คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2383/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 121 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 นั้น ต้องห้ามอุทธรณ์แต่เฉพาะกรณีที่โจทก์อุทธรณ์เกี่ยวกับการที่ศาลใช้ดุลพินิจเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งตัวไปฝึกและอบรมเท่านั้น คดีนี้แม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษาให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งตัวไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจเป็นเวลาไม่เกิน 2 ปี แต่โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดหรือไม่ ไม่ได้อุทธรณ์เกี่ยวกับการที่ศาลใช้ดุลพินิจเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งตัวไปฝึกและอบรม ฉะนั้นโจทก์จะอุทธรณ์ได้หรือไม่จึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดา ไม่จำต้องได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวตามมาตรา 122 ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวแต่อย่างใด
การจะพิจารณาว่าคดีจะอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาอัตราโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายตามฟ้อง แม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 , 83 ซึ่งอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายซึ่งตาม ป.อ. มาตรา 288 , 80 , 83 ระวางโทษไว้สองในสามส่วนของโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี ซึ่งเป็นอัตราโทษสูงกว่าที่กำหนดไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ โจทก์จึงอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตาม ป.อ. มาตรา 288, 83, 80
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 ประกอบมาตรา 83 ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 และที่ 3 อายุ 16 ปีเศษ จำเลยที่ 2 อายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง ตาม ป.อ. มาตรา 75, 76 จำคุกคนละ 6 เดือน แต่เห็นว่าหากให้ได้รับการอบรมขัดเกลานิสัย ความประพฤติน่าจะเป็นผลดีกว่าจะให้รับโทษจำคุกอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยทั้งสามเป็นส่งจำเลยทั้งสามไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดอุบลราชธานี มีกำหนดขั้นต่ำ 1 ปี ขั้นสูง 2 ปี นับแต่วันฟังคำพิพากษา
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงแก่ความตาย จึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 3
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์และของจำเลยที่ 2
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในชั้นนี้เพียงว่า อุทธรณ์ของโจทก์ต้องห้ามตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 121 หรือไม่เห็นว่าการต้องห้ามอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ภาคตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 121 (2) เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา 104 ซึ่งคดีนี้เป็นกรณีตามมาตรา 104 (2) ที่บัญญัติให้อำนาจศาลที่พิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมยังสถานพินิจ สถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรมหรือสถานแนะนำทางจิต ตามเวลาที่ศาลกำหนดแต่ต้องไม่เกินกว่าเด็กหรือเยาวชนนั้นมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ ตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 121 (2) ดังกล่าว คดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้พิพากษาหรือมีคำสั่งแล้วนั้น จะต้องห้ามอุทธรณ์แต่เฉพาะกรณีที่อุทธรณ์เกี่ยวกับการที่ศาลใช้ดุลพินิจเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมยังสถานพินิจเท่านั้น มิได้ห้ามโจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 กระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด ฉะนั้นโจทก์จะอุทธรณ์ได้หรือไม่ จะต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอย่างคดีธรรมดา ซึ่งเมื่อนำ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 6 มาประกอบแล้วก็คือ บทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 193 ทวิ ซึ่งห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามกฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295, 83 ซึ่งอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย ซึ่งตาม ป.อ. มาตรา 288, 80, 83 ระวางโทษไว้สองในสามส่วนของโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี ซึ่งเป็นอัตราโทษสูงกว่าที่กำหนดไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ทั้งนี้การจะพิจารณาว่าคดีจะอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาอัตราโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายตามฟ้อง ดังนั้น ในคดีนี้โจทก์จึงอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 122 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์เป็นการไม่ชอบ และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เสียด้วยนั้น ก็ไม่ชอบเช่นเดียวกัน แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้หยิบยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยในการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. อันว่าด้วยอุทธรณ์ ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยตามมาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
พิพากษากลับ ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์และของจำเลยที่ 2 แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี.

Share