึงถือได้ว่าเป็นการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 3 โดยชอบจำเลยที่ 3 ย่อมได้ทราบฟ้องของโจทก์แล้ว ส่วนประเด็นข้อหลังนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 บัญญัติไว้ว่า’คำขอให้พิจารณาใหม่นั้น ให้ยื่นต่อศาลภายในสิบห้าวันนับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลย แต่ถ้าศาลได้กำหนดการอย่างใด ๆ เพื่อส่งคำบังคับเช่นว่านี้ โดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือโดยวิธีอื่นแทน จะต้องได้มีการปฏิบัติตามคำกำหนดนั้นแล้ว อนึ่ง ถ้าคู่ความที่ขาดนัดไม่สามารถยื่นคำขอภายในระยะเวลาที่บัญญัติไว้ข้างบนนี้โดยพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ คู่ความฝ่ายนั้นอาจยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ได้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง แต่กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตามห้ามมิให้ยื่นคำขอเช่นว่านี้เมื่อพ้นกำหนดหกเดือนนับแต่วันที่ได้ยึดทรัพย์หรือได้มีการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยวิธีอื่น…..’ ตามกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดระยะเวลาไว้สองระยะด้วยกันคือระยะเวลาสิบห้าวันนับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยหรือในกรณีมีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ก็อาจยื่นคำขอเช่นว่านี้ได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง แต่อย่างไรก็ตามอย่างช้าที่สุดต้องยื่นคำขอเช่นว่านี้ภายในกำหนดหกเดือนนับแต่วันที่ได้ยึดทรัพย์หรือได้มีการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยวิธีอื่น สำหรับคดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีรายงานว่าได้ยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2525 แต่ข้อเท็จจริงก็เป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนอยู่ด้วยตามที่โจทก์นำสืบ และจำเลยที่ 3เองก็ยอมรับว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ให้ผู้อื่นเช่าประกอบการค้าตามวัตถุประสงค์ในการเป็นหุ้นส่วนของจำเลยทั้งห้าจำเลยที่ 3 ได้มายื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่เมื่อวันที่ 8ธันวาคม 2526 อันเป็นเวลาพ้นกำหนดหกเดือนนับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดทรัพย์แล้วจำเลยที่ 3 จึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ได้ทั้งกรณีมิใช่เป็นการบังคับตามคำพิพากษาโดยวิธีอื่น แต่เป็นการบังคับตามคำพิพากษาโดยวิธียึดทรัพย์ และการขายทอดตลาดก็เป็นวิธีการที่สืบเนื่องมาจากการยึดทรัพย์นั่นเอง ระยะเวลาหกเดือนต้องนับแต่วันที่ยึดทรัพย์ดังกล่าวแล้ว มิใช่นับจากวันขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดดังจำเลยที่ 3 ฎีกา
พิพากษายืน.

Share