คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1662/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยแย่งอาวุธปืนของกลางมาจากพวกของจำเลยซึ่งทะเลาะวิวาทกันและยึดถือไว้ชั่วขณะหนึ่งเพื่อบรรเทาเหตุการณ์ร้ายแรงซึ่งอาจเกิดขึ้น ดังนี้เป็นการยึดถือไว้ชั่วคราวจึงไม่ใช่มีอาวุธปืนของกลางไว้ในครอบครอง และจำเลยไม่ได้พาอาวุธปืนของกลางเคลื่อนที่ไป จึงไม่ใช่พาอาวุธปืนของกลางไปในที่สาธารณสถาน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 7, 8, 72, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 และริบของกลาง
จำเลยให้การว่า เพื่อนของจำเลยชกต่อยและชักอาวุธปืนจะยิงกันจำเลยจึงเข้าห้ามและยึดอาวุธปืนของกลางไว้ชั่วคราว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ คำสั่งคณะปฏิรูปฯข้อ 3, 6, 7 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371, 91 ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 ปี ฐานพกพาอาวุธปืนจำคุก 1 ปี รวมเป็น 3 ปี ลดโทษหนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี ของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “แม้เจ้าพนักงานตำรวจจับและยึดอาวุธปืนของกลางได้จากจำเลยขณะที่จำเลยถืออยู่ ก็มีข้อต้องพิจารณาประการแรกว่าจำเลยมีเจตนายึดถือครอบครองอาวุธปืนของกลางดังกล่าวหรือไม่ ปรากฏตามคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกสืบพงศ์จันทร์ศรี และจ่าสิบตำรวจธีระเดช คงเนียม พยานโจทก์ผู้จับกุมจำเลยว่า ขณะจับจำเลยนั้น จำเลยถืออาวุธปืนของกลาง ปากกระบอกชี้ลงพื้น ยืนอยู่กับพวกจำเลย 4-5 คน ที่ระเบียงโรงแรมเมื่อถูกจับจำเลยปฏิเสธในทันทีว่าไม่ใช่อาวุธปืนของจำเลยและตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.1 ว่าขณะนั้นจำเลยกับพวกกำลังวิวาทกัน ตามคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองดังกล่าวแสดงว่าก่อนทำการจับกุมนั้น จำเลยกับพวกยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่จำเลยนำสืบนายธีระชัย จันทร์ชูกลิ่น และนายพิจารณ์ โสรพันเป็นพยาน พยานทั้งสองเบิกความว่าคืนเกิดเหตุขณะที่จำเลยเข้าไปหลับนอนกับผู้หญิงในห้อง ๆ หนึ่ง นายเคี้ยงกับนายพิจารณ์พวกของจำเลยซึ่งดื่มสุราอยู่ที่ห้องสำหรับดื่มสุราได้เกิดทะเลาะโต้เถียงท้าทายกันขึ้น จากนั้นบุคคลทั้งสองได้ออกไปนอกห้องและชกต่อยกัน นายพิจารณ์ชักอาวุธปืนของกลางจะยิงนายเคี้ยงนายอู๊ดซึ่งเป็นคนขับรถของนายเคี้ยงจึงไปเคาะประตูเรียกจำเลยและแจ้งเหตุให้ทราบ จำเลยได้ออกมาจากห้องโดยนุ่งผ้าเช็ดตัวผืนเดียวเข้าห้ามปรามนายเคี้ยงกับนายพิจารณ์ซึ่งกำลังยื้อแย่งอาวุธปืนของกลางกัน จำเลยแย่งอาวุธปืนของกลางไว้ได้ แต่ในระหว่างที่จำเลยไกล่เกลี่ยให้คู่กรณีเลิกแล้วต่อกันนั้นเอง เจ้าพนักงานตำรวจก็เข้ามาจับกุมจำเลยและยึดอาวุธปืนของกลาง พยานจำเลยทั้งสองปากนี้เบิกความต้องคำกันว่าอาวุธปืนของกลางมิใช่เป็นของจำเลยแต่เป็นของนายพิจารณ์ซึ่งนายพิจารณ์ก็รับว่าเป็นอาวุธปืนของตนโดยมิได้เกรงต่อความผิดที่พยานอาจได้รับคำพยานจำเลยจึงมีน้ำหนัก นอกจากนี้ปรากฏว่าเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลย จำเลยได้ให้การปฏิเสธในทันทีทันใดว่าอาวุธปืนของกลางมิใช่เป็นของจำเลย การที่จำเลยมิได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมว่าจำเลยได้อาวุธปืนมาด้วยวิธีใดนั้นอาจเป็นเพราะจำเลยกำลังตกใจต่อเหตุการณ์หรือไม่มีเจ้าพนักงานตำรวจผู้ใดซักถามก็เป็นได้ จะถือว่าการกระทำของจำเลยเป็นพิรุธหาได้ไม่อีกประการหนึ่งตามข้อเท็จจริงได้ความว่าขณะที่จำเลยถูกจับกุมนั้นจำเลยนุ่งผ้าเช็ดตัวเพียงผืนเดียวแสดงให้เห็นว่าการที่จำเลยออกมาจากห้องโดยลักษณะการแต่งกายเช่นนั้น จำเลยมีความประสงค์จะมาห้ามปรามพวกของจำเลยซึ่งทะเลาะวิวาทกัน ฉะนั้นถ้าหากว่าอาวุธปืนของกลางเป็นของจำเลยหรือจำเลยมีไว้ในความครอบครองแล้วก็ไม่มีเหตุผลที่จำเลยจะนำอาวุธปืนของกลางติดตัวออกมานอกห้องด้วยทั้ง ๆ ที่ปืนนั้นไม่มีกระสุนปืนบรรจุอยู่ เพราะจำเลยทราบล่วงหน้าว่าเป็นพวกของจำเลยทะเลาะกันเองมิใช่ทะเลาะวิวาทกับบุคคลอื่นจนถึงขั้นจะใช้อาวุธปืน สำหรับข้อที่จำเลยไม่ยอมให้การชั้นจับกุมก็เป็นวิธีการที่กฎหมายเปิดโอกาสให้กระทำได้โดยชอบธรรมหาเป็นการผิดวิสัยแต่อย่างใดไม่ คดีฟังได้ว่าอาวุธปืนของกลางที่เจ้าพนักงานตำรวจจับและยึดได้จากจำเลยนั้น จำเลยแย่งมาได้จากพวกของจำเลยซึ่งทะเลาะวิวาทกัน การที่จำเลยยึดถืออาวุธปืนของกลางไว้ตามพฤติการณ์ดังกล่าวเพียงชั่วขณะหนึ่งโดยมีเจตนาที่จะบรรเทาเหตุการณ์ร้ายแรงซึ่งอาจเกิดขึ้น เป็นการยึดถือไว้ชั่วคราว จำเลยจึงไม่ใช่เป็นผู้มีอาวุธปืนของกลางไว้ในครอบครอง สำหรับความผิดฐานพาอาวุธปืนของจำเลยไม่ได้พาอาวุธปืนของกลางเคลื่อนที่ไปไหน จึงยังไม่พอฟังว่าจำเลยได้พาอาวุธปืนไปในที่สาธารณสถานตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share