แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 วรรคสอง หมายความว่าในกรณีนายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันที่เป็นเงินและลูกจ้างกระทำในทางการที่จ้างก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างจึงมีสิทธินำเงินดังกล่าวไปชดใช้ให้แก่นายจ้างตามเงื่อนไขของการเรียกหรือรับเงินประกัน หรือตามข้อตกลง หรือได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง ดังนั้นนายจ้างจะมีสิทธิหักเงินประกันหรือนำเงินประกันไปชดใช้ค่าเสียหายได้นายจ้างต้องได้รับความเสียหายก่อน หากนายจ้างไม่ได้รับความเสียหายก็ไม่มีสิทธิหักเงินประกันหรือนำเงินประกันไปชดใช้ค่าเสียหายแก่นายจ้าง นายจ้างจะอาศัยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน คำสั่ง หรือประกาศของนายจ้างมาหักเงินประกันการทำงานหรือประกันความเสียหายของลูกจ้างโดยลูกจ้างไม่ก่อให้เกิดความเสียหายไม่ได้
โจทก์จึงอาศัยประกาศการหักเงินหรือแบบพิมพ์รายงานสินค้าขาด – เกินจากการตรวจนับสต็อกที่จำเลยที่ 2 ยินยอมรับผิดกรณีสินค้าเกินสต๊อกมาหักเงินประกันของจำเลยที่ 2 โดยโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ 50/2556 และพิพากษาให้โจทก์ชำระค่าคอมมิสชันที่ค้างชำระแก่จำเลยที่ 2 จำนวน 16,367 บาท เท่านั้น
จำเลยทั้งสอง ให้การว่าขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ซึ่งสรุปได้ว่าการที่โจทก์มีประกาศหักเงิน และจำเลยที่ 2 ลงชื่อยอมรับผิดในแบบพิมพ์รายงานสินค้าขาด – เกินจากการตรวจนับสต็อก โจทก์จะมีสิทธิหักเงินประกันการทำงานของจำเลยที่ 2 ได้หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 วรรคสองที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกัน หรือทำสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทำ เมื่อนายจ้างเลิกจ้าง หรือลูกจ้างลาออกหรือสัญญาประกันสิ้นอายุ ให้นายจ้างคืนหลักประกันพร้อมดอกเบี้ยถ้ามี ให้แก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้าง หรือวันที่ลูกจ้างลาออก หรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุ แล้วแต่กรณี” หมายความว่า ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันที่เป็นเงินและลูกจ้างกระทำในทางการที่จ้างก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างจึงมีสิทธินำเงินดังกล่าวไปชดใช้ให้แก่นายจ้างตามเงื่อนไขของการเรียกหรือรับเงินประกัน หรือตามข้อตกลง หรือได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง ดังนั้น การที่นายจ้างจะมีสิทธิหักเงินประกันหรือนำเงินประกันไปชดใช้ค่าเสียหายได้นายจ้างต้องได้รับความเสียหายก่อน หากนายจ้างไม่ได้รับความเสียหายก็ย่อมไม่มีสิทธิดังกล่าว นายจ้างจะอาศัยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน คำสั่ง หรือประกาศของนายจ้างมาหักเงินประกันการทำงานหรือประกันความเสียหายของลูกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายย่อมไม่ได้ มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นว่าวัตถุประสงค์ของการเรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือประกันความเสียหายจะขยายไปเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือขยายไปตามอำเภอใจของนายจ้าง เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงมาว่าสต็อกสินค้าที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 เกินจำนวน 12 ชิ้น โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างไม่ได้รับความเสียหาย เช่นนี้โจทก์จึงไม่มีสิทธิหักเงินประกันของจำเลยที่ 2 ดังนั้นโจทก์จะอาศัยประกาศการหักเงิน หรือแบบพิมพ์รายงานสินค้าขาด – เกินจากการตรวจนับสต็อก ที่จำเลยที่ 2 ยินยอมรับผิดกรณีสินค้าเกินสต็อกมาหักเงินประกันของจำเลยที่ 2 โดยโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายย่อมไม่ได้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน