คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 480/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

มูลนิธิที่เพียงแต่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้ง ยังมิได้จดทะเบียนไม่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายที่จะรับการให้ได้ขณะรับการให้มูลนิธิไม่เป็นนิติบุคคลกลับอ้างว่าเป็นนิติบุคคลย่อมถือว่า เป็นการให้ที่ผู้ให้สำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรมจึงทำให้นิติกรรมเป็นโมฆะเมื่อเป็นโมฆะแล้วผู้ว่าราชการจังหวัดจำเลยที่ 1 และรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ 2ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้ได้รับเรื่องราวตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ย่อมเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมให้ได้โดยไม่จำต้องให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ให้ไปฟ้องร้องเพื่อเพิกถอนการให้ก่อน เมื่อคำสั่งเพิกถอนการให้ชอบแล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมออกใบแทนและจดรายการเพิกถอนการให้ไว้ ในสารบัญโฉนดที่ดินได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นกรรมการมูลนิธิเผยแพร่พระพุทธศาสนา โจทก์ที่ 2 ซึ่งประกอบด้วยนายพวน แสงฮาดนายวิรัตน์ อาจอินทร์ นายสุนทร ไชยรส นายสำรวย แสงรัตน์นายทศพร ชัยเจริญ นายวิเชียร บุตรโยธี และนายไพฑูลย์วงษ์หาริมาตย์ เป็นคณะกรรมการมูลนิธิเผยแพร่พระพุทธศาสนาเป็นกองทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่จัดสรรไว้เพื่อบำเพ็ญทาน การศาสนา และสาธารณประโยชน์อื่นโดยมิได้มุ่งค้ากำไร แม้จะมิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลก็ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินได้ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2518 จำเลยที่ 3ได้ยกที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 975 ให้แก่มูลนิธิเผยแพร่พระพุทธศาสนาโดยเสน่หา โดยมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายแล้ว และมูลนิธิเผยแพร่พระพุทธศาสนาได้เข้าครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อปี 2532 จำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดหนองคายซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดำเนินการเพื่อให้มีการเพิกถอนการให้ที่ดินดังกล่าวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2532 จำเลยที่ 2 ซึ่งรักษาราชการแทนจำเลยที่ 1 อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดิน ได้สั่งให้ออกใบแทนโฉนดที่ดินพิพาทดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 และออกคำสั่งจังหวัดหนองคายที่ 1924/2532 ลงวันที่ 20 กันยายน 2532เพิกถอนรายการจดทะเบียนที่จำเลยที่ 3 ยกที่ดินพิพาทให้แก่มูลนิธิเผยแพร่พระพุทธศาสนาโดยไม่มีอำนาจ ทั้งนี้ เพราะการถอนคืนการให้เป็นอำนาจตุลาการ มิใช่อำนาจบริหารทั้งประมวลกฎหมายที่ดินก็ไม่ได้ให้อำนาจเพิกถอนกรรมสิทธิ์ในกรณีนี้ได้ การกระทำดังกล่าวเป็นการปฎิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้มูลนิธิเผยแพร่พระพุทธศาสนาได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยที่ 1 เพิกถอนคำสั่งจังหวัดหนองคายที่ 1924/2532 ลงวันที่ 20 กันยายน 2532 และสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดแจ้งรายการเพิกถอนคำสั่งลงในโฉนดที่ดินฉบับสำนักงานที่ดิน กับเรียกใบแทนโฉนดที่ดินจากจำเลยที่ 3 คืนถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ปฎิบัติหรือไม่สามารถปฎิบัติได้ ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และห้ามจำเลยที่ 3เข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทอีกต่อไป
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า สัญญาให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 3 กับมูลนิธิเผยแพร่พระพุทธศาสนาตกเป็นโมฆะเพราะมูลนิธิเผยแพร่พระพุทธศาสนาไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลการที่จำเลยที่ 2 ในฐานะรองผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งรักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเพิกถอนรายการจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทจึงเป็นการใช้อำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 61 แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า มูลนิธิเผยแพร่พระพุทธศาสนาไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งและมิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลคำสั่งจังหวัดหนองคายที่ 1924/2532 ลงวันที่ 20 กันยายน 2532ชอบด้วยกฎหมายแล้วเพราะขณะรับการให้มูลนิธิเผยแพร่พระพุทธศาสนาไม่ได้เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย สัญญาให้จึงตกเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งจังหวัดหนองคายที่ 1924/2532 ลงวันที่ 20 กันยายน 2532 เรื่อง เพิกถอนรายการจดทะเบียนให้ที่ดิน และใบแทนโฉนดเลขที่ 975 เลขที่ดิน 50ตำบลในเมือง อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย ห้ามจำเลยที่ 3เกี่ยวข้องกับที่ดินโฉนดเลขที่ 975 ดังกล่าว คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกและให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 เสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า มูลนิธิเผยแพร่พระพุทธศาสนาได้รับอนุญาตให้ดำเนินการจัดตั้งได้เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2518 ตามใบอนุญาตจัดตั้งเอกสารหมาย จ.4โจทก์ทั้งสองเป็นกรรมการของมูลนิธิดังกล่าว โจทก์ที่ 2มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1 ดำเนินคดีแทน ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 ในวันที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้มูลนิธิเผยแพร่พระพุทธศาสนายังมิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2518 จำเลยที่ 3 ได้ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 975 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทคดีนี้ให้แก่มูลนิธิเผยแพร่พระพุทธศาสนาโดยเสน่หาโดยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดหนองคายตามสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.12 และหนังสือสัญญาให้ที่ดินเอกสารหมาย จ.13 ต่อมาในปี 2532 จำเลยที่ 3 ได้ร้องเรียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดหนองคายเพื่อให้จำเลยที่ 1 เพิกถอนรายการจดทะเบียนในโฉนดที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าการจดทะเบียนให้ที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 3 ผู้ให้กับมูลนิธิเผยแพร่พระพุทธศาสนาผู้รับให้ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากผู้รับให้ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่มีสิทธิรับให้ที่ดินจำเลยที่ 3 จึงขอเรียกที่ดินที่ให้คืนเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดหนองคายทำการสอบสวนแล้ว เห็นว่ามูลนิธิเผยแพร่พระพุทธศาสนามิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลไม่อาจเป็นผู้รับให้ได้ สัญญาให้ที่ดินระหว่างจำเลยที่ 3กับมูลนิธิเผยแพร่พระพุทธศาสนาจึงตกเป็นโมฆะ ต้องเพิกถอนรายการจดทะเบียน จึงได้เสนอความเห็นต่อจำเลยที่ 1 และแจ้งไปยังนายกำพล กลิ่นสุคนธ์ นายมั่น ไกรราช ผู้ลงชื่อเป็นผู้รับให้ในนามมูลนิธิเผยแพร่พระพุทธศาสนาเพื่อทราบถึงการสอบสวนนี้ ซึ่งไม่มีผู้ใดคัดค้านและได้แจ้งให้นายสุนทร ไชยรส ผู้ถือโฉนดฉบับเจ้าของที่ดินของที่ดินพิพาทส่งมอบโฉนดฉบับเจ้าของที่ดินพิพาทดังกล่าวคืนเพื่อเพิกถอนรายการจดทะเบียน แต่นายสุนทรไม่ส่งโฉนดที่ดินฉบับเจ้าของที่ดินให้ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดหนองคายจึงทำความเห็นเสนอต่อจำเลยที่ 1 ให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนและออกใบแทนโฉนดที่ดินฉบับเจ้าของที่ดิน จำเลยที่ 2 ซึ่งรักษาราชการแทนจำเลยที่ 1 อาศัยอำนาจตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2528 ได้มีคำสั่งที่ 1924/2532 ลงวันที่ 20 กันยายน 2532 ให้ออกใบแทนโฉนดที่ดินพิพาทแล้วให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนประเภทให้ในโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวรวมตลอดทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดตามคำสั่งจังหวัดหนองคายเอกสารหมาย ล.14
พิเคราะห์แล้ว เห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ทั้งสองก่อนโจทก์ทั้งสองฎีกาว่า เมื่อมูลนิธิเผยแพร่พระพุทธศาสนาได้รับอนุญาตให้ก่อตั้งขึ้นแล้วคณะกรรมการซึ่งทำหน้าที่ของผู้จัดการมูลนิธิย่อมเป็นผู้รับการให้และยึดถือที่ดินที่รับการให้นั้นได้ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 82 วรรคสามคำสั่งให้ออกใบแทนโฉนดที่ดินและเพิกถอนรายการการจดทะเบียนการให้ตามคำสั่งจังหวัดหนองคายที่ 1924/2532 จึงไม่ชอบเมื่อการให้สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525แล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีอำนาจเพิกถอนการให้ได้เพราะการเพิกถอนการให้จะมีได้ต่อเมื่อเป็นตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531 ถึง มาตรา 535 และเป็นเรื่องที่ต้องฟ้องศาลขอเพิกถอนการให้ จำเลยที่ 1 และที่ 2จะใช้สิทธิเพิกถอนการให้ไม่ได้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 มาเพิกถอนการให้นี้ไม่ได้ เห็นว่า ในสารบัญจดทะเบียนการให้ที่ดินในโฉนดที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.12 ระบุว่าผู้รับโอนคือมูลนิธิเผยแพร่พระพุทธศาสนา ไม่ใช่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นเพียงกรรมการของมูลนิธิ เมื่อขณะรับการให้มูลนิธิดังกล่าวมีฐานะเพียงแต่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้ง ยังมิได้จดทะเบียน จึงถือว่ามูลนิธิดังกล่าวยังไม่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายที่จะรับการให้ได้เพราะนิติบุคคลจะมีขึ้นได้ก็แต่ด้วยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายเมื่อขณะได้รับอนุญาตจัดตั้งมูลนิธิ เมื่อปี 2518 นั้นมูลนิธิดังกล่าวเพียงแต่ยื่นขอจดทะเบียนเท่านั้น แต่นายทะเบียนยังมิได้รับจดทะเบียนและออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนให้แก่มูลนิธิและประกาศการจัดตั้งมูลนิธิดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาเลยเมื่อนายทะเบียนยังมิได้รับจดทะเบียนเช่นนี้แล้ว มูลนิธิดังกล่าวจึงยังไม่เป็นนิติบุคคลเพราะมูลนิธิที่จะเป็นนิติบุคคลได้ต้องเป็นมูลนิธิที่ได้รับจดทะเบียนแล้ว ดังนั้นเมื่อขณะรับการให้มูลนิธิดังกล่าวไม่เป็นนิติบุคคลแล้วกลับอ้างว่ามูลนิธิเป็นนิติบุคคลเช่นนี้ย่อมถือว่าการให้นั้นเป็นโมฆะเพราะเมื่อผู้ให้ระบุว่าขอยกที่ดินพิพาทให้แก่มูลนิธิเผยแพร่พระพุทธศาสนานั้น ย่อมหมายถึงว่ามูลนิธิดังกล่าวเป็นนิติบุคคลแล้วย่อมถือว่าเป็นการให้ที่สำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรมจึงทำให้นิติกรรมการให้เป็นโมฆะ เมื่อเป็นโมฆะแล้วจำเลยที่ 1และที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้ได้รับเรื่องราวตามมาตรา 61แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ย่อมเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมการให้ได้ การเพิกถอนการให้นี้หาจำต้องให้จำเลยที่ 3 ไปฟ้องร้องเพื่อเพิกถอนการให้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการเพิกถอนการให้ก่อนไม่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งมีอำนาจตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินอยู่แล้วย่อมเพิกถอนการให้ได้เลย คำสั่งเพิกถอนการให้ที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงชอบแล้วเมื่อคำสั่งเพิกถอนการให้ชอบแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมออกใบแทนและจดรายการเพิกถอนการให้ไว้ในสารบัญโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.12 ได้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ประการแรกจำเลยที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 มิได้เป็นผู้จัดการมูลนิธิดังกล่าวและมูลนิธิดังกล่าวยังไม่เป็นนิติบุคคลจึงถือว่าโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเพียงกรรมการของมูลนิธิไม่เป็นบุคคลที่จะฟ้องหรือถูกฟ้องได้เห็นว่า สำหรับโจทก์ที่ 1 นั้นฟ้องคดีในฐานที่เป็นกรรมการคนหนึ่งและเป็นผู้รับมอบอำนาจจากกรรมการอื่น อันเป็นสิทธิเฉพาะตัวของโจทก์ที่ 1 เมื่อโจทก์ที่ 1ถึงแก่ความตายจึงไม่อาจให้บุคคลใดเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ได้ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้มีการเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ที่ 1จึงเป็นการมิชอบ ให้จำหน่ายคดีสำหรับโจทก์ที่ 1 เสียจากสารบบความส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 นั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษาให้ยกฟ้องและศาลฎีกาได้วินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ 2แล้วว่าคำสั่งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชอบแล้ว ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ที่ว่า โจทก์ที่ 2 มีอำนาจฟ้องหรือไม่จึงไม่เป็นสาระแก่คดี การจะวินิจฉัยไปอย่างไรก็ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 3 ในปัญหานี้”

Share