แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่รับมอบหมายเงินไว้ 6 รายซึ่งต่างจำนวนต่างวันกันแล้วลงบัญชีรับไว้แต่เพียง 3 รายแรก เมื่อลงแล้วก็แทงจำหน่ายบัญชีว่าจ่ายให้แก่ตนเองเพื่อนำส่งคลังและจดลงไว้ด้วยว่าไม่มีเงินเหลือยกไป ผลที่สุดจำเลยยักยอกเอาเงินนั้นทั้ง 6 รายดังนี้ ไม่เป็นผิดตามมาตรา 230
ย่อยาว
จำเลยเป็นเสมียนตราจังหวัดมีหน้าที่รักษาเงินของสภากาชาดสยาม จำเลยรับเงินไว้จากผู้นำส่ง ๖ รายในวันเวลาต่างกัน จำเลยลงบัญชีรับเงินไว้แต่ ๓ รายแรกเท่านั้นรายหลัง ๆ หาได้ลงไม่ รายที่ลงบัญชีรับเงินเมื่อลงแล้วจำเลยได้แทงจำหน่ายบัญชีว่าจ่ายให้แก่ตัวจำเลยเองเพื่อนำส่งคลัง และได้จดลงไปในบัญชีรับนั้นว่าไม่มีเงินเหลือยกไป แล้วในที่สุดจำเลยยักยอกเอาเงินทั้ง ๖ รายนั้นเป็นประโยชน์เสีย
ศาลชั้นต้นลงโทษฐานยักยอกตามกฎหมายอาญามาตรา ๑๓๑,๓๑๙(๓) กะทงหนึ่งและฐานจดข้อความเท็จตามมาตรา ๒๓๐ อีกกะทงหนึ่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องกะทงฐานจดข้อความเท็จนั้นเสีย คงลงโทษแต่ตามมาตรา ๑๓๑ ฐานยักยอกกะทงเดียว
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการจดบัญชีของจำเลยจะเรียกว่าจำเลยจดข้อความเท็จไม่ได้ เพราะจำเลยรับเงินเป็นราย ๆ ไปต่างวันต่างจำนวนกัน จำเลยลงบัญชีรับ ๓ รายนั้นก็เป็นจำนวนเงินอันแท้จริง ที่จำเลยรับฉะเพาะ ๓ รายนั้นส่วนรายอื่น ๆ ไม่ลงบัญชีด้วยจะถือว่าเป็นเท็จก็ไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องจำเลยรับเงินรายใดจำนวนมากแล้วลงบัญชีแต่น้อย เงินที่ไม่ได้ลงบัญชีก็เป็นการไม่ลงบัญชี ไม่ใช่ลงบัญชีเท็จ ส่วนเรื่องแทงจำหน่ายเงินศาลอุทธรณ์ก็อธิบายไว้ชอบแล้ว (อธิบายว่าไม่เรียกว่าเป็นเท็จเพราะเป็นการที่จะปฏิบัติในภายหน้า) ข้อที่ว่า+บัญชีว่าไม่มียกยอดไปนั้นก็หมายถึงว่าไม่มียอดจำนวนเงินในบัญชียกไป ยังไม่เป็นจดข้อความเท็จจึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์