คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1234/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โดยปกติความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดจะต้องประกอบด้วยการลงโทษและแก้ไขพฤติกรรมของผู้กระทำความผิดหรือจำเลยไปพร้อมกันจึงจะเกิดการสัมฤทธิผลตามหลักอาชญาวิทยาและทัณฑกรรม เนื่องจากผู้กระทำความผิดประเภทนี้ส่วนมากจะเป็นผู้ติดยาเสพติดและได้กระทำผิดเพราะติดยาหรือเสี้ยนยาซึ่งไม่เหมือนอาชญากรทั่ว ๆ ไป ฉะนั้นการตั้งสมมติฐานของโจทก์ไว้ว่าจะต้องลงโทษจำคุกจำเลยสถานเดียวแม้เป็นการกระทำความผิดในครั้งแรก อีกทั้งของกลางก็มีไม่มากจนเกินไปนั้นน่าจะไม่ต้องด้วยความประสงค์ของหลักการดังกล่าวการวางโทษจำคุกแต่รอการลงโทษไว้ ลงโทษปรับและคุมความประพฤติ จำเลยโดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติในระยะเวลาสั้น ๆ เดือนละ 1 ครั้ง เพื่อการแก้ไขอีกทางหนึ่งจึงนับว่าเหมาะสมแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 67
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง,67 จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 3 เดือน
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุก 1 ปีและปรับ 10,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือน และปรับ 7,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติเดือนละ 1 ครั้ง มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาโดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฎีกาทำนองว่า การรอการลงโทษแก่จำเลยไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจำเลยจะเกิดความเข็ดหลาบเกรงกลัวและไม่กล้ากระทำผิดอีกนั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่าปกติความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดจะต้องประกอบด้วยการลงโทษและแก้ไขพฤติกรรมของผู้กระทำความผิดหรือจำเลยไปพร้อมกันจึงจะเกิดการสัมฤทธิผลตามหลักอาชญาวิทยาและทัณฑกรรม เนื่องจากผู้กระทำความผิดประเภทนี้ ส่วนมากจะเป็นผู้ติดยาเสพติดและได้กระทำผิดเพราะติดยาหรือเสี้ยนยาซึ่งไม่เหมือนอาชญากรทั่ว ๆ ไป ฉะนั้นการตั้งสมมติฐานไว้ว่าจะต้องลงโทษจำคุกจำเลยสถานเดียวแม้เป็นการกระทำความผิดในครั้งแรก อีกทั้งของกลางก็มีไม่มากจนเกินไปนั้นน่าจะไม่ต้องด้วยความประสงค์ของหลักการดังกล่าวด้วยเหตุนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วางโทษจำคุกแต่รอการลงโทษไว้ ลงโทษปรับและคุมความประพฤติจำเลยโดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติในระยะเวลาสั้น ๆเดือนละ 1 ครั้ง มีกำหนด 1 ปี เพื่อการแก้ไขอีกทางหนึ่งนั้นนับว่าเหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share