คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1238/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจได้ร่วมกับพวกกลั่นแกล้งจับกุมผู้เสียหายกล่าวหาว่าผู้เสียหายกับพวกลักรถจักรยานยนต์ของญาติจำเลยได้ร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายทำทีว่าจะจับกุมผู้เสียหายส่งพนักงานสอบสวนแต่แล้วได้ร่วมกันกรรโชกทรัพย์โดยเรียกเอาเงินจากผู้เสียหายโจทก์มิได้กล่าวในฟ้องและประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในเรื่องจำเลยทราบว่าพวกของจำเลยทำร้ายผู้เสียหายจนได้รับอันตรายแก่กายแล้วไม่แจ้งให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบทราบที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา157 ในข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยทราบว่าพวกของจำเลยทำร้ายผู้เสียหายจนได้รับอันตรายแก่กายแล้วไม่แจ้งเหตุให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบทราบจึงเป็นการพิพากษาลงโทษจำเลยในข้อเท็จจริงที่มิได้กล่าวในฟ้องและเป็นการลงโทษในเรื่องที่โจทก์มิได้ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยอุทธรณ์ว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา192แต่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่กลับนำข้อเท็จจริงอีกตอนหนึ่งที่โจทก์มิได้กล่าวไว้ในฟ้องมาฟังลงโทษจำเลยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวจึงมิชอบเพราะเป็นการพิพากษาในเรื่องที่โจทก์จำเลยมิได้อุทธรณ์ส่วนการจะนำข้อเท็จจริงอย่างอื่นซึ่งโจทก์มิได้อุทธรณ์มาฟังให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยนั้นก็เป็นการไม่ชอบอีกเช่นกันไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ศาลฎีกาจึงพิพากษากลับให้ยกฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยรับราชการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจได้ร่วมกับพวกมีปืนลูกซองพก 1 กระบอกใช้ยิงได้ ไม่มีหมายเลขทะเบียน กับมีกระสุนปืนลูกซองขนาด 12 โดยมิได้รับอนุญาต จำเลยกับพวกร่วมกันพกพาอาวุธปืนและกระสุนปืนดังกล่าวพร้อมมีดปลายแหลม 3 เล่มไปในเมือง หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุสมควร แล้วจำเลยกับพวกซึ่งมีอาวุธดังกล่าวเข้าไปในบ้านอันเป็นที่อยู่อาศัยของนายณรงค์ มณีแจ่ม ผู้เสียหายโดยมิได้รับอนุญาต ร่วมกันชกต่อย เตะ ใช้ปืนตบหน้าผู้เสียหาย 1 ครั้ง เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยกับพวกได้ร่วมกันข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมให้เงินแก่จำเลย 1,000 บาท และจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจหน้าที่จับกุมผู้กระทำความผิดส่งพนักงานสอบสวนได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตร่วมกับพวกกลั่นแกล้งจับกุมผู้เสียหายโดยกล่าวหาว่าผู้เสียหายกับพวกลักเอารถจักรยานยนต์ของญาติจำเลยร่วมกันทำร้ายผู้เสียหาย ทำทีว่าจะจับกุมผู้เสียหายส่งพนักงานสอบสวน แต่แล้วได้ร่วมกันกรรโชกทรัพย์ผู้เสียหาย อันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตขอให้ลงโทษตาม มาตรา 83, 91, 93, 148, 157,295, 364, 365, 309, 337, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบของกลาง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำคุก 2 ปี คำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำเลยอุทธรณ์ข้อหนึ่งว่า ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องมาลงโทษจำเลย เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 ปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ตามฟ้องข้อ ฉ. ศาลฎีกาได้พิเคราะห์คำฟ้องข้อนี้แล้ว โจทก์บรรยายฟ้องข้อนี้ว่า จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจได้ร่วมกับพวกกลั่นแกล้งจับกุมผู้เสียหายโดยกล่าวหาว่าผู้เสียหายกับพวกลักรถจักรยานยนต์ของญาติจำเลยได้ร่วมกันทำร้ายผู้เสียหาย ทำทีว่าจะจับกุมผู้เสียหายส่งพนักงานสอบสวนแต่แล้วได้ร่วมกันกรรโชกทรัพย์โดยเรียกเอาเงินจากผู้เสียหาย โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องและประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในเรื่องจำเลยทราบว่าจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 10764/2524 ทำร้ายผู้เสียหายจนได้รับอันตรายแก่กายแล้วไม่แจ้งให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบทราบ แม้โจทก์จะกล่าวในตอนท้ายฟ้องข้อนี้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต ก็ยังถือไม่ได้ว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายของจำเลยที่อ้างว่าได้กระทำผิดว่า จำเลยละเว้นไม่แจ้งเรื่องที่จำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวทำร้ายผู้เสียหายจนได้รับอันตรายแก่กายให้พนักงานสอบสวนทราบ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาในข้อเท็จจริงที่ว่า จำเลยทราบว่าจำเลยที่ 1 ในคดีนั้นทำร้ายผู้เสียหายจนได้รับอันตรายแก่กายแล้วไม่แจ้งเหตุให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบทราบนั้น จึงเป็นการพิพากษาลงโทษจำเลยในข้อเท็จจริงที่มิได้กล่าวในฟ้องและเป็นการลงโทษในเรื่องที่โจทก์มิได้ประสงค์ให้ลงโทษ เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยมาในข้อเท็จจริงที่ว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจทราบว่า จำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 10764/2524 ทำร้ายผู้เสียหายจนได้รับอันตรายแก่กายแล้วไม่แจ้งให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบทราบ โจทก์ไม่อุทธรณ์ จำเลยอุทธรณ์ในปัญหานี้ว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยชี้ขาดว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่ แต่ศาลอุทธรณ์ก็มิได้วินิจฉัยเช่นนั้นกลับนำข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้กล่าวไว้ในฟ้องมาฟังลงโทษจำเลย โดยศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในคดีดังกล่าวเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหาย ทำร้ายผู้เสียหายจนได้รับอันตรายแก่กายกรรโชกทรัพย์ผู้เสียหายและจำเลยที่ 1 ในคดีนี้คุมผู้เสียหายมานั่งในรถยนต์ที่จำเลยขับซึ่งจอดอยู่นอกบ้าน เมื่อจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวและผู้เสียหายนั่งในรถแล้ว จำเลยชี้แจงให้ผู้เสียหายกับจำเลยที่ 1 ในคดีนั้นตกลงกันเรื่องที่จำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 10764/2524 เรียกร้องเงินจากผู้เสียหาย มิฉะนั้นจำเลยจะนำผู้เสียหายส่งสถานีตำรวจแล้วพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าว เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวจึงมิชอบ เพราะเป็นการพิพากษาในเรื่องที่โจทก์มิได้อุทธรณ์ ส่วนการจะนำข้อเท็จจริงอย่างอื่นซึ่งโจทก์มิได้อุทธรณ์มาฟังให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยนั้นก็เป็นการไม่ชอบอีกเช่นกัน จึงไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษายกฟ้องของโจทก์ไปทีเดียวและไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยต่อไป

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share