คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 904/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเรื่องนิติกรรมอำพรางไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท เมื่อโจทก์มิได้โต้แย้งต้องถือว่าสละประเด็นข้อนี้และโจทก์จะอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวนี้ไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 โจทก์ได้นำที่ดินพิพาทขายฝากให้แก่ว. มีกำหนดระยะเวลาในการไถ่ถอน 1 ปี สิทธิครอบครองจึงตกอยู่กับว. ตั้งแต่วันจดทะเบียนขายฝาก โจทก์คงมีแต่สิทธิไถ่ทรัพย์สินคืน ภายในกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 491 ครบกำหนด 1 ปีแล้ว โจทก์ไม่ไถ่ทรัพย์คืน สิทธิครอบครอง ในที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นของว. โดยเด็ดขาด โจทก์ผู้ขายฝากเป็นเพียงผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนว.ผู้ซื้อฝากเท่านั้นการที่โจทก์เพียงแต่นำป้ายไปปักประกาศในที่ดินพิพาทว่า เป็นของโจทก์ และห้ามบุคคลภายนอกเกี่ยวข้อง หาเป็นการแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือครอบครอง แทนว. ไม่ เนื่องจากไม่มีการบอกกล่าวไปยังว. ผู้มีสิทธิครอบครอง โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ขอให้ขับไล่จำเลย ดังนี้เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์มิใช่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินที่พิพาท คดีจึงไม่จำต้อง วินิจฉัยประเด็นตามคำให้การของจำเลยที่ว่า จำเลยซื้อที่ดิน พิพาทจากผู้มีชื่อโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 528 ตำบลสามพร้าวอำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานีเนื้อที่ 57 ไร่ 1 งาน 16 ตารางวา เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2522 โจทก์ได้กู้ยืมเงินนายวนิช ทาสีดำ จำนวน 20,000 บาท และจดทะเบียนขายฝากที่ดินดังกล่าวเป็นประกันหนี้เงินกู้แทนสัญญากู้ยืมเงิน หลังจากนั้นโจทก์ได้นำเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยชำระคืนให้แก่นายวนิชแล้ววันที่ 13 กรกฎาคม 2524 โจทก์ได้ทำสัญญาขายฝากที่ดินดังกล่าวแทนสัญญากู้ยืมเงินกับนายวนิชอีกครั้งหนึ่งเป็นเงินจำนวน 20,000 บาท โดยตกลงว่า เมื่อโจทก์นำเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยชำระคืนครบถ้วนแล้วนายวนิชต้องโอนที่ดินดังกล่าวคืนโจทก์ ต่อมาโจทก์ได้ชำระหนี้ดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยให้แก่นายวนิชครบถ้วนแล้วเมื่อปลายปี 2533 จึงแจ้งให้นายวนิชไปจดทะเบียนโอนชื่อในที่ดินกลับมาเป็นชื่อโจทก์ตามเดิมแต่นายวนิชเพิกเฉย เมื่อต้นปี 2534 นายวนิชได้ขอซื้อที่ดินจากโจทก์แต่โจทก์ไม่ขายเพราะโจทก์และครอบครัวทำกินอยู่ในที่ดินดังกล่าววันที่ 20 มีนาคม 2534 โจทก์ได้ติดตั้งป้ายแสดงความเป็นเจ้าของและห้ามบุคคลอื่นเข้าไปในที่ดินของโจทก์หลังจากนั้นโจทก์และครอบครัวได้ครอบครองทำกินในที่ดินดังกล่าวตลอดมาด้วยความสงบ เปิดเผย เจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลาเกิน 1 ปีแล้ว โจทก์จึงเป็นผู้ได้สิทธิครอบครองตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2537 นายวนิชได้นำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนขายให้แก่จำเลยในราคา 300,000 บาท ต่อมากลางเดือนสิงหาคม 2537 จำเลยห้ามโจทก์เข้าทำกินและขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินดังกล่าวโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย จำเลยซื้อจากนายวนิช ทาสีดำ โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนถูกต้องตามกฎหมายขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าการขายฝากที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมชอบหรือไม่เห็นว่า คดีนี้มีการชี้สองสถาน ปรากฏว่าศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเรื่องนิติกรรมอำพรางไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท ซึ่งคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาจำเลยจะต้องโต้แย้งหรือคัดค้านไว้เมื่อโจทก์มิได้โต้แย้งต้องถือว่าโจทก์สละประเด็นข้อนี้และจะใช้สิทธิอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวนี้ไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยให้จึงชอบแล้ว
โจทก์ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า โจทก์ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทโดยการไถ่ที่พิพาทคืนแล้วนั้น ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่าโจทก์ได้นำที่ดินพิพาทขายฝากให้แก่นายวนิช ทาสีดำ รวมสองครั้งครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2522 และนายวนิชได้ขายคืนให้โจทก์เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2524 ต่อมา โจทก์ได้ขายฝากให้นายวนิชอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2524 มีกำหนดระยะเวลาในการไถ่ถอน 1 ปี ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1ประกอบกับเอกสารหมาย ล.4 ดังนั้น สิทธิครอบครองจึงตกอยู่กับนายวนิชตั้งแต่วันจดทะเบียนขายฝาก โจทก์คงมีแต่สิทธิไถ่ทรัพย์สินคืนภายในกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 491 เท่านั้น เมื่อทางนำสืบโจทก์เองได้ความว่าเมื่อครบกำหนด 1 ปีแล้ว โจทก์ไม่อาจไถ่ทรัพย์คืนได้ ดังนั้นที่โจทก์อ้างว่ามีการนำเงินไปผ่อนชำระให้นายวนิชครั้งละ 10,000 บาท รวม 3 ครั้ง โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2525 ถึง 2527 แม้ฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบ สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทก็ตกเป็นของนายวนิชโดยเด็ดขาดแล้ว
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์เป็นข้อต่อไปว่าโจทก์ได้เปลี่ยนเจตนายึดถือการครอบครองที่พิพาทเป็นของตนเองเกินกว่า 1 ปี แล้วหรือไม่เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1381 บัญญัติว่า “บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง บุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่าไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป” เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนนายวนิชเพราะสิทธิครอบครองได้โอนมาเป็นของนายวนิชตั้งแต่วันทำสัญญาขายฝากดังได้วินิจฉัยมาแล้ว ดังนั้น การที่โจทก์เพียงแต่นำป้ายไปปักประกาศในที่ดินพิพาทว่าเป็นของโจทก์ห้ามบุคคลภายนอกเกี่ยวข้อง เพียงเท่านี้หาเป็นการแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือครอบครองแทนนายวนิชไม่ เนื่องจากไม่มีการบอกกล่าวไปยังผู้มีสิทธิครอบครองคดีจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยได้ที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1299 หรือไม่เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน

Share